เบญจมาศ
เบญจมาศ (Chrysanthemum morifolium Ramat)
สถานการณ์ มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) 337 ล้านบาท และ มูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 5 ปี 1 ล้านบาท (ที่มา : กรมศุลกากร) เนื้อที่ปลูก ปี 2565 จำนวน 1,289.50 ไร่ โดยมีปี 2562 จำนวน 3,935.50 ไร่ ปลูกมากที่สุดและมีแนวโน้มลดลง เพราะการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ และการนำเข้าจากลาว แหล่งปลูกสำคัญ ปี 2565 คือ เชียงใหม่ และอุบลราชธานี
พันธุ์ที่นิยมเป็นการค้า
1.พันธุ์โพลารีส ดอกสีขาว และ สีเหลือง ก้านตรง ดูแลง่าย ดอกขนาดปานกลาง ออกช่วงเดือน พฤศจิกายน พฤษภาคม ของทุกปี
2.พันธุ์ขาวญี่ปุ่น ดอกสีขาวล้วน ดอกใหญ่ ก้านตรง ดูแลรักษายาก ตลาดต้องการสูง ราคาไม่ตกออกดอกช่วงเดือนตุลาคม มิถุนายน ของทุกปี
3.พันธุ์แคทอาย ดอกสีเหลือง เล็ก ก้านตรง ดูแลง่าย ออกดอกตลอดทั้งปีแต่ต้องคุมแสงให้ได้
4.พันธุ์การะเกด ดอกสีขาว ดอกใหญ่ ก้านตรง ออกดอกเฉพาะฤดูฝน ดูแลง่าย และต้องมีโรงเรือน
5.พันธุ์ขาวปิงปอง ดอกสีขาวเหมือนลูกปิงปอง ดูแลง่าย ออกดอกเดือน สิงหาคม มิถุนายน ของทุกปี
เบญจมาศที่มีปลูกในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
1. เบญจมาศชนิดดอกเดียว (Standard type) เป็นวิธีการจัดการเพื่อให้ได้ดอกเบญจมาศที่มีดอกขนาดใหญ่ ทั่วไปจะมีขนาดดอก 4-6 นิ้ว พันธุ์ที่นิยม เช่น ไรวารี (เหลืองดอกเดียว) ขาวญี่ปุ่น ขั้นตอนการปลูกมีดังนี้ เริ่มปลูกต้นกล้าเบญจมาศลงในแปลง ทำการเด็ดยอดต้นกล้าเพื่อให้แตกกิ่งข้าง 3-4 กิ่ง ให้แสงไฟ 1-1 เดือน จากนั้นในแต่ละกิ่งจะเด็ดดอกข้างทิ้งให้เหลือดอกยอดเพียงดอกเดียว อายุเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลา 90-110 วัน
2. เบญจมาศชนิดดอกช่อ (spray type) เป็นวิธีการจัดการเพื่อให้เบญจมาศมีหลายดอกต่อ 1 กิ่ง(ช่อ) และ ต้นหนึ่งจะมี 6-10 ช่อ แต่ขนาดดอกที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่าประเภทดอกเดียว โดยมีขนาดดอก 2-4 นิ้ว พันธุ์ที่นิยม เช่น ชมพูหวาน เหลืองขมิ้น ไรวารี (เหลืองดอกเดียว) ขาวญี่ปุ่น มีขั้นตอนการปลูก นำต้นกล้าเบญจมาศลงในแปลง ทำการเด็ดยอดต้นกล้าเพื่อให้แตกกิ่งข้าง 3-4 กิ่ง จากนั้นให้แสงไฟ 1-1 เดือน หลังปลูก 2 เดือนให้เด็ดดอกยอดทิ้ง เพื่อให้เกิดกิ่งข้างจำนวนมาก อายุเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลา 110-120 วัน
3. เบญจมาศชนิดกระถาง (potted plant) เป็นวิธีการจัดการเพื่อปลูกเบญจมาศในภาชนะสำหรับประดับในอาคาร ในประเทศไทยยังมีการพัฒนาน้อยแต่แนวโน้มมีความต้องการสูง พันธุ์ที่นิยม เช่น ชมพูหวาน เหลืองขมิ้น ไรวารี (เหลืองดอกเดียว) ขาวญี่ปุ่นมีขั้นตอนการปลูก นำต้นกล้าเบญจมาศลงในกระถางขนาด 4-6 นิ้ว จำนวน 5-10 ยอด (แล้วแต่พันธุ์ที่ปลูก) เด็ดยอดเพื่อให้แตกข้าง ให้แสงไฟ 2 สัปดาห์ หรือไม่ให้ก็ได้ หลังปลูกไว้ 1-2 เดือนจะเกิดตาดอก อายุเก็บเกี่ยว 45 -75 วัน
การเตรียมแปลงปลูก
1. ปลูกในแปลงขนาดกว้าง 1-1.20 เมตร ความยาวตามขนาดพื้นที่
2. ระยะปลูก 12.5-25 X 12.5-25 เซนติเมตร แล้วแต่ประเภทของพันธุ์เบญจมาศ หากเป็นพันธุ์ดอกเดียว ให้ปลูกชิดขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ดอกช่อ ต้องปลูกห่างขึ้น (* ระยะปลูกขึ้นอยู่ที่ความต้องการของเกษตรกรเอง โดยหากปลูกเบญจมาศแบบชิดมากเกินไปจะทำให้ดอกเบญจมาศเล็กลง แต่มีข้อดีที่จะได้จำนวนช่อดอกเพิ่มขึ้น)
3. ใช้ปูนขาว และปุ๋ยคอกคลุมทั่วแปลง ควรรองก้นหลุมโดย ปุ๋ยสูตร 15 15 15 อัตรา 20 กรัม/ต้น (เบญจมาศไม่ชอบดินที่มีความเป็นกรดหรือด่างเกินไป มักมีอาการขาดธาตุอาหาร (ใบเหลือง ต้นแคระแกรน และอาจไม่ใด้ผลผลิตเลย)
4. หลังปลูกให้แสงสว่างโดยใช้หลอดไฟกลมขนาด 60-100 walt หรือ หลอดนิออนยาว (หลอดฟลูออเรสเซ็น T5) ขนาด 28 wait หรือหลอดประหยัดไฟ LED 15 -22 wait (แล้วแต่จะหาได้ในพื้นที่) ติดห่างกัน 1.5 ม. สูงจากพื้น 1.5 ม. ในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. หรือ 22.00-24.00 น. เป็นเวลา 30-45 วัน (ตามความสูงที่ต้องการ)
5. การใส่ปุ๋ยเคมี ช่วง 0 60 วัน ใช้สูตรตัวหน้าสูง เช่น 30 20 10 อัตรา 20 กรัม/ต้น และหลังปลูกได้ 60 วันจนถึงระยะเวลาตัดดอกใช้สูตรตัวกล้าสูง เช่น 12 24 12 อัตรา 20 กรัม/ต้น
6. ควรใช้ตาข่ายพยุงตัวที่ระดับ 30 และ 60 เซนติเมตร
7. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
1. โรคใบจุด มักระบาดมากในช่วงฤดูฝน
2. โรคราสนิมขาว อาการที่ใบ เริ่มแรกเกิดจุดสีเหลืองขนาดเล็ก ที่ด้านบนของใบ แล้ว ขยายใหญ่ขึ้น ด้านใต้ใบที่ตำแหน่งเดียวกันเป็นจุดสีขาวนวล ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้น เป็นจุดนูนกลมสีขาวอมชมพู เมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว เนื้อใบตรงข้ามกลุ่มเชื้อถูกทำลายเป็นสีเหลือง ถ้าระบาดมากจะทำให้ใบเหลือง ไหม้ แห้ง และร่วง ถ้าโรคเกิดกับดอกตูม กลีบเลี้ยง กลีบดอกจะแห้ง ไม่คลี่บาน
การปัองกันกำจัด
1. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก
2. ตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
3. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค ไปเผาทำลาย นอกแปลงปลูก หากโรคยังคงระบาดพ่นทุก 7 วัน ด้วยสารไตรอะดิมีฟอน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
4. แปลงที่เกิดโรคระบาด งดการให้น้ำแบบพ่นฝอย ควรให้ระบบน้ำหยด
5. พื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
6. ฤดูปลูกถัดไป ควรใช้ต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค หรือแช่ต้นพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามข้อ ๑. และปลูกให้มีระยะห่างพอควร เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี
——————————————–
แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
1. เพลี้ยไฟ พบระบาดเกือบทั้งปี เข้าทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงที่ดอก ทำให้กลีบหงิกงอ ดอกมีสีคล้ำ หรือถ้าทำลายมากๆ จะเป็นสีน้ำตาลเหี่ยวแห้ง ถ้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นดอกตูมดอกจะไม่บาน หรือมีขนาดเล็ก กลีบดอกเหี่ยวแห้งจนเป็นสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบการระบาดพ่นทุก 3-4 วัน จนกว่าการระบาดลดลง โดยพ่นให้ถูกดอกโดยเฉพาะดอกตูม
2. หนอนกระทู้ผัก พบระบาดเกือบทั้งปี ทำลายได้ทุกส่วน โดยเฉพาะดอกอ่อน
—————————————–
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเบญจมาศอายุเก็บเกี่ยว 90-120 วัน (แล้วแต่พันธุ์) หรือเมื่อเห็นสีดอกชัดเจน (ตามสายพันธุ์) และดอกบาน 2 ใน 3 ของดอก การตัดดอกที่ความยาวก้านดอกไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร (ซึ่งความยาวช่อดอกจะขึ้นกับความต้องการของตลาด ซึ่งในตลาดในท้องถิ่นบ้างแห่งต้องการเพียง 30 เซนติเมตรเท่านั้น) และควรตัดในช่วงอากาศไม่ร้อนจัด
ทิศทางการวิจัย
1.วิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ไม้กระถาง
2.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของตลาด ดอกสีขาว ช่อใหญ่
3.วิจัยและพัฒนาการผลิตเพื่อรองรับตลาดแนวใหม่
Category: พืชไม้ดอก, พืชไม้ผล บ-ม