banner ad

กล้วยไม้

| June 13, 2017

กล้วยไม้ Orchid

สถานการณ์การผลิต ปี 2554 – 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยไม้อยู่ระหว่าง 17,906 – 22,285 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 37,542 – 50,267 ตัน ในปี 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 20,703 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 46,375 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2558 พื้นที่ให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 7.10 และผลผลิตลดลงร้อยละ 7.30

การส่งออก

ดอกกล้วยไม้ ปี 2554 – 2559 ปริมาณการส่งออกอยู่ระหว่าง 20,944 – 25,884 ตัน มูลค่าอยู่ระหว่าง 1,954 – 2,312 ล้านบาท ในปี 2559 ปริมาณการส่งออก 25,884 ตัน มูลค่าการส่งออก 2,312 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.01 และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10

ต้นกล้วยไม้ ปี 2554 – 2559 ปริมาณการส่งออกอยู่ระหว่าง 14,813 – 38,560 ตัน มูลค่าอยู่ระหว่าง 270 – 8856 ล้านบาท ในปี 2559 ปริมาณการส่งออก 14,813 ตัน มูลค่าการส่งออก 270 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 56.08 และมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 57.41

การค้ากับประเทศอาเซียน มีการนำเข้าดอกกล้วยไม้ และต้นกล้วยไม้จากเวียดนาม ปริมาณ 269 และ 656.69 กิโลกรัม มูลค่า 269,820.75 และ 373,527.79 บาท ตามลำดับ

กล้วยไม้ทั่วไปออกไปได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ

A.ประเภทซิมโพเดี้ยล (Sympodial)

1. สกุลแพฟิโอดิลั่ม (Paphipedilum) เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กล้วยไม้สกุลเดียวในอนุวงศ์ไดแอนดรีที่มีบทความสำคัญในวงการพืชกรรม เนื่องจากมีดอกสวยงามและมีคุณลักษณะหลายอย่างที่ดีเด่น เช่น เลี้ยงง่าย บานทน และสามารถเจริญงอกงามได้ในสภาพแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนต่างๆ กันกว้างขวางพอสมควร ประเทศไทยก็นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยไม้กว่า 10 ชนิด ในสกุลนี้ ในวงการกล้วยไม้ได้มีการผสมพันธุ์และนิยมปลูกเลี้ยงกันมาช้านานพอสมควรในยุโรป สหรัฐอเมริกา และฮาวายอี้แต่ในประเทศไทยยังมิได้มีการนิยมกันเท่าใดนัก เรามักเรียกกัน ในภาษาไทยว่า รองเท้านารี  ซึ่งคำสามัญภาษาอังกฤษเรียกว่า lady slipper ส่วนภาษาพฤกษศาสตร์นั้นแต่ก่อนเคยเรียกกันว่า สกุลไซพรีพีเดี้ยม (Cypripedium)

2. สกุลหวายหรือเด็นโดรเบี้ยม (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตร้อน และกึ่งร้อนของเอเชีย กล้วยไม้สกุลนี้เป็นสกุลใหญ่มีกว่า 1,000 ชนิดตามธรรมชาติลักษณะในรายละเอียดแตกต่างกันกว้างขวางพอสมควร มีทั้งประเภทที่มีความสำคัญทางพืชกรรมและทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้หลายชนิดมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย และมีหลายชนิดซึ่งได้มีการนำมาทำลูกผสมเกิดประโยชน์ในทางการค้าอย่างกว้างขวาง ดอกกล้วยไม้ที่ส่งจากประเทศไปจำหน่ายยังต่างประเทศอย่างกว้างขวางนั้น ส่วนใหญ่เป็นดอกกล้วยไม้หวายลูกผสม  มีบางชนิดซึ่งมีความเหมาะสมแก่การปลูกเลี้ยงทั่วๆไปในบรรยากาศของประเทศไทย นับว่าเป็นสกุลที่ได้รับความนิยมปลูกกันแพร่หลายในประเทศไทยมาช้านานแล้ว

3. สกุลซิมบิเดี้ยม (Cymbidium)  พันธุ์ป่าของกล้วยไม้สกุลนี้แม้ว่าจะมีปหล่งกำเนิดอยู่ในเขตร้อนและกึ่งร้อนก็ตาม แต่อาจแบ่งได้เป็นพวกๆคือ พวกอากาศร้อน เป็นพวกที่พบในที่ราบเขตร้อน ช่อดอกห้อยดอกไม่สู้สวยงามนัก อีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่มีแหล่งกำเนิดอยู่บนภูเขาสูงหลายพันฟุต เช่น บนเทือกเขาหิมาลัย สำหรับประเทศไทยพบบนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ภูกระดึงและภูหลวง จังหวัดเลย เป็นต้น พวกหลังนี้ดอกค่อนข้างใหญ่ สีสวยงามและบานทน ได้มีการนำไปปลูกและผสมพันธุ์ทำการค้าต้นและดอกกันอย่างแพร่หลายในเขตหนาวเช่นยุโรปออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาตอนกลางและตอนเหนือและถือว่าเป็นพันธุ์ไม้อากาศเย็น การทดลองปลูกที่ดอยบวกห้าและดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 4,500 ฟุต ปรากฏว่าเจริญงอกงามและให้ดอกได้ดี

4. สกุลแปโธกล๊อตทิส (Spathoglottis) เป็นกล้วยไม้ดินที่มีดอกสวยงาม มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มาเลเซียและประเทศใกล้เคียง ได้เคยมีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ในสกุลนี้มาบ้างในสมัยก่อนๆ และปัจจุบันนี้ก็มีลูกผสมสีม่วง สีขาว  สีเหลือง ซึ่งเป็นผลการผสมเหลืออยู่บ้าง เจริญงอกงามออกดอกได้ดีทั่วๆไปในประเทศไทย จัดว่าเป็นสกุลกล้วยไม้ที่เหมาะกับสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ในเขตร้อนและมีฝนตกชุกด้วย บางชนิดก็เป็นกล้วยไม้ประเภทผลัดใบตามฤดูกาล

5. สกุลเฟจัส (Phaius) โดยทั่วๆไปเป็นกล้วยไม้ดิน มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดที่จัดได้ว่าสวยงาม ได้ว่า เฟจัส แกรนดิฟลอร่า (Phaius grandiflora) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า เอื้องพร้าว มีอยู่ทั่วๆไปในป่าประเทศไทย

6. สกุลออนซิเดี้ยม (Oncidium) เป็นกล้วยไม้กึ่งร้อนกึ่งเย็น มีแหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกาตอนกลางและใต้ ภายในสกุลนี้มีหลายชนิด บางชนิดสามารถเจริญงอกงามและออกดอกได้ดีในประเทศไทย เช่น ออนซิเดี้ยม แลนซิเอนั่ม (Oncidium lanceanum) ซึ่งผู้เลี้ยงกล้วยไม้ในสมัยก่อนๆได้สั่งเข้ามายังประเทศไทยและตกทอดมาถึง รุ่นหลังๆทุกวันนี้ นอกจากนั้นฮาวายอี้ก็ได้ผสมทำลูกผสมส่งมาจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นต้น

7. สกุลออดอนโตกล๊อสซั่ม (Odontoglossum) เป็นกล้วยไม้อากาศเย็นอีกสกุลหนึ่งที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในประเทศที่อยู่ในเขตหนาว เนื่องจากช่อดอกยาว ดอกดก สีสันแปลก และมีรายละเอียดของสีแบบต่างๆ แต่ไม่อาจเจริญงอกงามในเขตร้อน เช่น ประเทศไทยได้ดี

8. สกุลมิลโทเนีย (Miltonia) เป็นกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดี้ยลอีกสกุลหนึ่งนิยมเลี้ยงกันมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตหนาว เนื่องจากมีสีสดสวยสะดุดนัยน์ตาและมีลวดลายพิสดารน่าสนใจ แต่ประเทศไทยไม่อาจเลี้ยงได้เพราะกล้วยไม้สกุลนี้เหมาะสมกับอากาศเย็น มีบางชนิดซึ่งถือว่าสามารถเจริญงอกงามได้ในบรรยากาศอบอุ่น แต่เข้าใจว่าน่าจะเจริญงอกงามและออกดอกให้ได้ในบรรยากาศทางภาคเหนือของประเทศไทย  จึงได้นำมาทดลองปลูกในเขตอากาศเย็นของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕

9. สกุลคัทลียา (Cattleya)  จากวงการกล้วยไม้ทั่วๆไปในโลก ปรากฏว่าคัทลียาเป็นกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดี้ยล สกุลที่นับว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามที่มีการเลี้ยงกล้วยไม้  อีกดอกก็มีราคาดีกว่ากล้วยไม้สกุลอื่นๆด้วย กล้วยไม้สกุลนี้และสกุลใกล้เคียงมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างกว้างขวาง เมื่อได้กล่าวถึงกล้วยไม้สกุลคัทลียาแล้วก็ใคร่จะถือโอกาสแนะนำให้ได้รู้จักกับกล้วยไม้สกุลใกล้เคียงกับคัทลียาอีกสกุล ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีความสำคัญทางการค้าโดยตรงอย่างคัทลียาก็ตาม แต่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในด้านการผสมพันธุ์เกี่ยวข้องกับคัทลียา และลูกผสมคัทลียาที่ได้ปรับปรุงลักษณะสวยงามดีเด่นและแปลกๆอยู่ในปัจจุบันนี้  ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลเหล่านี้ทำให้เกิดลูกผสมที่มีคุณลักษณะแปลกๆและดีเด่นยิ่งขึ้นไปกล้วยไม้สกุลเหล่านี้ได้แก่ เลเลีย (Laelia) บราสซาโวล่า (Brassavola) โซโฟรไนทิส (Sophronitis) ชอมเบอเคีย (Schomburgkia) เอพิ เด็นดรั้ม (Epidendrum) และไดอาครีอั่ม (Diacrium) เป็นต้น

10. สกุลเลเลีย (Laelia) กล้วยไม้สกุลนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสกุลคัทลียามากพอสมควร นับตั้งแต่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในถิ่นใกล้เคียงกันและยังมีบทบาทในการผสมพันธุ์ข้ามสกุลกับสกุลคัทลียามาช้านานและกว้างขวาง พบอยู่ตามธรรมชาติประมาณ ๗๕ ชนิด แหล่งกำเนิดตั้งแต่เม็กซิโกลงไปถึงประเทศอาเย็นตินาในอเมริกาใต้

11. สกุลบรัสซาโวล่า (Brassavola)เป็นกล้วยไม้ที่มีความสำพันธุ์กับสกุลคัทลียาอีกสกุลหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากลูกผสมข้ามสกุลที่ปรากฏอยู่ทั่วๆไปในวงการกล้วยไม้คัทลียา มีอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 15 ชนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการผสมกับคัทลียาได้อย่างกว้างขวางได้แก่บรัสซาโวล่า ดิกบียาน่า(Brassavola digbyana) ซึ่งรอบๆแผ่นปากมีลักษณะเป็นชายครุย และเป็นชนิดหนึ่งซึ่งเลี้ยงง่าย มีผู้นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยในอดีต

12. สกุลโซโฟรไนทิส (Sophronitis) เป็นสกุลที่ไม่ใหญ่นัก มีอยู่ประมาณ 6 ชนิด  ในธรรมชาติ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในระดับที่สูงในประเทศบราซิล อเมริกาใต้ ทรงต้นมีขนาดเล็ก ดอกมีสีแดงหรือสีแสดสดใสมาก มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสกุลคัทลียามาก และในวงการคัทลียาระยะหลังๆ นี้ได้มีลูกผสมข้ามสกุลระหว่างคัทลียาเลเลีย และโซโฟรไนทิส ซึ่งมักจะมุ่งหมายให้ดอกมีสีในทางสีแดงสด

13. สกุลชอมเบอเคีย (Schombur gkia) เป็นสกุลกล้วยไม้ที่มีความสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับสกุลเลเลีย และคัทลียา ดังจะเห็นได้จากลูกผสมข้ามสกุลที่ผลิตออกมาแล้ว และมีแหล่งกำเนิดแผ่กระจายจากเม็กซิโก และหมู่เกาะอินเดียตะวันตกลงไปทางอเมริกาใต้ เป็นพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่ายและแข็งแรง ในสกุลนี้มีอยู่สองพวก พวกหนึ่งมี 2 ใบบนลำลูกกล้วยและลำลูกกล้วยบิอด ส่วนอีกพวกหนึ่งลำลูกกล้วยมีใบมากกว่า ๒ ใบ ภายในลำเป็นโพรงกลวงได้มีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ตั้งแต่ในสมัยต้นๆของการเลี้ยงกล้วยไม้ปรากฎว่าเจริญงอกงามและออกดอกได้ดี

14. สกุลไดอาคิอั้ม (Diacrium) เป็นกล้วยไม้สกุลที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในอเมริกากลางและตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ลำลูกกล้วยมีส่วนคล้ายคลึงกันกับกล้วยไม้สกุลชอมเบอเคีย (Schomburgkia) บางชนิด ในสกุลนี้ เท่าที่ทราบปรากฏว่ามีการจำแนกไว้เพียงชนิดเดียว คือ ไดอาคริอั้ม ไบคอนูตั้ม (Diacrium bicornutum) ดอกสีขาว มีผู้นำไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้บางชนิดในสกุลคัทลียาเป็นผลสำเร็จ กล้วยไม้ชนิดนี้ได้เคยมีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ปรากฏว่าปลูกง่าย และให้ดอกได้เสมอทุกปี

B. ประเภทโมโนโพเดี้ยล (Monopodial)

โดยทั่วๆไปกล้วยไม้ประเภทนี้ จัดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในเขตร้อนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นในเขตร้อนของโลกนับว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกล้วยไม้ประเภทนี้ ดังนั้น ในระยะที่วงการกล้วยไม้ทั่วๆไปในส่วนต่างๆของโลกเจริญก้าวหน้า กล้วยไม้ประเภทนี้จึงได้รับความสนใจและมีการปลูกเลี้ยงตลอดจนมีการคัดพันธุ์ผสมพันธุ์เกิดลูกผสมใหม่ๆ แปลกๆ จากภาคพื้นที่เป็นเขตร้อนของโลก ออกไปสู่ภาคอื่นๆ ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกัน หรือมีอุปกรณ์สะดวกพอจะปลูกกล้วยไม้ประเภทนี้ได้ กล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยลที่มีความสวยงามและมีบทบาทสำคัญในวงการพืชกรรมและวงการผสมพันธุ์ตลอดจนการค้ามาแล้ว มีอยู่หลายสกุล

1. สกุลแวนด้า (Vanda) จัดว่าเป็นหลักสำคัญของประเภทโมโนโพเดี้ยล และเป็นสกุลที่วงการกล้วยไม้รู้จักคุ้นเคยกันมานาน ดังจะเห็นได้ว่า เรามักจะเรียกชื่อกล้วยไม้ในประเภทโมโนโพเดี้ยลสกุลอื่นๆ เป็นการรวมๆว่า แวนเดเชียล (vandaceous) หรือใช้คำภาษาไทยว่า ประเภทแวนด้า แม้ว่าจะมิใช่กล้วยไม้สกุลแวนด้าโดยตรงก็ตาม การที่เอาชื่อสกุลมาใช้เรียกชื่อประเภท ก็ด้วยเหตุผลความคุ้นเคย ซึ่งหมายถึงกล้วยไม้ประเภทที่มีลักษณะหลักสำคัญคล้ายคลึงกับกล้วยไม้ในสกุลแวนด้านั่นเอง กล้วยไม้สกุลแวนด้ามีอยู่หลายสิบชนิด มีแหล่งกำเนิดกระจายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดของแวนด้าที่สวยงามหลายชนิด นอกจากความสวยงามของกล้วยไม้ชนิดต่างๆในสกุลนี้แล้ว ยังเป็นกล้วยไม้ที่วงการกล้วยไม้ยึดเป็นหลักในการผสมพันธุ์ข้ามสกุลในประเภทโมโนโพเดี้ย ดังจะเห็นได้ว่าได้มีการนำไปผสมกับกล้วยไม้สกุลอื่นๆมาแล้วหลายสกุลและนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

2. สกุลเอื้องกุหลาบ หรือ แอริดิส (Aerdes) เป็นสกุลกล้วยไม้ในเขตร้อนที่แพร่หลายอีกสกุลหนึ่ง แหล่งกำเนิดของกล้วยไม้สกุลนี้คล้ายคลึงกันกับสกุลแวนด้า สำหรับประเทศไทย มีกล้วยไม้สกุลนี้อยู่ในป่าตามธรรมชาติกว่า 10 ชนิด กระจายอยู่ทั่วๆไป จัดว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกสวยงามและบานิดก็มีกลิ่นหอม ได้มีการนำไปผสมพันธุ์ข้ามสกุลกับสกุลแวนด้าและสกุลอื่นๆมาแล้ว

3. สกุลเข็ม หรือแอสโคเซ็นตรั้ม (Ascocentrum) พันธุ์กล้วยไม้ในสกุลนี้จัดอยู่ในประเภทกล้วยไม้แบบกระเป๋า (miniature) ทรงต้นและดอกมีขนาดเล็กกะทัดรัด สีสันสดใสสะดุดตา และงามน่ารัก แม้ว่าพันธุ์กล้วยไม้ในสกุลนี้จะมีไม่กี่ชนิด แต่ส่วนใหญ่มีแหล่างกำเนิดอยู่ในป่าประเทศไทย ในระยะหลังๆนี้วงการกล้วยไม้ประเภทแวนด้าให้ความสนใจและนิยมกล้วยไม้สกุลนี้มาก เนื่องจากสีสันสดใสสะดุดตา ทรงต้นเล็ก เมื่อนำไปผสมกับกล้วยไม้ประเภทแวนด้าอื่นๆจะช่วยให้ได้ลูกผสมที่มีสีสดใสและขนาดต้นเล็กลง เหมาะแก่การที่จะปลูกในพื้นที่ซึ่งมีขนาดประหยัด

4. สกุลช้าง หรือ รินโคสไลลิส (Rhynchostylis) ความงามของกล้วยไม้สกุลนี้เน้นหนักอยู่ที่ช่อดอกรูปทรงกระบอกซึ่งมีดอกแน่นช่อ นอกจากนั้นยังมีดอกพรู ออกหลายๆช่อในคราวเดียวกัน มีกลิ่นหอมมีทั้งชนิดช่อโค้งห้อย และชนิดช่อตั้ง ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของกล้วยไม้สกุลนี้ เป็นสกุลหนึ่งในประเภทแวนด้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการกล้วยไม้สากล เนื่องจากมีความงามไม่ซ้ำแบบกับกล้วยไม้ประเภทแวนด้าอื่นๆ นอกจากนั้นยังได้มีการนำไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้ชนิดต่างๆในสกุลอื่นๆแล้วในระยะหลังๆนี้ และปรากฏว่าให้ลูกผสมที่มีลักษณะดอกแปลกออกไปอย่างน่าสนใจ

5. สกุลฟาแลนน๊อปซิส (Phalaenopsis) กล้วยไม้สกุลนี้ แม้ว่าจะมีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค แต่ก็เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลกอย่างกว้างขวางภายในสกุลนี้มีการศึกษาและศึกษาและค้นคว้ากันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีอยู่หลายสิบชนิด และมีลักษณะในรายละเอียดแปลกๆ แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ การผสมพันธุ์กล้วยไม้สกุลนี้มีมาช้านานแล้ว และมีการศึกษาค้นพบชนิดใหญ่ๆ พันธุ์ใหม่ๆอยู่เสมอ ทำให้ระบบการจำแนกทางพฤกษศาสตร์ภายในสกุลยังไม่เป็นที่เรียบร้อยนัก วงการนักนิยมกล้วยไม้สกุลนี้ก็ได้มีผลงานการผสมพันธุ์ใหม่ๆแปลกตลอดมา ประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของกล้วยไม้สกุลนี้ ประเทศไทยก็นับว่าเป็นประเทศหนึ่ง ที่พบว่ามีกล้วยไม้สกุลนี้อยู่ในป่าตามธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 3 ชนิด แสดงว่า สภาพฝนฟ้าอากาศของประเทศไทย อำนวยให้แก่การปลูกกล้วยไม้สกุลนี้ได้

6. สกุลเรแนนเธอร่า (Renanthera) จัดว่าเป็นกล้วยไม้เขตร้อนอีกสกุลหนึ่งที่มีลักษณะดีเด่นน่าสนใจ โดยปกติจะมีสีแดงสด หรือสีส้ม อาจมีบางชนิด มีสีเหลืองช่อดอกแข็ง แตกแขนงยาว มีดอกดกพรู ทรงต้นยาวทนแดด ทนฝนได้เป็นอย่างดีมีหลายชนิดที่พบตามธรรมชาติในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศใกล้เคียง ในประเทศไทยก็มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติไม่ต่ำกว่า ๓ ชนิด กล้วยไม้สกุลนี้ได้มีการนำไปใช้ในการผสมพันธุ์มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากลูกผสมซึ่งสวยงามอันเป็นผลของการผสมจากกล้วยไม้สกุลนี้ในปัจจุบันนี้ ลูกผสมจากกล้วยไม้สกุลเร       แนนเธอร่า ไม่ว่าจะเป็นผลจากการผสมข้ามสกุลหรือภายในสกุล นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะอุปนิสัยดอกดกพรูและสีสดสะดุดตา

7. สกุลดอไรทิส (Doritis) กล้วยไม้สกุลนี้ แม้ว่าจะมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดแต่มีบทบาทสำคัญในวงการกล้วยไม้อย่างสำคัญมาแล้ว โดยเฉพาะชนิดที่รู้จักกันแพร่หลาย ได้แก่ ม้าวิ่ง และแดงอุบลของไทย ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผสมพันธุ์กับชนิดต่างๆในสกุลฟาเลนน๊อปซิสอยู่ในต่างประเทศ

8. สกุลแวนด๊อพซิส (Vandopsis) กล้วยไม้สกุลนี้ มีอยู่ไม่กี่ชนิด และพบอยู่ตามธรรมชาติในป่าประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง บางชนิดได้มีการนำไปใช้ผสมพันธุ์ในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย และให้ลูกผสมที่มีดอกสวยงามมาแล้ว แม้กระนั้นก็ยังมีบางชนิดซึ่งน่าสนใจ แต่ยังไม่มีผลงานจากการผสมพันธุ์เทาใดนัก กล้วยไม้สกุลนี้แต่ละชนิดมักจะมีกลีบดอกหนาและแข็งแรงทนทานมาก

9. สกุลอะแรคนิส (Arachnis) เป็นกล้วยไม้เขตร้อนอีกสกุลหนึ่งที่สามารถเจริญงอกงามได้ดีในประเทศไทย และให้ดอกง่ ช่อดอกยาว ดอกพรู ลูกผสมจากกล้วยไม้สกุลนี้หลายชนิดสามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งในสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติของเขตร้อนได้โดยไม่ต้องสร้างโรงเรือน กลีบดอกเหนียวและทนทานจึงสามารถใช้เป็นกล้วยไม้ตัดดอกได้ดี นอกจากนั้นยังได้มีการผสมข้ามสกุลกับสกุลอื่นๆที่มีดอกสีสดๆ เพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีสีสดใสและแบบแปลกๆออกไปอีก

10. สกุลไตรโคกล๊อททิส (Trichoglottis) เป็นกล้วยไม้ในประเภทแวนด้าอีกสกุลหนึ่งซึ่งแม้ว่าจะอยู่ตามธรรมชาติไม่มากชนิด แต่ก็นับว่าเป็นที่น่าสนใจ แหล่งกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสกุลกล้วยไม้ซึ่งมีทั้งชนิดที่สวยงาม มีความสำคัญทางพืชกรรม และชนิดที่มีดอกขนาดเล็กอยู่ในประเภทที่มีความสำคัญทางการศึกษาพฤกษศาตร์ สำหรับชนิดซึ่งอยู่ในประเภทที่มีความสำคัญทางพืชกรรมนั้น ก็ได้มีการนำไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลอื่นๆในประเภทแวนด้ามาแล้วพอสมควร
by อ. ระพี สาคริก

การลดต้นทุนการผลิตกล้วยไม้

1.การใช้แม่ปุ๋ย N P K เกษตรกรโดยทั่วไปจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20, 21-21-21, 16-21-27, 10-52-17 และปุ๋ยละลายช้า ราคาปุ๋ยกิโลกรัมละ 70-120 บาท เราแนะนำให้ผสมปุ๋ยใช้เอง ดังนี้
A. ผสมปุ๋ยสูตร 20-20-20, 21-21-21, 16-21-27, 10-52-17 ใช้เองจากแม่ปุ๋ย15-0-0, 46-0-0, 12-60-0 หรือ 0-52-34 และ 13-0-46 หรือ 0-0-60 จะลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 30%
B. ผสมปุ๋ยสูตร 20-10-25 ใช้เองจากแม่ปุ๋ย 15-0-0, 46-0-0, 12-60-0 หรือ 0-52-34 และ 13-0-46 หรือ 0-0-60 จะลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 40-50%
2.การใช้ปุ๋ยธาตุอาหารรองและจุลธาตุ เกษตรกรใช้ปุ๋ยคีเลท ราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท เราแนะนำให้ใช้ปุ๋ยผสมเองซัลเฟต หรือซัลเฟต-คีเลท ราคากิโลกรัมละ 100-250 บาท
3.เกษตกรใช้วิตามินและฮอร์โมน เราไม่แนะนำให้ใช้
4.น้ำรดกล้วยไม้ ควรตรวจคุณภาพน้ำและปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมก่อนใช้
5.น้ำผสมพ่นสารเคมีต้องมี pH เป็นกรดอ่อน และมีค่าการนำไฟฟ้าต่ำ

 

งานวิจัยปี 59-ปัจจุบัน

โครงการวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการค้า
โครงการวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลแวนดาเพื่อการค้า
โครงการวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลรองเท้านารี
โครงการการวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลอื่นๆที่มีศักยภาพ
โครงการทดสอบพันธุ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกล้วยไม้ดินใบหมากในแปลงเกษตรกร
โครงการวิจัยผลกระทบและการรับมือของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงต่อการผลิตและคุณภาพของกล้วยไม้
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยไม้เพื่อสภาพแวดล้อมและสังคมสีเขียว
โครงการจัดการการผลิตกล้วยไม้แบบลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์กล้วยไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก
โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วยไม้เพื่อสุขภาพด้านอาหารและความงาม
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยไม้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
โครงการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ตัดดอกเพื่อทางการตลาดใหม่

โจทย์กล้วยไม้  ปริมาณผลผลิตไม่สอดคล้องกับช่วงความต้องการของตลาดขาดแคลนแรงงาน พึ่งพาแรงงานต่างด้าว พ่อค้าชาวต่างชาติทำให้กลไกตลาดบิดเบือน ราคาผันผวน ปัญหาน้ำเค็มที่เกิดจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณ คุณภาพผลผลิตกล้วยไม้ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครช่วงปริมาณน้ำฝนมาก ผลผลิตด้อยคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค ศัตรูพืชเช่น โรค แมลง อายุการเก็บรักษา

Category: กล้วยไม้

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news