banner ad

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

| April 27, 2021

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
ชื่อสามัญ : fall armyworm (FAW)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera frugiperda 

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นศัตรูพืชสำคัญของข้าวโพดพบระบาดในพื้นที่เขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปอเมริกา มีรายงานการระบาดครั้งแรกในภาคกลางและภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นได้แพร่กระจายออกไปและเกิดการระบาดในหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกา
ในทวีปเอเชียมีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในปี 2561 ทำลายข้าวโพด ในพื้นที่รัฐ Chikkaballapur, Karnataka ของประเทศอินเดีย
หนึ่งรอบวงจรชีวิตหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (fall armyworm) ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ทั้งบนใบและใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100-200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วันหนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนโตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4.0 ซม. หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้
ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน
ลักษณะการทำลาย
การทำลายเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโตฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73% ของพื้นที่
การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
1.ไถพรวนและตากดินเพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน
2.คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล 20% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดย
ใส่สารลงไปในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท รีดกระจายสารให้ทั่วถุง จากนั้นเปิดปากถุงใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลงไป ทำถุงพองลม แล้วมัดปากถุงให้แน่นเขย่าเมล็ดพันธุ์คลุกกับสารจนทั่วเปิดปากถุงผึ่งเมล็ดให้แห้งในที่ร่มแล้วจึงนำไปปลูก
ระยะหลังปลูก
3.หมั่นสำรวจแปลงปลูกตั้งแต่เริ่มงอก หากพบกลุ่มไข่และตัวหนอนทำการเก็บทำลาย
4.ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไตรโครแกรมม่า แมลงหางหนีบ เป็นต้น
5.ใช้สารชีวภัณฑ์ พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือเคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน ควรพ่นในตอนเย็น
6.สารเคมี
-สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 5% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ข้าวโพดหวาน ค่า PHI 7 วัน
-สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารเมทอกซีฟิโนไซด์ + สไปนีโทแรม (methoxyfenozide + spinetoram) 30+6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ chlorantraniliprole 62.5% “W/V FS คลุกเมล็ดข้าวโพด 7 มิลลิลิตร ต่อ 1 กิโลกรัม
-สารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WGอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารลูเฟนนูรอน + สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 2%+1% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
การพ่นสาร ควรพ่นสารทุก 7 วัน หรือเว้นระยะห่างตามการระบาดของแมลง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวิต) เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดแมลง

 

ต้นทุนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในเวียตนามต่อเฮกตาร์

1. สารอะบาเม็กติน, สารอะซีเฟต 42 เหรียญ
2. สารบีที 72 เหรียญ
3. สารลูเฟนนูรอน 72 เหรียญ
4. สารคลอเรนทานิลิโพล, สารอีมาเม็กตินเบนโซเอต 48 เหรียญ
5. สารไซเปอร์เมทริน 36 เหรียญ

Category: แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news