สารเมทอกซีฟีโนไซด์
เมทอกซีฟีโนไซด์ (methoxyfenozide)
สารกลุ่มที่ 18 ทำให้ตัวรับฮอร์โมนเอคไดโซนทำงาน สารฆ่าแมลงในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบการเจริญเติบโต สารกลุ่มนี้ได้แก่ สารกลุ่มไดเอซิลไฮดราซีน (diacylhydrazines) ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ของไฮดราซีน (H2N-NH2) สารฆ่าแมลงกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง โดยจะไปเหนี่ยวนำให้แมลงเกิดการลอกคราบก่อนเวลาที่สมควร กลไกการออกฤทธิ์ของสารฆ่าแมลงกลุ่มนี้คือการเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมนเอ็คไดโซน (ecdysone) ที่ทำหน้าที่ในการลอกคราบ โดยโมเลกุลของสารฆ่าแมลงจะไปจับกับตัวรับฮอร์โมนเอ็คไดโซน (ecdysone receptors) ทำให้ตัวรับฮอร์โมนเอ็คไดโซนเกิดการกระตุ้นและทำงานโดยส่งสัญญาณให้ยีนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลอกคราบทำงาน (geneexpression) ในช่วงจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม ผลที่ได้คือแมลงมีการสร้างผนังลำตัวใหม่ที่ผิดปกติ ไม่สมบูรณ์แมลงไม่สามารถลอกคราบเก่าออกจากลำตัวได้ ทำให้การลอกคราบผิดปกติและแมลงจะตายในที่สุด สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กับหนอนผีเสื้อและหนอนด้วง
สูตร 24% SC
- หนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร ในกล้วยไม้ หน่อไม้ฝรั่ง
- หนอนเจาะสมอฝ้าย (Heliocoverpa armigera) อัตรา 15 มล./น้ำ 20 ลิตร ในกระเจี๊ยบเขียว เริ่มพ่นเมื่อพบการระบาดมากกว่า 0.5 ตัว/ต้น อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร ในกะเพรา (Holy basil) โหระพา (Sweet basil) ทานตะวัน
- หนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ในพริก
- หนอนเจาะผลมะเขือเปราะ (Leucinodes orbonalis) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร ในมะเขือ (Brinjal) มะเขือเปราะ (Aubergine) มะเขือยาว (Eggplant)
- หนอนม้วนใบ(Archips micaceana) หนอนม้วนใบถั่ว (Hedylepta indicata, Lamprosema diemenalis) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร ในถั่วเขียว พ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30% ก่อนออกดอกจนถึงระยะฝักยังเขียวอยู่ หรือใบถูกทำลาย 60% หลังดอกบาน 4 สัปดาห์
- ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (Hieroglyphus spp.) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร ในอ้อย
Category: สารป้องกันกำจัดแมลง, สารเคมี