banner ad

ดาวเรือง

| June 27, 2016

ดาวเรือง (Marigold)

  ดาวเรืองสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเฉลี่ย 27,056 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต สามารถปลูกได้ 1 – 2 รอบต่อปี ในปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกสูง 141.9 ล้านบาท
ดาวเรือง (Marigolds) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Tagetes spp. มีชื่อสามัญว่า Marigold เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Compositae มีถิ่นกำเนิดในแถบแม็กซิโกและอเมริกาใต้ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสูง 25-60 เซนติเมตร บางพันธุ์สูง 1-3 ฟุต ใบ ใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้าม ใบตอนบนออกสลับ กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีใบย่อย 11-17 ใบ ใบรูปรีหรือรูปหอก ขอบขนาน กว้าง 0.5 – 1.5 เซนติเมตร ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อกระจุกเดี่ยวที่ปลายยอด ริ้วประดับเชื่อมกันเป็น รูประฆัง ดอกวงนอกกลีบดอกเป็นรูปรางน้ำ กว้าง 0.6 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร โคนเป็นหลอด เล็กปลายแผ่เป็นรูปไข่กลับ ดอกวงในกลีบดอกเป็นหลอด ปลายเป็น 5 ซี่ บางสายพันธุ์กลีบดอกทั้งหมดเป็นรูปราง น้ำ ออกดอกตลอดปี เมล็ดมีลักษณะเรียวยาว และมีหาง ลักษณะของเมล็ดดาวเรืองเป็นแบบ achene คือไม่มี endosperm เมล็ดมีลักษณะเรียวยาว และมีหางเมล็ด น้ำหนักเมล็ดดาวเรืองจำนวน 20 เมล็ดอยู่ระหว่าง 0.062 – 0.035 กรัม ) ดาวเรืองเป็นพืชที่ตอบสนองต่อวันสั้น

พันธุ์ปลูก ดาวเรืองที่ปลูกกันอยู่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ดาวเรืองอเมริกัน Tagetes erecta เรียกกันโดยทั่วไปว่า American marigold หรือ African marigold หรือ Friendship marigold เป็นชนิดต้นสูง ลำต้นสูงตั้งแต่ 10-40 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง และขาว กลีบ ดอกซ้อนกันแน่น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 นิ้ว ดาวเรืองชนิดนี้มีหลายพันธุ์ ได้แก่

- พันธุ์เตี้ย สูงประมาณ 10-14 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ ปาปาย่า (papaya) ไพน์แอปเปิล (pineaple) ปัมพ์กิน (Pumpkin) เป็นต้น

- พันธุ์สูงปานกลาง สูงประมาณ 14-16 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์อะพอลโล (Apollo) ไวกิ่ง (Ziking) มูนช๊อต (Moonshot) เป็นต้น

- พันธุ์สูง สูงประมาณ 16-36 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ดับเบิล อีเกิล (Double Egle) ดับบลูน (Doubloon) ซอฟเวอร์เรน (Sovereign) เป็นต้น

2. ดาวเรืองฝรั่งเศส Tagetes patula มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า French marigold เป็นชนิดต้นเตี้ยมีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อนต้นเป็นพุ่มเตี้ย  เป็นดาวเรืองต้นเล็กสูงประมาณ 6-12 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง น้ำตาลอมแดง และสีแดง ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 นิ้ว นิยมปลูกประดับในแปลง มีก้านดอกสั้น นอกจากนี้ยังเป็นดาวเรืองที่สามารถลดปริมาณไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการรากปมในรากพืชได้

3. ดาวเรืองพันธุ์ลูกผสม (Mule Mariglds หรือ Afro American Marigolds) เป็นดาวเรืองลูกผสมระหว่างดาวเรืองอเมริกันและดาวเรืองฝรั่งเศส ลักษณะความแข็งแรง ดอกใหญ่ และมีกลีบซ้อนมากลักษณะต้นเตี้ยทรงพุ่มกะทัดรัดให้ดอกเร็ว ดอกดก
-Triploid marigold เป็นลูกผสมที่เกิดจาก Tagetes erecta ซึ่งมีโครโมโชม 2 ชุด (diploids) กับ Tagetes patula มีโครโมโซม 4 ชุด (tetraploids) ลูกผสมที่ได้มีโครโมโซม 3 ชุด (triploids) เช่น ดาวเรืองพันธุ์ “Nugget” เป็นต้น การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้ค่อนข้างซับซ้อนมีขั้นตอนมาก จึงทำให้เมล็ดมีราคา แพง แต่เนื่องจากลูกผสมที่ได้ออกดอกเร็วกว่าและดอกบานทนนานกว่า ทั้งนี้เพราะดอกที่ได้เมล็ดจะเป็นหมัน (sterile) ไม่มีทั้งเกสรตัวผู้และรังไข่จึงไม่สามารถติดเมล็ดได้ จึงทำให้ขายเมล็ดได้เรื่อยมาและมักจะรู้จักในนามของ ‘Nugget marigolds’
- Tagetes tenuifolia
pumila หรือ Tagetes signata pumila หรือเรียกสั้นๆว่า signet marigolds นิยมปลูกมากในยุโรป ส่วนในอเมริกาไม่ค่อยนิยม มีพุ่มต้นเตี้ยคือประมาณ 7 – 10 นิ้ว กลีบดอกชั้นเดียว ขนาด ดอกเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 นิ้ว
- Tagetes filiforia หรือ Foliage marigold เป็นดาวเรืองใบ ที่มีใบสวยงามมาก พุ่มต้นแน่นเหมาะ สำหรับปลูกประดับขอบแปลง

การทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองด้วยวิธี เพาะบนกระดาษเพาะ (Top of Paper) ที่อุณหภูมิสลับคือ 20 – 30 อาศาเซลเซียส (20 องศาเซลเซียส 16 ชั่วโมง , 30 องศาเซลเซียส 8 ชั่วโมง) ประเมินความงอกครั้งแรกที่ 3- 5 วัน และประเมินต้นอ่อนครั้งสุดท้ายที่ 14 วัน

—————————————————————————————————————————————————-

พันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย

1. พันธุ์ซอฟเวอร์เรน ดอกสีเหลือง เรียงซ้อนกันแน่น ขนาดใหญ่ ประมาณ 10 ซม.

2. พันธุ์ทอรีดอร์ ดอกมีสีส้ม ขนาดดอกใหญ่ประมาณ 8.5-10 ซม.

3. พันธุ์ดับเบิล อีเกิล ดอกมีสีเหลือง ดอกขนาดประมาณ 8.5 ซม. มีก้านดอกแข็งแรง

4. พันธุ์ดาวเรืองเกษตร เป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีทองเบอร์1 และพันธุ์สีทองเบอร์4 ซึ่งให้ดอกสีเหลือง ออกดอกจำนวนมาก เหมาะสำหรับปลูกในประเทศไทย

——————————————————————————————————————————————————

การขยายพันธุ์ดาวเรือง

ทำได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่นิยมทำคือ การใช้เมล็ด เพราะได้จำนวนมากกว่า โดยนำเมล็ดดาวเรืองมาเพาะในกระบะเพาะ ซึ่งมีวัสดุเพาะ คือ ขุยมะพร้าว ทราย ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1:1:1:1 หรือทรายละเอียด หรือแปลงเพาะที่มีดินร่วนซุยค่อนข้างละเอียด คราดดินให้ผิวดินเรียบสม่ำเสมอ ทำร่องบนกระบะเพาะหรือแปลงเพาะให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร แต่ละร่องห่างกัน 5 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงร่องห่างกัน 1-2 นิ้ว แล้วกลบแต่ละร่องด้วยวัสดุเพาะ หรือดินละเอียดเพียงบางๆ รดน้ำด้วยฝักบัวฝอยให้ชุ่ม แล้วคลุมกระบะเพาะด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือคลุมแปลงเพาะด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อรักษาความชื้น เมล็ดดาวเรืองจะงอกภายใน 3-5 วัน เป็นต้นกล้า แล้วจึงย้ายลงกระบะหรือถุงดำ

——————————————————————————————————————————————————

การปลูกดาวเรือง

1. ไถเตรียมดิน หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไป ประมาณ 1 ตัน/ไร่ ยกร่องแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร รดน้ำแปลงไว้ล่วงหน้า 1 วัน การปลูกจะใช้กล้าที่มีใบแท้ 2-4 ใบ การปลูกในแปลงสำหรับพันธุ์สูงที่ระยะ 45-60 ซม. พันธุ์เตี้ย 30-40 ซม. ทั้งในระยะระหว่างแถว และระหว่างต้น ทั้งนี้ ควรทำการไถยกร่องแปลง และตากดิน พร้อมกำจัดวัชพืชก่อน แปลงปลูกอาจยกร่องเป็นการปลูกแบบแถวเดียวกว้าง 40-50 ซม. หรือปลูกแบบแถวคู่กว้าง 100-120 ซม.

2. ขุดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร แปลงละ 3 แถว ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยทริบเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟส หรือสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนชา รองก้นหลุม แล้วเกลี่ยดินข้างหลุมมากลบปุ๋ยเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้รากดาวเรืองสัมผัสปุ๋ยโดยตรง

3. นำต้นกล้าที่มีอายุ 7-10 วัน ( นับจากวันเพาะเมล็ด ) แยกต้นกล้าให้มีวัสดุเพาะ หรือดินหุ้มติดรากมาด้วย โดยควรงดน้ำก่อน 1 วัน ทำให้ดึงต้นได้ง่ายขึ้น เพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือน นำมาปลูกในแต่ละหลุมที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม

4. การให้น้ำอาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ตามลักษณะสภาพอากาศ และความชุ่มชื้นของดิน การให้น้ำมาก จะให้หลังจากการเพาะเมล็ดหรือย้ายกล้าใหม่เท่านั้น ในช่วงที่ดอกดาวเรืองเริ่มบานไม่ควรรดน้ำให้โดนดอก เพื่อป้องกันดอกเป็นโรค

5. เมื่อดาวเรืองอายุ 15 และ 25 วัน ควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1 ช้อน : ต้น เมื่ออายุ 35 และ 45 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ในอัตราเดียวกัน โดยวิธีฝังลงในดินตื้นๆ ห่างโคนต้น 6 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย

6. ช่วงดาวเรืองอายุ 21-25 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นมีใบจริงขนาดใหญ่ ประมาณ 4 คู่ และส่วนยอดมีใบเล็กๆ 1-2 คู่ จะต้องปลิดยอดทิ้งเพื่อให้แตกกิ่งข้าง โดยใช้มือซ้ายจับคู่ใบบนสุดที่จะเหลือไว้ แล้วใช้มือขวาดึงส่วนยอดลงทางด้านข้างจนหลุดออกมา หลังจากนั้น 5-7 วันตาข้างจะเริ่มแตกและเจริญเป็นกิ่งใหม่ ซึ่งจะติดตุ่มดอกทั้งที่ตายอดปลายกิ่งและตาข้าง

7. หลังจากปลูก 40-45 วันในแต่ละกิ่ง เมื่อดอกยอดมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดดอกข้างมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ต้องรีบปลิดดอกข้างออกให้หมดภายใน 2-3 วัน คงเหลือดอกยอดไว้ดอกเดียว เพื่อให้ดอกมีขนาดใหญ่

8. หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน ( อายุ 60-65 วัน ) ก็ตัดดอกไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะได้ประมาณ 10-12 ดอก/ต้น

——————————————————————————————————————————————————

ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด

ก. โรคพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

1. โรครากเน่าโคนเน่า Selerotinia spp.

ลักษณะอาการ : เกิดจากอาการต้นระดับผิวดิน เริ่มจาอาการฉ่ำน้ำ รากหรือโคนจะเน่า เป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล

สาเหตุ : การรดน้ำมากเกินไป รดน้ำไม่เป็นเวลา มักจะเกิดในสภาพที่มีความชื้นสูง

วิธีการป้องกัน : เทอร์ลาคอร์ ซุปเปอร์เอ็กซ์ 5 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร แมนโคเซป 50-100 กรัม / น้ำ 20 ลิตร

หมายเหตุ : โรคนี้มักจะเกิดกับต้นกล้าระยะที่1 ถึง 2 หรืออายุต้นกล้าประมาณ 5-10 วัน

———————————-

2. โรคเหี่ยว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอรา (Phytoptora) มักเกิดกับดาวเรืองที่ดอกกำลังเริ่มทยอยบาน ระยะแรกมีอาการคล้ายกับดาวเรืองขาดน้ำ กล่าวคือ อาการเหี่ยวจะแสดงในตอนกลางวันส่วนกลางคืนอาการจะปกติ หลังจากนั้นประมาณ 3 -4 วัน ดาวเรืองก็จะเหี่ยวทั้งด้นและตายไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด

- ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ฉีดพ่นสลับกับคาร์เบนดาซิมประมาณสัปดาห์ละครั้ง และถ้าพบมากต้นที่เป็นโรคและตายในแปลงต้องรีบกำจัดทิ้ง

- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการป้องก้นโรค ควรรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้น(อย่าให้แฉะ) ในช่วง 7 วันหลังหว่านเชื้อราเพื่อให้เชื้อเจริญเติบโต ควรใช้ก่อนหรือหลังการหว่านปุ๋ยเคมี 3-5 วันแต่สารเคมีกลุ่ม เบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึมเป็นอันตรายต่อเชื้อไตรโคเดอร์มา ควรจะทิ้งช่วงประมาณ 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ จึงสามารถใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาได้

2.1 โรคเหี่ยวเหลือง Fusarium sp.

ลักษณะอาการ : เริ่มจากใบดาวเรืองที่อยู่บริเวณโคนต้นแสดงอาการใบเหลือง แห้ง และลามขึ้นมาสู่ส่วนบนจนในที่สุดใบจะเหลือง และแห้งตายไปทั้งต้น ส่วนลำต้นจะมีลักษณะ แบนลีบและเหี่ยวไปด้วย ลำต้นบริเวณคอดินหรือเหนือดินเล็กน้อย มักมีสีแดงหรือสีคล้ำกว่าส่วนอื่นท่อน้ำเลี้ยงแห้งเป็นสีน้ำตาล

วิธีการป้องกันและกำจัด

1. เมื่อพบต้นเป็นโรค ให้ถอนทิ้งนอกแปลง อย่าทิ้งลงน้ำเด็ดขาด

2. หลังจากถอนต้นทิ้งขุดดินบริเวณนั้นตากแดด

3. การดูแลแปลงปลูก ในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโต และก่อนการออกดอกให้หมั่นตรวจสอบแปลงถ้าพบต้นมีอาการผิดปกติ ให้รีบทำลายทิ้งทันทีในกรณีที่ต้นเป็นโรคอยู่ในระยะช่วงที่กำลังลุกลามหรือต้นแสดงอาการเหี่ยวเชื้ออาจลุกลามไปยังต้นใกล้เคียงกับที่เป็นโรคด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถอนต้นที่อยู่ใกล้เคียงกับต้นที่เป็นโรคทิ้งด้วย แม้ต้นนั้นจะยังไม่แสดงอาการก็ตาม

4. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม เบนโนมิล 30 กรัม : น้ำ 20 ลิตร ไรโอฟาเนทเททชิล เทอร์ลาคลอ (ใช้พ่นทางดิน) 60 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร

หมายเหตุ : ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นยาคือช่วงเช้า และหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด

2.2 โรคเหี่ยวเขียว Rastunia

ลักษณะอาการ : เริ่มจากใบดาวเรืองที่อยู่บริเวณยอดด้านบนแสดงอาการเหี่ยวสด แล้วใบจะลุลงเหมือนอาการขาดน้ำ หลังจากนั้น 2-3 วัน ต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการ เหี่ยวอย่างเห็นได้ชัดและอีก 4-5 วัน ต้นดาวเรืองจะตายโดยที่ใบยังเขียวอยู่

การป้องกันและการกำจัด

1. ปรับวิธีการให้น้ำในแปลง อย่าให้น้ำไหลผ่านบริเวณที่เป็นโรคไปยังต้นอื่น (ถึงแม้ต้นที่เป็นโรคทิ้งแล้วก่อตามเฉพาะเชื้อตัวนี้ สามารถแพร่กระจายไปกับน้ำได้)

2. ใช้สารเคมีฉีดพ่น สเตบโตมัยชิน 120 กรัม ผสมเมทาแลกซิล 20 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร รดโคนต้น

หมายเหตุ :

- เชื้อโรคนี้ จะเริ่มเข้าทำลายในช่วงหลังจากการย้ายปลูก 40-45 วัน หลังย้ายปลูกช่วงดาวเรืองเป็นตาตุ่มดอก

- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นยาควรพ่นในช่วงเช้า และหลีกเลี่ยงอากาศร้อน

—————————————

3. โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งลักษณะอาการ คือจะเห็นสปอร์ของเชื้อราเป็นฝุ่นสีขาว ๆ ตามใบของดาวเรือง ทำให้ใบหยิก การเจริญเติบโตชะงัก ถ้าเป็นมากอาจทำให้ต้นตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

- โดยการพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ไดแทน-เอ็ม 45 ประมาณสัปดาห์ละครั้ง

- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการป้องก้นโรค

4. โรคดอกไหม้ เกิดเชื้อราเข้าทำลายดอกดาวเรือง ทำให้ดอกเป็นสีน้ำตาลจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้

การป้องกันกำจัด

- ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซ็ปหรือดาโคนิล โดยฉีดพ่นให้ทั่วทั้งแปลง

- เชื้อราชั้นสูงที่ชื่อว่า ไตรโคเดอร์มา(Trichoderma spp.) โดยนำมาผสมกับน้ำสะอาด ฉีดพ่น เพื่อควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราอื่นๆ

5. โรคดอกเน่า Colletotrichum sp.

ลักษณะอาการ : โดยดอกที่เกิดโรคเน่าจะเป็นสีน้ำตาล โดยเฉพาะถ้าหากเกิดในระยะที่ดอกกำลังเริ่มเป็นดอกตูม จะทำให้ดอกไม่สามารถบานได้ หากเชื้อเข้าทำลายในระยะที่ดอกบานจะพบว่า กลีบดอกจะมีสีน้ำตาลลามเข้าไปทางโคนกลีบ ทำให้ดอกมีสีน้ำตาลดำ เชื้อเข้าทำลายจากดอกลามสู่ลำต้น

การป้องกันและการกำจัด :

1. หากพบว่ามีอาการของโรคภายในแปลงปลูกให้เก็บและเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคต้นอื่นๆ

2. ให้ระมัดระวังการให้น้ำ อย่าให้ชุ่มมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่มีอากาศร้อน นอกจากนี้แปลงปลูกหากสามารถใช้ระบบน้ำหยดได้จะช่วยลดอาการเปียกของต้นทำให้ลดอาการระบาดของโรคได้เป็นอย่างมาก

3. ใช้สารเคมี ฉีดพ่น คลอโรธาโลนิล 20-30 กรัม : น้ำ 20 ลิตร ไชแนบ 50-100 กรัม : น้ำ 20 ลิตร คาร์เบนตาซั่ม 30 กรัม : น้ำ 20 กรัม

หมายเหตุ : ระบาดในช่วงฝนและในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง

6. โรคใส้กรวงของดาวเรือง Hollow stem

ลักษณะอาการ : ดาวเรืองเริ่มเติบโตที่จะเห็นว่าบริเวณลำต้นผิดปกติไป คือ ใบล่างของต้นจะแห้งกรอบ ลำต้นเล็กลงจนผิดปกติ ทรงพุ่มด้านบนมีลักษณะกอดแน่น ใบจะชูขึ้น มีจำนวนยอดมาก แต่อาจไม่สามารถให้ดอกได้ จากนั้นต้นดาวเรืองโตกว่าเดิม จะฉีกขาด เนื่องจากส่วนของลำต้นไม่แข็งแรง ลำต้นที่ฉีกขาด จะพบว่าเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงท่ออาหารไม่พัฒนาฝ่อและกลวง

วิธีการป้องกันและกำจัด

1. การเตรียมแปลงปลูกในช่วงฤดูฝน ควรจะยกแปลงให้สูงขึ้นมากกว่าปกติ เพื่อให้รากหยั่งลึก ได้ดีขึ้น ทำร่องน้ำให้ลึก เพื่อที่จะระบายน้ำได้ดี ไม่ขังบริเวณราก

2. หลุมปลูกดาวเรือง ห่างประมาณ 45×45 ซ.ม. เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก ต้นดาวเรืองจะแข็งแรงสมบูรณ์

3.เพิ่มปุ๋ยที่มีโบรอนเดี่ยว ให้โดยการราดโคนต้น หรือฉีดพ่นทางใบๆทุกสัปดาห์ตามลักษณะอาการ

7. โรคใบจุด Altemaria sp.

ลักษณะอาการ : ใบเริ่มมีอาการใบจุดสีขาวแล้วเนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเนื้อ ใบที่มีแผลจะค่อยๆแห้งร่วงหล่น ทำให้ต้นทรุดโทรม

สาเหตุ : เกิดจากความชื้นสูงในช่วงฤดูฝน

วิธีการป้องกัน ตรวจแปลงปลูกดาวเรืองอยู่เสมอเป็นประจำ โดยเฉพาะระยะหลังปลูกประมาณ 1 เดือนให้สังเกตอาการแรกๆดพื่อจัดการฉีดพ่นสารกำจัดเชิ้อราได้ทัน ฉีดพ่นสารเคมี คลอโรธาโลนิล 20-30 กรัม : น้ำ 20 ลิตร เมทาแลกซิล ฟอสอิทิล-อลูมินั่ม

หมายเหตุ : โรคนี้มักจะเกิดกับต้นกล้าอายุได้ 10-15 วัน

—————————————————————————————————————————————————–

ข. แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

1. เพลี้ยไฟ เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงอแล้วห่อขึ้นไม่ แตกใบใหม่จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่างฤดูร้อน

การป้องกันและการกำจัด

- หากพบระบาดมากทุกๆ 2- 3 วัน โดยมากในช่วงหลังฝนตกที่มีความชื้นสูง และอากาศร้อนอบอ้าว ควรฉีดพ่นในช่วงสาย และช่วงบ่าย หลีกเลี่ยงการพ่นยาในช่วงที่อากาศร้อนจัด เพราะตัวยาบางชนิดอาจทำให้ใบไหม้ได้

- ใช้ยา ฟูโนบูคาร์บ 50 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร มาลาไทออน 20-30 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร เฟนิโตรไทออน 10-20 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร

2. หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน จะเข้าทำลายในขณะที่ดอกดาวเรือเริ่มบานหนอนจะกัดกินดอกดาวเรือง ทำให้ดอกแหว่งเสียหาย

การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น แลนเนท, แคสเคต เมโทมิล 20- อะบาแมกดิน ไชเปอร์เมทริน ตามฉลากแนะนำ

หมายเหตุ :

พ่นเวลาในเวลากลางคืน ประมาณ ตี 2 หรือช่วงเช้า 6 โมงเช้า ถึง 7 โมงเช้า หรือ 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม

- พ่นเป็นจุด หรือพ่นรอบๆพื้นที่เสียหาย และมีการตรวจสอบทุกระยะ ถ้ายังมีอยู่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกครั้งหรือใช้เชื้อไวรัสทำลายแมลงพวกเอ็น.พี.วี (NPV) ฉีดพ่นในแปลงที่มีหนอนกระทู้หอมระบาด

- เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus thuringiensis ใช้ในการกำจัดตัวอ่อนของแมลงจำพวกหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบกะหล่ำ โดยนำมาผสมน้ำฉีดพ่นไปบนต้นพืชให้ทั่ว เมื่อแมลงศัตรูพืชที่กล่าวมาแล้วกินพืชที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไป ทำให้แมลงหยุดกินอาหาร เคลื่อนไหวช้าลง และจะตายในที่สุด

- การใช้ไส้เดือนฝอยมากำจัดตัวอ่อนของแมลงจำพวกหนอนกระทู้หอมและด้วงหมัดผักชนิดต่างๆ โดยใช้ไส้เดือนฝอยที่มีชื่อว่า Steinernema Carpocapsae มาผสมน้ำฉีดพ่นบนต้นพืช ทำให้หนอนตายภายใน 24-48 ชั่วโมง

- มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงตัวห้ำที่มีบทบาทในการควบคุมหนอนผีเสื้อหลายชนิด

3. หนอนชอนใบ ทำลายใบอ่อนตัวหนอนที่ฟักจากไข่ไชชอนเป็นทางยาวหรือ สร้างอุโมงค์กัดกินและขับถ่ายอยู่ภายในใบที่ถูกทำลายจะแสดงลักษณะแคระแกรน บิดเบี้ยว

การป้องกันกำจัด เมโทมิล 20-30 กรัม / น้ำ 20 ลิตร คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 30 กรัม / น้ำ 20 ลิตร อะบาแมกดิน 20-30 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ไบเฟนเทริน 20-30 กรัม / น้ำ 20 ลิตร

หมายเหตุ : ช่วงเวลาพ่นสารเคมี ควรทำในช่วง 6 โมง 9 โมง เช้า เท่านั้น

4. ไรแดง

ลักษณะอาการ : ใบพืชที่โดนทำลายจะแสดงอาการเป็นจุดต่างๆสีเหลือง แล้วทำให้ใบหงิกงอ ห่อลง พบมากในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนจัด พบมากในส่วนใต้ใบ และจะลามไป ทั้งแปลง ไรแดงมีรูปร่างคล้ายแมงมุม ขนาดเล็กมาก สีแดง ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม หากมีปริมาณมากจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุม คลุมทั้งต้น

การป้องกันและการกำจัด : อะมิทราช 30 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ไดโคลโฟล 20-30 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร

หมายเหตุ : ช่วงเวลาที่ควรพ่นสารเคมี คือ ช่วงบ่ายและเย็น หลัง 12:00-15:00 น. มักจะระบา ดในช่วงหลังเด็ดยอด

——————————————————————————————————————————————————

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ก่อนตัดดอกดาวเรืองเพื่อนำไปจำหน่ายประมาณ 2-3 วัน ควรใช้น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำจำนวน15 ลิตร หรือ เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ฉีดพ่นใบดาวเรืองทั้งด้านบนและด้านล่าง จะทำให้ก้านดอกแข็งแรงขึ้น จากนั้นจึงทยอยตัดดอก อายุของดาวเรืองที่สามารถตัดดอกขายได้คือประมาณ 55-65 วัน หรือให้สังเกตจากดอกที่ยังมีกลีบดอกตรงกลางเป็นสีเขียวอยู่ได้นานกว่าดอกที่บานทั้งหมด ในการตัดดอกนั้นควรตัดให้ชิดโคนกิ่งให้มากที่สุด จะทำให้ก้านดอกที่ติดมามีขนาดยาว การตัดดอกดาวเรืองเพื่อนำมาปักแจกันนี้ควรตัดให้มีก้านดอกยาวประมาณ 18-20 นิ้ว มัดดอกดาวเรืองเป็นกำ ๆ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อให้ดอกดาวเรืองคงความสดอยู่ได้นาน

ขั้นตอนการตัดดอก

1. สังเกตดอกที่มีใจกลางขนาดเท่าหัวปากกา ดังภาพ เป็นระยะที่ดอกบานเหมาะสมในการตัดดอกจำหน่าย

2. ตัดก้านดอกให้ยาวพอประมาณ(ชิดโคนกิ่งให้มากที่สุด )

3. ใส่ตะกร้าที่เตรียมไว้ เพื่อการขนย้ายให้ง่ายขึ้น

4. นำไปพึ่งให้ดอกแห้งแต่อย่านำดาวเรืองไปพึ่งที่แดด เพราะจะทำให้ดาวเรืองดอกไหม้ได้แนะนำให้ใช้พัดลมช่วยในการเป่าให้แห้ง หรือตัดเวลาที่แดดอ่อนๆ น้ำค้างแห้ง จะช่วยลดความชื้นในดอกได้ดีขึ้น

5. ทำการคัดเลือกดาวเรืองแต่ละเบอร์ จะมีทั้งหมด 4-5 เบอร์ขึ้นกับความแข็งแรงสมบูรณ์ของต้น ที่นิยม คือ เบอร์โบ้ เบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 เป็นการคัดเกรดตามขนาดดอก ที่สร้างมาตรฐานให้การค้าดอกดาวเรืองได้ราคาตามคุณภาพสินค้า สร้างความพึงพอใจให้เกษตรกรและพ่อค้า ทำให้เกิดตลาดการค้าที่มั่นคง

 

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: พืชไม้ดอก

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news