สูตรสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สูตรสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สูตรสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามการจัดแบ่งขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ดังนี้
1 กลุ่มสารผสมรูปแบบของของเหลว สารเคมีกลุ่มนี้ผสมอยู่ในรูปแบบของของเหลวจำเป็นต้องผสมน้ำก่อนนำไปใช้ ประกอบด้วย
1.1 สารผสมน้ำมันข้น (emulsifiable concentrate: EC) คือสูตรผสมที่นิยมใช้มากที่สุด สารผสมเป็นสภาพของเหลวเนื้อเดียว ได้จากการละลายสารสำคัญในตัวทำละลาย และผสมสาร emulsifier เพื่อให้สารออกฤทธิ์สามารถรวมกับน้ำได้ สารนี้เมื่อผสมรวมกับน้ำจะได้สารละลายมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำนม เช่น อิมิดาโคลพริด 050 อีซี หรือ คาร์โบซัลแฟน 20 เปอร์เซ็นต์ อีซี เป็นต้น
1.2 สารผสมข้นละลายน้ำ (water soluble concentrate: WSC) คือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีสภาพแบบเดียวกับชนิดแรก แต่เนื่องจากสารสำคัญสามารถละลายน้ำได้ จึงไม่ใส่สาร emulsifier ดังนั้น เวลาผสมกับน้ำจะไม่มีสีขาวขุ่น
1.3 สารผสมของเหลวข้น (soluble concentrates: SL) คือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชคล้ายกับ WSC สีใสผสมกับน้ำจะไม่มีสีขาวขุ่น เช่น อิมิดาโคลพริด 100 เอสแอล เป็นต้น
1.4 สารผสมแขวนลอยข้น (suspension concentrates: SC หรือ flowable concentrates: F หรือ FL) คือสูตรสำเร็จแบบใหม่คล้ายคลึงกับ wettable powder ซึ่งอยู่ในรูปของครีมหรือของเหลวเข้มข้น สามารถรวมกับน้ำได้ดีและอนุภาคของสารสามารถแขวนลอยอยู่ได้นานในสารละลาย โดยปกติสารสำคัญไม่ละลายหรือละลายได้น้อยมากในน้ำหรือตัวทำละลาย และตัวสารนั้นถูกบดให้มีขนาดเล็กกว่าขนาดของ wettable จึงทำให้แขวนลอยอยู่ได้นาน เช่น แอสเซ็นต์ 5เปอร์เซ็นต์ เอสซี เป็นต้น
1.5 สารผสมแขวนลอยข้นสำหรับคลุกเมล็ด (flowable concentrate for seed treatment: FS) คือของเหลวในรูปของสารแขวนลอย ใช้คลุกเมล็ดหรือผสมน้ำพ่น
1.6 สารผสมแคปซูลแขวนลอย (capsule suspensions: CS) คือสารผสมเหลวที่ได้จากกระจายแขวนลอยของสารสำคัญ ในรูปแคปซูลขนาดเล็ก ต้องผสมน้ำก่อนใช้
1.7 สารผสมน้ำมันแขวนลอยในน้ำ (aqueous suspo-emulsion: SE) คือสารผสมเหลว ที่ได้จากการกระจายแขวนลอยของอนุภาคของสารสำคัญในน้ำ
1.8 สารเข้มข้นผสม organic solvent (OD Oil-based suspension concentrates: OD) เช่น โมเวนโตโอดี
1.9 สารผสมแขวนลอยข้นผสมสารผสมแคปซูลแขวนลอย (microcapsule / suspension combinations:ZC) เช่น เอฟโฟเรีย 247 แซดซี
2. กลุ่มสารผสมรูปแบบของผงหรือฝุ่น สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มนี้ผลิตออกมาจำหน่ายในลักษณะต่าง ๆกันคือ
2.1 สารผสมชนิดผงละลายน้ำ (wettable powder: WP) ประกอบด้วยสารสำคัญและสารที่ทำให้เจือจางซึ่งเป็นสารผสมอื่น โดยปกติจะเป็นดินหรือ synthetic silica (hydrate silicon dioxide) และนิยมผสมสารทำให้เปียก(wetting agent) และตัวกระจาย (dispersing agent) สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้อยู่ในรูปผง การบรรจุควรมิดชิดไม่ให้ถูกความชื้นจะทำให้สารผสมรวมตัวกันเป็นก้อน สารออกฤทธิ์อาจเสื่อมได้ เช่น คาร์บาริล 85 ดับบลิวพี เป็นต้น
2.2 สารผสมชนิดผง (dust: D หรือ dustable power: DP) เป็นผงแห้ง ประกอบด้วยสารสำคัญและสารผสมอื่น ซึ่งอาจเป็นผงของหินบางชนิด เช่น talc และ bentonite สารชนิดนี้มีความเข้มข้นต่ำ สามารถใช้ได้ทันทีโดยเครื่องพ่นผง ไม่ต้องผสมน้ำ
2.3 สารผสมชนิดเม็ด (granules: G หรือ GR) คล้ายๆ ชนิดผง แต่มีขนาดของผงหรือเม็ดใหญ่กว่า เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีสารสำคัญเคลือบอยู่ด้านนอก สารผสมอื่นที่นิยมใช้คือ ดิน และทราย เป็นต้น การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกระทำได้โดยการหว่านบนดินหรือในน้ำคล้ายกับใส่ปุ๋ย เช่น ฟูราดาน 3 เปอร์เซ็นต์ จี หรือ คูราแทร์ 3 จี เป็นต้น
2.4 สารผสมแคปซูลขนาดเล็ก (microcapsule) เป็นสูตรสำเร็จใหม่ โดยการใช้สารที่ไม่ระเหย เช่น สารผสมของ gelatin เคลือบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทำให้ตัวสารสำคัญไม่ซึมผ่านออกมาจึงไม่มีพิษในทางสัมผัส แต่จะมีพิษเมื่อกินเข้าไป ในกรณีที่ต้องการให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้นมีฤทธิ์ทางสัมผัสด้วยจะเคลือบด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งเช่น ในรูปของ juvenile hormone mimic “Altosid” สามารถออกฤทธิ์ได้นานเพียง 1-2 วัน แต่ถ้าเคลือบด้วยสารpolyurethane จะสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 53 วัน เป็นต้น
2.5 สารผสมเหยื่อพิษ (bait: B) หมายถึง เหยื่อพิษ โดยการผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกับอาหารหรือสารดึงดูดแมลง ทำให้แมลงเข้าหาเหยื่อพิษในปริมาณมาก เช่น สะตอม 0.005 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
3. กลุ่มสารผสมรูปแบบของสารรม สารเคมีในกลุ่มนี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิต่ำหรืออุณหภูมิห้องได้ดีมีความเข้มข้นสูงพอที่จะกำจัดศัตรูพืช อัตราการใช้จะกำหนดเป็นน้ำหนักของสารต่อปริมาตรที่จะทำการรมสาร เช่น สารเมทิลโบร์ไมด์ จะกำหนดอัตราการใช้เป็น 24 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นต้น สารรมที่ดีต้องสามารถแทรกกระจายตัวได้ดี กลุ่มสารรมนี้ประกอบด้วย
3.1 สารรมชนิดพ่นฝอย (aerosol) สารควบคุมแมลงในรูปแบบนี้จะมีขนาดของละอองเล็กมาก สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน ตัวสารจะอยู่ในสภาพที่รวมตัวกับก๊าซเหลวในกระป๋องที่ปิดสนิท หรือให้ตัวสารโดนความร้อนจะเปลี่ยนเป็นควัน โดยใช้เครื่องพ่นเฉพาะเรียกว่าเครื่องพ่นหมอก ขนาดของละอองจะอยู่ระหว่าง 0.1-50 ไมโครเมตร (ไมครอน)
3.2 สารรม (fumigant) สารรมควันที่ออกฤทธิ์ในรูปของก๊าซพิษต้องใช้ในสถานที่ปิดสนิท จะใช้ฆ่าศัตรูพืชในโรงเก็บหรือเป็นสารรมฆ่าเชื้อในดิน สารนี้จะอยู่ในรูปของเหลวหรือของแข็งก็ได้ แต่มีคุณสมบัติระเหยตัวได้ดีที่อุณหภูมิห้อง พิษจะเข้าทำลายทางระบบหายใจ เช่น สารเมทิลโบรไมด์ หรือสารฟอสฟีน สารคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
สูตรผสมของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
CS | capsule suspension | สารแขวนลอยแคปซูลในของเหลว ต้องผสมน้ำก่อนพ่น |
EC | emulsifiable concentrate | สารผสมเข้มข้น สารออกฤทธิ์ (active ingredient) ละลายอยู่ในตัวทำละลาย (solvents) ผสมเป็นเนื้อ เดียวกัน(homogeneous formulation) ต้องผสมน้ำก่อนพ่น เมื่อผสมน้ำมีลักษณะสีขาวขุ่น |
F | flowable concentrates | สารผสมแขวนลอยข้นอยู่ในรูปของครีมหรือของเหลวเข้มข้นสามารถรวมกับน้ำได้ดี |
FS | flowable concentrate for seedtreatment | สารผสมแขวนลอยที่มีสภาพคงที่ พร้อมใช้กับเมล็ดได้ทันที หรือหลังจากผสมน้ำ |
G,GR | granular | สารผสมชนิดเม็ด ประกอบด้วยขนาดต่าง ๆ ได้แก่ 100-600 300-2,500 และ 2,000-6,000 ไมโครเมตร |
GB | granular bait | เหยื่อพิษชนิดเม็ด |
OD | oil-based suspension concentrates | สารเข้มข้นผสม organic solvent |
SC | suspension concentrate(= flowable concentrate) | สารผสมแขวนลอยในสภาพคงที่ สารออกฤทธิ์อาจไม่ละลายในน้ำมันหรือในน้ำ เมื่อผสมน้ำได้สารละลายสีขาวขุ่น |
SG | water soluble granule | สารผสมเหลว เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายของสารออกฤทธิ์ในน้ำ |
SL | soluble concentrate | สารผสมเหลว มีสีใสหรือขาวขุ่น ต้องผสมน้ำก่อนพ่น |
SP | water soluble power | สารผสมชนิดผง ต้องผสมน้ำก่อนพ่น |
WDG,WG | water dispersible granule | สารผสมชนิดเม็ด ต้องผสมน้ำก่อนพ่น |
WP | wettable powder | สารผสมชนิดผง ต้องผสมน้ำก่อนพ่น |
WS | water dispersible power for slurry seed treatment | สารผสมชนิดผง ต้องผสมน้ำในอัตราความเข้มข้นสูงก่อนใช้กับเมล็ด |
ZC | microcapsule / suspensioncombinations | สารผสมแขวนลอยข้นผสมสารผสมแคปซูลแขวนลอย |
Category: สารเคมี