banner ad

หน่อไม้ฝรั่ง

| June 30, 2016

หน่อไม้ฝรั่ง Asparagus

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชดั้งเดิมที่มีการปลูกในเขตติดต่อระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ชาวกรีกและชาวโรมันเป็นผู้บุกเบิกรู้จักนำมาบริโภคเมื่อ พ.ศ. 343 เพราะเชื่อว่าเป็นอาหารสุขภาพ กินแล้วร่างกายแข็งแรง และกำลังกายดี ชาวจีนนำมาใช้เป็นยาดองกับเหล้าดื่มบำรุงกำลัง ในยุคล่าอาณานิคมชาวยุโรปเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย ประเทศไทยเกษตรกรนิยมปลูก และมีแนวโน้มความต้องการสูง ทั้งตลาดส่งออกในรูปหน่อสดและอุตสาหกรรมแปรรูป หน่อไม้ฝรั่งที่พบเห็นทั่วไปมี 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดหน่อสีเขียวใช้รับประทานและการส่งออก และชนิดหน่อสีขาวใช้ในการแปรรูป การปลูกหน่อไม้ฝรั่งจะให้หน่อสีเขียวหรือสีขาวขึ้นอยู่กับวิธีการปฏิบัติในการปลูก แหล่งปลูกหน่อไม้ฝรั่งได้แก่ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และกาฬสินธุ์

 

1. พันธุ์ : หน่อไม้ฝรั่งที่เกษตรกรนิยมปลูกเชิงการค้ามีพันธุ์หลัก ได้แก่ พันธุ์ยูซี 152 พันธุ์บร็อคอิมพรู๊ฟ และสายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

หน่อไม้ฝรั่งมีอายุได้ 3 เดือน โดยใน 1 เดือนแรกเป็นระยะการเจริญเติบโต และออกดอก ติดผล เก็บหน่อได้ 2 เดือน การเก็บผลผลิตจะเริ่มปลูกด้วยเมล็ดแล้วเลี้ยงกอให้ครบ 8-9 เดือน จากนั้นจึงเริ่มเก็บหน่อ การเก็บหน่อจะเก็บ 2 เดือน แล้วจะพักต้น 1 เดือน เลี้ยงต้น 4-5 ต้นในการสร้างกอ หน่อไม้ฝรั่งจะมีทั้งดอกเพศผู้ เพศเมีย และกระเทย

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

-เมื่อย้ายต้นหน่อไม้ฝรั่งที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไปเลี้ยงต่อบนอาหารที่มี NAA และอยู่ในที่สว่าง 3,000 หรือ 10,000 ลักซ์ ก่อนนำออกปลูก จะทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดตาย 95-100%

-การย้ายปลูกหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ UC500W และ UC711 จากการเพาะเลี้ยงข้อที่มีตา 1 ตาและมีรากยาว 4-6 เซนติเมตร ลงใน jiffy7 peat แล้วย้ายลงในกระบะพ่นหมอกอีก 5-8 วัน จากนั้นนำไปไว้ข้างนอกอีก 4 สัปดาห์ พบว่าหน่อไม้ฝรั่งมีอัตราการรอดตาย 89%


2. การเพาะกล้า

2.1 การเพาะกล้าในแปลง

- เตรียมแปลงเพาะกว้าง 1 เมตร ยาวตามที่ต้องการ
- ใส่ปุ๋ยคอก และ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กก. และ 30 ก./ตรม.
- ใช้เมล็ด 100-250 กรัม ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่
- โรยเมล็ดเป็นแถวห่างกัน 15-20 ซม. กลบดินบางๆ เสมอผิวดิน แต่ละเม็ดห่างกัน 15-20 ซม.

2.2 ในถุงเพาะกล้า

- นำเมล็ดไปแช่น้ำอุ่น นาน 1-2 ชั่วโมง จากนั้นนำไปห่อในผ้าและรดน้ำให้ชุ่มใส่ไว้ในกระติกน้ำปิดฝาบ่มไว้จนเริ่มมีปุ่มรากสีขาว(ประมาณ 4-10 วัน จะเกิดปุ่มราก) แล้วนำไปหยอดลงถุงพลาสติกสีดำขนาด 4 x 6 หรือ 6 x 8 โดยหยอด 1-2 เมล็ด/ถุง
- หากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ใหม่สามารถนำไปเพาะเมล็ดได้ทันทีแต่ระยะเวลา ในการงอกประมาณ 10 – 15 วัน วัสดุเพาะกล้า ดินร่วน : ปุ๋ยคอก : ถ่านแกลบ : ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 : 1 : 1 หรือหากหาวัสดุไม่ได้อาจใช้ ดินร่วน : ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1 : 1 ได้
เทคนิคการทำกล้า
-ใช้วิธีตัดยอดต้นกล้าอายุ 4-6 สัปดาห์ และคัดต้นที่ให้หน่อใหม่ภายใน 2-3 สัปดาห์ ปรากฏว่าต้นที่คัดเลือกแข็งแรงกว่าต้นที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในสามเดือนต่อมา อย่างไรก็ตามปรากฏว่าลักษณะแตกหน่อเร็วดังกล่าว ไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตเมื่อหน่อไม้ฝรั่งโตเต็มที่
————————

3. การเตรียมดิน

- ไถตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 2-4 ตัน/ไร่
- ถ้าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 6.0 หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ และไถพรวนปรับดินให้สม่ำเสมอ
- ปลูกด้วยต้นกล้าที่มีอายุ 4-6 เดือน และปลูกลงแปลงในช่วงเวลาที่มีแดดอ่อนๆ ตั้งแต่ 15.00-19.00 น.
- ตัดยอดให้เหลือลำต้นเหนือดินสูง 15-20 ซม. ควรแช่กล้าด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์85% ดับบลิวพีอันตรา60 ก./น้ำ 20 ลิตร นาน 10 นาที แล้วผึ่งให้แห้งก่อนปลูก เพื่อป้องกันกำจัดโรคลำต้นไหม้
- ระยะปลูก 50 x 150 ซม. จำนวน 1 ต้น/หลุม รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25-30 ก./หลุม แล้วกลบดินหนา 3-5 ซม.
- หลังปลูกควรให้น้ำวันละครั้ง เมื่อตั้งตัวได้แล้วจึงให้น้ำ 3-5 วันครั้ง การให้น้ำมีทั้งแบบสปริงเกอร์ และระบบน้ำหยด
————————-
4. การใส่ปุ๋ย

ช่วงระยะการเจริญเติบโตและพักต้น ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารตัวหน้าสูง (N สูง) ผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอเช่น 15-15-15, 16-16-16 อัตราการใส่ 25 30 กก.ต่อไร่ ใส่ทุก 10 15 วัน และปุ๋ยอินทรีย์ 3-5 ตัน/ไร่/ปี แบ่งใส่ 2 ครั้งห่างกัน 6 เดือน ช่วงระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต ใส่ปุ๋ยที่มีตัวหน้าและตัวหลังสูง (N, K สูง) เช่นสูตร 21-7-14, 13-7-35, 15-5-20 อัตราการใส่25 30 กก.ต่อไร่ ใส่ทุก 10 15 วัน

บางท่านจะให้ปุ๋ยด้วยระบบน้ำหยด โดยการเอาปุ๋ยมาละลายกับน้ำแล้วส่งผ่านท่อให้น้ำโดยมีการติดท่อเวนทูล่าที่หัวจ่ายน้ำเพื่อดูดปุ๋ย

ถ้าพบต้นหน่อไม้ฝรั่งมีใบสีเหลืองออกขาวแสดงว่ามีการขาดปุ๋ยให้พ่นธาตุอาหารเสริม

———————-

5. ศัตรูพืช

5.1 แมลงศัตรูพืช

1. เพลี้ยไฟหอม (Thrips tabaci Lindeman) ในระยะแรกของการเข้าทำลายถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่พบร่องรอย หรืออาการที่ถูกทำลาย แต่จะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อพืชถูกทำลายรุนแรงแล้วหน่อไม้ฝรั่งจึงจะมีลักษณะแคระแกรน ปลายหน่อเหลืองซีด กาบใบที่หุ้มบริเวณลำต้นมีสีน้ำตาล และแสดงอาการเหี่ยว ซึ่งหน่อไม้ฝรั่งที่มีลักษณะดังกล่าวจะขายไม่ได้ราคาและที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ปัจจัยที่สำคัญต่อการระบาดของเพลี้ยไฟหอม ได้แก่ ฝน และอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะลดการเคลื่อนย้ายและการระบาดของเพลี้ยไฟหอมลงได้มาก พบระบาดในช่วงฤดูร้อนหรืออากาศแห้งแล้ง ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของทุกแหล่งที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง

การป้องกันกำจัด: วิธีกล โดยการติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ พบว่า มีประสิทธิภาพในการดักจับเพลี้ยไฟชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถลดการระบาดลงได้ ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น อิมิดาคลอพริด (imidacloprid 10% W/V SL) หรือ ฟิโปรนิล (Fipronil 5% W/V SC)

————————–

2. หนอนกระทู้หอม Spodoptera exigua (Hubner) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะตามแหล่งปลูกการค้าต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ปลูกผักอย่างมาก ทั้งนี้เกษตรกรไม่สามารถป้องกันกำจัดหนอนชนิดนี้ได้ เนื่องจากหนอนสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงหลายชนิด และมีพฤติกรรมชอบหลบซ่อนตัว การระบาดจะรุนแรงมากในช่วงฤดูร้อน โดยหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะกัดกินผิวใบบริเวณส่วนต่างๆ ของพืชเป็นกลุ่ม และความเสียหายรุนแรงในระยะหนอนวัย 3 ซึ่งจะแยกย้ายกัดกินทุกส่วนของพืช หากปริมาณหนอนมากความเสียหายจะรุนแรง ผลผลิตจะเสียหายและคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

การป้องกันกำจัด: การใช้วิธีทางเขตกรรม เช่น การไถพรวนดินตากแดด ใช้สารฆ่าแมลงไพโรล (pyroles) สปิโนซินส์ (spinosyns) เบนโซอีลยูเรีย (benzoylureas)

ศัตรูธรรมชาติ

- แตนเบียนธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียน Microplitis manilae Ashmead, แตนเบียน Charops sp. และแมลงวัน Peribaea orbata (Wiedemann)

- ตัวห้ำธรรมชาติ ได้แก่ มวนพิฆาต Eocanthecona furcellata (Woff)

- การใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) ที่สำคัญมีจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ Bacillus thuringiensis var. aizawai และ Bacillus thuringiensis var. kurstaki เป็นต้น

- การใช้เชื้อไวรัส Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) กำจัดหนอนกระทู้หอม

—————————–

3. หนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura (Fabricius) ระยะแรกเข้าทำลายเป็นกลุ่ม ในระยะต่อมาจะทำลายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่สามารถกัดกินใบ ก้าน ดอก ทำความเสียหายและยากแก่การป้องกันกำจัด ซึ่งการเข้าทำลายมักเกิดเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ และมักแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

1. การใช้วิธีทางเขตกรรม เช่น การไถตากดิน

2. การใช้วิธีกล เช่น การเก็บกลุ่มไข่ และหนอนไปทำลาย

3. การใช้โรงเรือนคลุมด้วยตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง

4. การใช้สารฆ่าแมลงไพโรล (pyroles) สปิโนซินส์ (spinosyns) เบนโซอีลยูเรีย (benzoylureas)

ศัตรูธรรมชาติ

- การใช้เชื้อแบคทีเรีย (Bt)

- การใช้เชื้อไวรัส NPV หนอนกระทู้ผัก

- การใช้แตนเบียน ตัวห้ำ และมวนพิฆาต

————————————————

4. แมลงหวี่ขาวยาสูบ Bemisia tabaci (Gennadius) ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ และเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากไวรัส การกระจายของแมลงและโรคที่เกิดจากแมลงหวี่ขาวยาสูบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตร้อน แต่ก็พบในเขตกึ่งร้อนและเขตอบอุ่นด้วยเช่นกัน

การป้องกันกำจัด

1. คลุกเมล็ดก่อนเพาะกล้าด้วยสารคาร์โบซัลแฟน (carbosulfan 25% ST)

2. ใช้สารฆ่าแมลงอิมิดาคลอพริด (imidacloprid 10% W/V SL) หรือ ฟิโปรนิล (fipronil 5% W/V SC)

ศัตรูธรรมชาติ : แตนเบียน Encrasia sp.

———————————–

5.2 โรคศัตรูหน่อไม้ฝรั่งและการป้องกันกำจัด

1. โรคลำต้นไหม้ (Stem Blight) เกิดจากเชื้อรา Phomopsis sp. มีลักษณะอาการเริ่มแรก พบลำต้นเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ สีเขียวรูปกระสวย จากนั้นจุดจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นแผลสีม่วง หรือสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลเป็นสีน้ำตาลอ่อนยาวรีคล้ายรูปไข่ตามแนวยาวของลำต้น เมื่อแผลขยายจะมีเม็ดสีดำเล็กๆ กระจายทั่วแผล ต้นจะทรุดโทรมและแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้ยังพบอาการของโรคได้บนกิ่ง ก้าน และใบ

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่แสดงอาการเป็นโรคให้ถอนแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน สลับกับคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร นำต้นที่ตัดแต่งและถอนทิ้ง จากการพักต้น ไปเผาทำลาย ควรปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณเชื้อโรค และไม่ควรปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน

—————

2. โรคแอนเทรคโนส Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) มีลักษณะอาการเริ่มแรก พบลำต้นเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ สีน้ำตาล ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นวงรี ตามความยาวของลำต้น ตรงกลางแผลมีสีซีดและพบเม็ดสีดำเล็กๆ เรียงซ้อนกันเป็นชั้น แผลยุบตัวเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ถ้าอากาศชื้นจะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนที่บริเวณแผล เมื่อแผลขยายลุกลามมากขึ้น จะทำให้ต้นเหี่ยว ลีบแบน เป็นสีเขียวอมเหลืองคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ใบเทียมเหลืองซีดและตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่แสดงอาการเป็นโรคให้ถอนแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก กำหนดระยะปลูกให้เหมาะสม ทำให้กอโปร่ง โดยการถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เก็บเศษซากพืช และวัชพืชออกจากแปลง หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ 50 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน สลับกับแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิเนบ 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

—————

3. โรคกิ่งไหม้หรือใบเทียมร่วง (Cercospora Leaf Blight) เกิดจากเชื้อรา Cercospora asparagi. เกิดอาการที่กิ่งแขนงที่เพิ่งแตกใหม่ และใบเทียม เป็นแผลกลมสีม่วงอมน้ำตาล หรือม่วงแดง ตรงกลางแผลมีสีเทาหรือขาวขุ่น ขอบแผลเป็นสีน้ำตาล ถ้าอาการรุนแรงทำให้กิ่งก้านและใบเทียมร่วงและต้นแห้งตายได้ ระบาดในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง โดยสปอร์ของเชื้อจะปลิวไปกับน้ำฝน หรือระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ได้ สามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด รักษาความสะอาดในแปลงปลูก ตัดแต่ง กิ่ง ก้านที่เป็นโรคออกจากแปลง และเผาทำลาย ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช พ่นคาร์เบนดาซิม 50% W/V/SC อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พ่นสลับกับแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

————–

4. โรคเน่าเปียก เกิดจากเชื้อรา Choanephora sp. จะมีลักษณะอาการส่วนของปลายยอดของต้นอ่อนที่กำลังแตกยอดเหี่ยว หรือหน่ออ่อนเน่า เหี่ยวฟุบ และพบเชื้อราสร้างเส้นใยสีเทายื่นออกมาเป็นก้านที่ปลายก้านมีตุ่มเล็ก ๆ สีดำ พบโรคระบาดในช่วงที่ฝนตกชุก และอากาศมีความชื้นสูง โดยสปอร์ของเชื้อจะปลิวไปกับน้ำฝน หรือระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ได้

การป้องกันกำจัด รักษาความสะอาดในแปลงปลูก ตัดแต่งและถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง และเผาทำลาย ควรให้น้ำแบบระบบน้ำหยด ถ้าพบการระบาดของโรคให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไตรโฟรีน 12% EC

———————

6. การเก็บเกี่ยว

-เลือกเก็บเกี่ยวหน่อซึ่งมีปลายหน่อแน่นไม่บานยาว 20-25 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางโคนมากกว่า 0.8 ซม.ใช้วิธีการถอนโดยจับโคนหน่อที่ติดกับดินแล้วดึงขึ้น รวบรวมผลผลิตใส่ภาชนะบรรจุที่สะอาด แล้วขนย้ายไปไว้ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกทันที
การไว้ต้น
-การไว้ต้นแม่จำนวน 5 ต้น/กอ ให้ผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ Brock’s Improve สูงที่สุดทั้งจำนวนหน่อและน้ำหนักหน่อที่เก็บเกี่ยวได้ แต่ไม่มีความแตกต่างกับการไว้ต้นแม่ 4 และ 6 ต้น/กอ
- เกษตรกรบางส่วนไม่ได้ไว้ต้นแม่ 4-5 ต้น ตามคำแนะนำในเอกสารระบบการจัดการคุณภาพ GAP หน่อไม้ฝรั่ง บางรายไว้ถึง 10 ต้น/กอ เนื่องจากเสียดายถ้าจะต้องตัดทิ้ง ทำให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ แต่หลายแปลงที่มองดูเหมือนไว้จำนวนต้น/กอ มากเกินกว่า 4-5 ต้นนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะใน 1 หลุมปลูก ไม่ได้มีหน่อไม้ฝรั่งเพียงต้นเดียว แต่มี 2-3 ต้น เนื่องจากปลูกด้วยวิธีการหยอดเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรงหรือปลูกจากต้นกล้าที่เพาะในถุง
-ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวและพักต้นหน่อไม้ฝรั่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยควรเป็นเก็บเกี่ยว 2 เดือนและพักต้น 1 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพต้นและแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืช
7. ต้นทุนการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง
เกษตรกรปลูกหน่อไม้ฝรั่งจะทำการปลูกหน่อไม้ฝรั่งโดยใช้พันธุ์บล็อกอิมพรู๊ฟ และเก็บพันธุ์ต่อมาเรื่อยๆ โดยจะมีการลงทุนปลูกปีแรกประมาณ 119,324.02 บาท และหลังจากปลูก 8 เดือน จึงจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตสร้างรายได้ให้เกษตรกร
ในปีที่ 2 ปีที่ 4 โดยต้นทุนทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งต้นทุนก่อนเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวเฉลี่ยไร่ละ 126,249.80 บาท หรือกิโลกรัมละ 33.19 บาท ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 44,915.35 บาท หรือกิโลกรัมละ 11.81 บาท
8. มาตรฐานหน่อไม้ฝรั่ง จะต้องมีคุณภาพขั้นต่ำ จะต้องมีมาตรฐานต่อไปนี้

(1) หน่อสด สมบูรณ์

(2) ไม่แคระแกรน ไม่คดงอ

(3) ปราศจากรอยช้ำ รอยถลอกที่เด่นชัด

(4) สะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้

(5) ไม่มีศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ทั่วไปของผลิตผล

(6) ไม่มีความเสียหายของผลิตผลเนื่องจากศัตรูพืช

(7) รอยตัดที่โคนหน่อต้องสะอาด

(8) ไม่มีกลิ่นและรสชาติที่ผิดปรกติ

(9) ปราศจากความชื้นภายนอกที่ผิดปกติ ยกเว้นหยดน้ำที่เกิดหลังการนำออกจากห้องเย็น หน่อไม้ฝรั่งได้มีการกำหนดมาตรฐานแล้วอยู่ใน มกอช. 1500-2547 ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

————————-

ก. ปัญหาการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง

1. ประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดี เกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งส่วนใหญ่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามีราคาแพง จึงมีการนำเข้ามาปลูกแทนพันธุ์เดิมน้อย ทำให้คุณภาพผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

2. การระบาดของศัตรูพืช มีโรคลำต้นไหม้ โรคเน่า และโรคใบทียมร่วง เนื่องจากพันธุ์ที่ปลูกไม่ต้านทานโรค ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก

3. ขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ที่ดี ทำให้ไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ดีกระจายออกสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง และมีต้นทุนสูงในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี เกษตรกรยังต้องใช้พันธุ์และเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำไปปลูก

4. สภาพพื้นที่ปลูกเดิมเสื่อมโทรม เช่น นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี เกษตรกรจึงต้องย้ายฐานการผลิตไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ ซึ่งไกลจากโรงงานแปรรูปที่มีการรับซื้อเพื่อส่งออก

5. เกษตรกรมีการเข้าร่วมการปฏิบัติตามที่ดี (Good Agricultural Practice) เพื่อผลิตหน่อไม้ฝรั่งยังมีจำนวนน้อย ทำให้หน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตออกมายังมีการปนเปื้อนจากสารตกค้าง

6. ตลาดส่งออกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตที่มีคุณภาพน้อย ทำให้ไม่สามารถส่งออกและรักษาตลาดเดิมไว้ได้

7. ยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีที่มีคุณภาพกระจายออกสู่เกษตรกร เกษตรกรจึงขาดเมล็ดพันธุ์ดีปลูก ทำให้พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลง

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

 

Category: พืชผัก, พืชผัก ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news