banner ad

หอมหัวใหญ่

| December 14, 2016
หอมหัวใหญ่ (Onion)
ชื่อสามัญ Onion
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa Linn.

สถานการณ์การผลิตและการตลาดโลก :

ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าหอมหัวใหญ่สด ปริมาณ 39,814 ตัน มูลค่า 509.38ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 31,119 ตัน มูลค่า 433.48 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 27.9 และ17.5 ตามลำดับ สำหรับการส่งออก ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีการส่งออกหอมหัวใหญ่สด ปริมาณ 5,379 ตัน มูลค่า91.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,499 ตัน มูลค่า 38.93 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 115.2และ 134.3 ตามลำดับ

ผลผลิตหอมหัวใหญ่ของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2556) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.14 โดยในปี 2556 มีผลผลิต 84.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มีผลผลิต 73.77 ล้านตัน

- การส่งออกหอมหัวใหญ่ของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2556) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.20 โดยในปี 2556 มีการส่งออก 7.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มีการส่งออก 6.33 ล้านตัน

- การนำเข้าหอมหัวใหญ่ของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.20 โดยในปี 2556 มีการนำเข้า 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มีการนำเข้า 6.23 ล้านบาท

สถานการการผลิตและการตลาดของไทย

ปี 2566 มีเนื้อที่ปลูก 8,047 ไร่ ผลผลิต 28,682 ตัน ลดลงจากจากปี 2565 จากเนื้อที่9,118 ไร่ ผลผลิต 33,507 ตัน หรือลดลงร้อยละ 11.75 และ 8.87  ราคาหอมหัวใหญ่เบอร์ 0 และ 1 ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเดือนมกราคม – มีนาคม 2565กิโลกรัมละ 12.53 และ 12.31 บาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ขายได้กิโลกรัมละ9.45 และ 8.66 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.55 และ 42.02 ตามลำดับ

ปี 2559 เนื้อที่ให้ผลผลิต 9,610 ไร่ ผลผลิต 43,378 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 4,202 กิโลกรัม คาดว่า ปี 2560 ผลผลิตเพิ่ม 43,000 ตัน แหล่งปลูก

ปี 2558 มีเนื้อที่เพาะปลูก 8,847 ไร่ และผลผลิต 35,466 ตัน มีแนวโน้มลดลงจากปี 2554 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 12,602ไร่ และผลผลิต 50,104 ตัน ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10.33 และ 10.01 ต่อปี ตามลำดับ โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่จำนวน 4,110 ครัวเรือน อำเภอสันป่าตอง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
ต้นทุนการผลิตหอมหัวใหญ่ ปี 2558 มีต้นทุนไร่ละ 27,789.30 บาท และกิโลกรัมละ 6.93 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีต้นทุนไร่ละ 24,539.30 บาท และกิโลกรัมละ 6.17 บาท ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.19 และร้อยละ 2.43 ต่อปี ตามลำดับ

นโยบายตามข้อตกลง WTO หอมหัวใหญ่เปิดตลาดในโควตาปี 2557 ปริมาณ 365 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 142 ให้ชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้บริหารการนำเข้า เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่เปิดตลาดตามข้อผูกพัน WTO ในโควตาปี 2557 ปริมาณในโควตาร้อยละ 0 อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 218 ให้ชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้นำเข้า

หอมหัวใหญ่เป็นพืชล้มลุกมีความสูงประมาณ 30-40 เชนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมป้อม มีเปลือกนอกบางๆ สีม่วงแดงหุ้มอยู่ แต่แห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกหัวนั้น ภายในจะมีกลีบสีขาวอวบหุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดินที่มีความกรดเบสในช่วง 6.0-6.8 มีความเค็มของดินปานกลาง และในอุณหภูมิที่เหมาะสม 15-24 องศาเซลเซียส

พันธุ์หอมหัวใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

(1) พันธุ์กลางวันยาว จะลงหัวเมื่อได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์วันหนึ่งๆ ประมาณ 12-16 ชั่วโมง เป็นพันธุ์เบาอายุสั้น คือตั้งแต่เพาะเมล็ดถึงเก็บหัวมีอายุ 85-125 วัน และจะเก็บหัวได้ในช่วงฤดูแล้ง หัวหอมที่ใกล้แก่เต็มที่เมื่อถูกฝนมักจะเน่า อายุเก็บรักษาได้ไม่นาน การเพาะปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูหนาวคือ พฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี เพราะว่ายังมีน้ำใช้ในการเพาะปลูก

(2) พันธุ์กลางวันสั้น เหมาะสำหรับการปลูกในประเทศไทยต้องการแสงสว่างเพียงวันละ 9-10 ชั่วโมง ก็ลงหัวได้เป็นพันธุ์หนักมีอายุ 165-180 วัน นิยมปลูกในบ้านเรา ซึ่งมีพันธุ์กราเน็กซ์ มีทั้งพันธุ์เยลโลกราเน็กซ์ มีทั้งหัวกลมและหัวแบนเป็นหัวเร็วและแก่สม่ำเสมอกันหัวใหญ่แต่คอเล็กสามารถเก็บไว้ได้นาน

ประเทศไทยมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาปลูกเป็นลักษณะพันธุ์ลูกผสมได้แก่ Super Rex แอสโกร 33 ที่นิยมนำมาปลูกในประเทศไทย

หอมหัวใหญ่ที่มีคุณสมบัติที่ดีต้องมีคุณภาพขั้นต่ำดังต่อไปนี้

(1) เป็นหอมหัวใหญ่ทั้งหัว

(2) ขั้ว หรือโคนใบ หรือคอ (neck) แห้งเพียงพอตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ประโยชน์

(3) ไม่แตกยอด และ/หรือไม่แตกรากใหม่

(4) สะอาด และปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้

(5) ไม่มีความเสียหายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิสูง อุณหภูมิต่ำ และ/หรือน้ำค้างแข็ง

(6) ไม่มีหัวแฝด และ/หรือลักษณะผิดปกติที่ชัดเจน

(7) ไม่นิ่ม ไม่เน่าเสีย หรือมีรอยช้ำที่จะทำให้ไม่เหมาะสมต่อการบริโภค

(8) ไม่มีศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อลักษณะทั่วไปของผลิตผล

(9) ไม่มีความเสียหายของผลิตผลเนื่องจากศัตรูพืช

(10) ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม และ/หรือรสชาติที่ผิดปกติ

(11) ใบจะต้องถูกตัดออกให้มีความยาวไม่เกิน 6 cm และตัดแต่งราก

โรคและศัตรูหอมหัวใหญ่ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย หนอนกระทู้หอม หนอนชอนใบ

1. โรคใบไหม้ (เชื้อรา Stemphylium vesicarium) อาการเริ่มแรก พบจุดสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อนบนใบ มีลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดเล็กจะขยายเป็นแผลรูปยาวรี หัวท้ายแหลมสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลอมม่วง เมื่อสภาพแวดล้อมมีความชื้นสูง แผลจะขยายลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดอาการไหม้ตั้งแต่ปลายใบลงมายังรอยแผล หรือไหม้ทั่วทั้งใบ โดยแผลไหม้ในระยะแรกมีสีน้ำตาลอ่อน แล้วเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง จนเป็นสีดำในที่สุด บางครั้งพบสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค มีลักษณะเป็นผงสีดำบนแผล ซึ่งโรคนี้มักพบเกิดร่วมกับโรคใบจุดสีม่วง

การป้องกันกำจัด

1. ก่อนปลูกควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกหอมและกระเทียม โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์
2. ใช้หัวพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยแช่หัวพันธุ์ หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15-20 นาที
3. ตรวจแปลงสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50 % WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโพรคลอราซ 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ชนิดใดชนิดหนึ่ง สลับกับ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุ โดยพ่นทุก 5-7 วัน
4. เก็บซากพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
5. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมกระเทียมสลับ

———————————

2.โรคใบจุดสีม่วง (เชื้อรา Alternaria porri) พบจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็กรูปร่างกลมหรือรี ซึ่งเมื่อแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นจุดแผลสีขาว ต่อมาแผลขยายออกตามความยาวของใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ เนื้อเยื่อยุบตัว แผลสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลอมม่วง ตรงกลางซีดจางกว่าเล็กน้อย มีแถบสีขาว หรือสีเหลืองส้มล้อมรอบ ถ้าอากาศชื้นจะพบผงสปอร์สีดำของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล หากระบาดรุนแรงใบจะแห้งตายหมด ผลผลิตลดลง การป้องกันกำจัดเหมือนโรคใบไหม้ พ่นสารฟูลโอไพแรน+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25%+25% อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นสาร penthiopyrad20% SCอัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

——————————–

การแปรรูป มีการนำหอมหัวใหญ่มาแปรรูปในอุตสาหกรรม ประมาณ 1.5 % เช่น ซอสหอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ชนิดผง เป็นต้น

การตลาด การนำเข้าหอมหัวใหญ่และผลิตภัณฑ์ ปี 2558 มีปริมาณ 53,982 ตัน มูลค่า 532.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีการนำเข้าปริมาณ 38,249 ตัน มูลค่า 246.87 ล้านบาท ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 18.80 และร้อยละ 27.40 ต่อปี ตามลำดับ การส่งออกหอมหัวใหญ่และผลิตภัณฑ์ ปี 2558 มีปริมาณ 10,563 ตัน มูลค่า 127.86 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่มีการส่งออกปริมาณ 16,376 ตัน มูลค่า 289.04 ล้านบาท ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.70 และร้อยละ 13.61 ต่อปี ตามลำดับ

ราคาหอมหัวใหญ่เบอร์ 1 ที่เกษตรกรขายได้ ปี 2558 ราคากิโลกรัมละ 8.72 บาท มีแนวโน้มลดลงจากปี 2554 ที่ราคากิโลกรัมละ 13.80 บาท ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.14 ต่อปี

ปัญหาของหอมหัวใหญ่

1. ผลผลิตกระจุกตัวออกสู่ตลาดพร้อมกันช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มีปัญหาราคาตกต่ำ รัฐเคยใช้เงินแทรกแซงตลาด

2. อายุการเก็บรักษาได้ไม่ยาวนานเหมือนหอมต่างประเทศ

3. ต้นทุนการผลิตและผลผลิตต่อไร่ต่ำ สู้หอมหัวใหญ่ต่างประเทศไม่ได้

4. มีหอมหัวใหญ่จากต่างประเทศขายแข่งขันในประเทศทำให้บางปีระบายผลผลิตออกสู่ตลาดได้ไม่ทันราคาตกต่ำ

5. มีเมล็ดพันธุ์นอกระบบมาให้เกษตรกรเพาะปลูก

6. โรคหอมหัวใหญ่และแมลง แอนแทรคโนส โรคใบจุดสีม่วง หนอนกระทู้หอม

7. ผลิตภัณฑ์หอมหัวใหญ่ออกสู่ตลาดมีน้อย

8. การส่งเสริมเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้ายังไม่มีความหลากหลาย

9. นโยบายจำกัดเมล็ดพันธุ์ผลิตหอมหัวใหญ่เพื่อการบริโภค ไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้มาก

10. มีการลักลอบหอมหัวใหญ่และหอมแขกมาขายในประเทศ ทำให้แย่งส่วนแบ่งการตลาดภายใน

11. การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนยังมีน้อย

Category: พืชผัก, พืชผัก ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news