หน้าวัว
หน้าวัว (Anthurium / Flamingo Flower)
ชื่อสามัญ : Anthurium
ชื่อวิทย์ : Anthurium sp
วงศ์ : Araceae
ลักษณะพฤกศาสตร์
ประเภทหน้าวัว ได้แก่ ใบด่างเขียวกับขาว-เหลือง ใบด่างเขียวกับกลุ่มสีชมพู-ส้ม-แดง ใบด่างเหลืองทั้งใบ ใบสีอื่นๆ
พันธุ์หน้าวัว ได้แก่ พันธุ์ Florida(สีแดง) พันธุ์นาไก(สีแดง) พันธุ์ Acropolis(สีขาว) พันธุ์ Fantasia(สีชมพู)
- พันธุ์ Tropical สีแดง ขนาดจานรองดอก 7.40*10.40 ซม. อายุปักแจกัน 7 วัน จำนวนดอก 4 ดอกต่อปี
- พันธฺุ์ Merengue สีขาว ขนาดจานรองดอก 7.25*8.25 ซม. อายุปักแจกัน 8 วัน
- พันธุ์ห้างฉัตร 084 สีแดง ขนาดจานรองดอก 10.35*12.5 ซม. อายุปักแจกัน 12 วัน
- พันธุ์ห้างฉัตร 200 สีขาว ขนาดจานรองดอก 9.30*11.38 ซม. จำนวนดอก 6 ดอกต่อปี
1. การเตรียมโรงเรือน การปลูกหน้าวัวต้องใช้พลาสติกพรางแสงประมาณ 70 – 80% 2 ชั้น เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีความเข้มของแสงอยู่ประมาณ 20-30% ขนาดของแปลงปลูกหน้าวัวกว้าง 1.70 เมตร ความยาวของแปลงตามความต้องการทางเดินระหว่าง 0.80 เมตร แปลงจะใช้อิฐซีเมนต์บล็อกก่อให้สูง ขนาดเท่าอิฐบล็อก 1 ก้อน
วัสดุปลูก
ชั้นล่างสุด ใช้ทรายหยาบ หนาประมาณ 3 นิ้ว
ชั้นที่สอง ใช้อิฐทุบ ทุบให้ได้ขนาด 1-2 นิ้ว ใส่ในแปลงหนา 2-3 นิ้ว
ชั้นที่สาม ใช้ปุ๋ยหมัก หนา 2 นิ้ว ที่มีส่วนประกอบ และอัตราส่วนคือ
1. เศษไม้บด หรือใบจามจุรี หรือขี้เลื้อย ไม้เบญจพรรณ จำนวน 2 ส่วน
2. ขุยมะพร้าว จำนวน 2 ส่วน
3. ปุ๋ยคอก จำนวน 1 ส่วน
4. ปูนขาวเล็กน้อย
——————————————————–
การขยายพันธุ์หน้าวัวโดยทั่วไปนิยมใช้ส่วนต่างๆ ของต้น นำมาขยายพันธุ์ ได้แก่ การตัดยอด การแยกหน่อและการตัดต้นชำ
ขั้นตอนการขยายพันธุ์
1. การเตรียมวัสดุ ได้แก่ อิฐทุบ เปลือกถั่วลิสง หรือกาบมะพร้าว กระถางดินเผาขนาด 6-8 นิ้ว หรือกระบะ ก่อด้วยซีเมนต์บล็อก ขนาดกว้าง 1.20 เมตร
2. การเตรียมต้นพันธุ์ ต้นหน้าวัวที่จะตัดยอดขยายพันธุ์ ควรมีลำต้นสูงขึ้นมาเหนือเครื่องปลูกมีใบ 5-6 ใบ และมีรากอยู่ 2-3 ราก
3. วิธีการขยายพันธุ์ ตัดส่วนยอดต้นหน้าวัวให้มีใบติดอยู่ 2-3 ใบ และมีรากยาวพอติดอยู่ 1-3 ราก เพื่อให้ส่วนยอดที่นำมาปลูกสามารถตั้งตัวและเจริญเติบโตได้เร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แล้วนำส่วนยอกไปปลูกในกระถางหรือกระบะที่ใส่เครื่องปลูกเตรียมไว้แล้ว ต้นตอที่ตัดยอดไปแล้ว ควรมีใบเหลือติดอยู่ 1-2 ใบ เพื่อให้ตางอกหน่อใหม่ได้เร็วขึ้น เมื่อหน่อเจริญขึ้นและมีรากอยู่ 1-3 ราก ก็สามารถตัดแยกหน่อไปปลูกได้ จำนวนหน่อที่เกิดใหม่มี 1-3 หน่อ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ หน้าวัวบางพันธุ์มีการเกิดหน่อมาก บางพันธุ์ก็มีหน่อน้อย ต้นหน้าวัวที่ปลูกนานๆ โดยไม่ได้ตัดส่วนยอดไปขยายพันธุ์ จะเจริญเติบโตสูงขึ้นโดยทิ้งใบแก่ที่อยู่ล่างๆ ทำให้มีส่วนของลำต้นยาว ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ต้นล้ม จึงควรตัดส่วนยอดนำไปปลูกใหม่ ส่วนของลำต้นยาวที่เหลือสามารถตัดเป็นท่อนๆ ให้แต่ละท่อนมีตาติดอยู่ 2-3 ตา นำไปปักชำในทราย อาจจะวางนอนหรือปักชำให้เอียงทำมุม 45 องศา รดน้ำให้ชื้น ตาที่อยู่ตรงข้อก็จะเจริญขึ้นมาเป็นหน่อใหม่
4. การดูแลรักษา
- การให้น้ำ หน้าวัวต้องการความชื้นสูง ควรให้นำวันละ 2 ครั้ง โดยใช้บัวรดน้ำหรือใช้สายยางต่อหัวฉีดให้น้ำช่วงเช้าหรือบ่าย
- การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเคมีละลายช้าสูตร 14-14-14 ใส่ทุก 3 เดือน อาจให้ปุ๋ยทางใบสูตร 10-45-10 ฉีดพ่นทุก 15 วัน
- การป้องกันกำจัดศัตรูพืช พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงทุก 7-10 วัน
2.การปลูก ปลูกในโรงเรือนพรางแสง 70 เปอร์เซนต์ พรางแสง 2 ชั้น ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซนต์ อุณหภูมิ 14-30 องศาเซลเซียส
- การปลูกแปลง ระยะปลูก 30 x 30 ซม. อย่าให้วัสดุปลูกทับถมยอดของหน้าวัว เพราะจะทำให้ต้นหน้าวัวเน่าตายได้
- การปลูกในกระถาง ใช้กระถางดินเผา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 10 นิ้ว ใส่อิฐทุบขนาด 1 2 นิ้ว รองก้นกระถางประมาณ 1 ใน 3 ส่วน โรยวัสดุส่วนผสมอิฐหนาประมาณ 2 นิ้ว แล้วนำต้นหน้าวัวที่มีใบติด 2-3 ใบ ทารอยแผลป้องกันเชื้อรา วางบนวัสดุปลูก แล้วเติมวัสดุปลูกให้ยึดกับลำต้น แต่อย่าให้ทับถมยอดของต้นหน้าวัว
3. การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 อัตรา 1 ช้อนชา/ต้น/เดือน ร่วมกับปุ๋ยละลายทุก 3 เดือน ใช้ปุ๋ยเกร็ดละลายสูตร 15-30-15 อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเสริมทุก 20 วัน
4. การให้น้ำ การรดน้ำ เมื่อปลูกหน้าวัวเสร็จ จะรดน้ำทันทีให้ชุ่ม วันต่อๆ ไปจะรดน้ำ 2 3 ครั้ง แล้วแต่สภาพอากาศ ถ้าวันไหนร้อนมากจะรด 3 ครั้ง ใช้หัวฝักบัวรดน้ำ หรือให้น้ำแบบหัวเหวี่ยง
—————————–
5. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
5.1 โรคพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
1. โรคเน่าดำ หรือใบแห้ง( phytophthora parasitica Dastur )
ลักษณะอาการและความเสียหาย เชื้อสามารถเข้าทำลายพืช ได้ทั้งทางใบและโคนต้นอาการเริ่มแรกที่เกิดเป็นแผลฉ่ำน้ำต่อมาแผลขยายเป็นวงกลม หากสภาพในโรงเรือนชื้นแฉะแผลจะลุกลามขยายใหญ่ สังเกตบริเวณขอบแผลมีลักษณะช้ำเป็นสายตามการเจริญของเส้นใยในที่สุดทำให้ใบเน่าช้ำ สำหรับการเข้าทำลายที่โคนต้นและทางรากมีอาการโคนต้นช้ำเป็นสีน้ำตาลรากเน่าดำ เมื่อดึงใบพืชเบา ๆ ก้านใบจะหลุดออกจากต้นได้ง่าย
การป้องกันกำจัด
1. ควรปรับสภาพโรงเรือนให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป
2. ไม่รดน้ำให้วัสดุปลูกชื้นแฉะ รักษาความสะอาดของโรงเรือน เมื่อเริ่มพบโรคให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวบรวมออกเผาทำลายนอกแปลง
3.พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรค เมทาแลกซิล หรือ ฟอสฟอรัส แอชิค เมื่อพบโรคระบาด
———————-
2. โรคแอนแทรคโนส Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc.
ลักษณะอาการและความเสียหาย เชื้อราเข้าทำลายพืชที่ใบ จานรองดอก และปลี ลักษณะแผลที่ใบและจานรองดอกเป็นแผลจุดสีน้ำตาล ค่อนข้างกลม เมื่อสภาพอากาศร้อนชื้น แผลขยายใหญ่ขึ้น ขอบแผลเป็นสีน้ำตาล มีกลุ่มราขึ้นเห็นเป็นจุดสีดำ เล็ก ๆ เป็นวงซ้อนกันออกไปจากบริเวณกลางแผล อาการที่ปลีดอก เกิดเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ จากนั้นแผลจะขยายเห็นเป็นรูปเหลี่ยมตามรูปทรงของดอกย่อย เมื่ออาการรุนแรงขึ้นทำให้ปลีไหม้เป็นสีน้ำตาลถึงดำ
การป้องกันกำจัด
1. ควรปรับสภาพโรงเรือนให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป
2. ไม่รดน้ำให้วัสดุปลูกชื้นแฉะ รักษาความสะอาดของโรงเรือน เมื่อเริ่มพบโรค ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรครวบรวมออกเผาทำลายนอกแปลง
3. พ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เมื่อพบโรคระบาด
—————————-
3. โรคลำต้น และรากเน่า
ลักษณะอาการและความเสียหาย อาการที่เห็นเริ่มต้นใบล่างหน้าวัวแสดงอาการเหลืองและลามขึ้นสู่ใบด้านบน ใบหลุดจากต้นง่าย บริเวณโคนต้นหรือรากเปื่อยผุ เป็นสีน้ำตาล เชื้อเห็ดเจริญแย่งน้ำและอาหารของพืช ที่โคนต้นหน้าวัวมีเส้นใยสีขาวลักษณะหยาบขึ้นปกคลุมกระถางและวัสดุปลูกมีเส้นใยขึ้นคลุม เส้นใยเห็ดทำให้วัสดุปลูกผุเปื่อยยุ่ย เมื่อสภาพความชื้นเหมาะสมเส้นใยจะเจริญเป็นดอกเห็ด
การป้องกันกำจัด
1. ควรปรับสภาพโรงเรือนให้มีการถ่ายอากาศได้สะดวก ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป
2. ใช้วัสดุปลูกที่สะอาด ปราศจากเชื้อราไม่รดน้ำให้วัสดุปลูกชื้นแฉะ รักษาความสะอาดของโรงเรือน
3. เมื่อเริ่มพบโรคให้แยกต้นที่เป็นโรคออก ตัดแต่งส่วนที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย รวบรวมออกเผาทำลายนอกแปลง จุ่มแช่ต้นหน้าวัวที่ดีอยู่ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช คาร์บอกซิล ให้เปียกชุ่ม ก่อนย้ายปลูกในวัสดุปลูกใหม่
4. ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช คาร์บอกซิล ราดบริเวณโคนต้นและวัสดุปลูกที่มีเส้นใยขึ้น
—————————————
4. โรคใบจุด (Yellow spots)
ลักษณะอาการและความเสียหาย ด้านหลังใบเริ่มปรากฏอาการมีจุดสีเหลือง ขนาดเล็กกว่าหัวเป็นหมุดกระจายทั่วใบมากน้อยแตกต่างกันไป อาการปรากฏทั้งใบอ่อนใบแก่ ด้านล่างที่ตรงกับจุดสีเหลืองเมื่อเกิดแผลใหม่ๆ เป็นรอยบุ๋มขนาดเล็ก เหมือนรอยเอาหมุดปักบนกระดาษหรือผ้า นานไปแผลดังกล่าวนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนไม่ขยายลุกลามออกไป
การป้องกันกำจัด ใช้ยาป้องกันกำจัดแมลงจำพวกปากดูดฉีดพ่น ควรเป็นยาประเภทดูดซึมจะได้ผลดีที่สุด
————————————————
5.2 แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
1. เพลี้ยไฟ (Thrips)
ลักษณะอาการและความเสียหาย เพลี้ยไปทำความเสียหายให้แก่ดอกหน้าวัวเป็นอย่างมาก ทำให้ดอกมีตำหนิ ส่งตลาดไม่ได้ ในกรณีที่ระบาดรุนแรง จะทำความเสียหายแก่ดอกทุกดอกในโรงเรือนนั้น
ลักษณะการทำลาย
ใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงดอกที่ยังไม่คลี่ เริ่มตั้งแต่ เมื่อดอกเริ่มโผล่จากโคนใบ ทำให้ดอกเมื่อบานจะบิดงอผิดส่วน รอยแผลจะเป็นทางสีขาว หรือน้ำตาล ด้านบนหรือใต้ใบประดับ หากต้องการสำรวจเพลี้ยไฟด้วยตาควรสำรวจช่วงเช้า เพราะช่วงกลางวันที่มีอุณหภูมิสูงเพลี้ยไฟจะหลบซ่อนในวัสดุปลูก ทำให้ไม่เห็นตัว
สภาพที่เหมาะสมในการระบาด อุณหภูมิสูง และความชื้นต่ำ
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทดูดซึม ได้แก่ เม็ทโธมิล อะบาเม็คติน หรือ ฟิโปรนิล ติดต่อกัน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5 วัน
——————————————-
2. ไรแดง และไรขาว (spider mite, mite)
ลักษณะอาการและความเสียหาย ใช้ปากดูดน้ำเลี้ยง ไรแดงทำให้ใบเป็นจุดสีขาวบนใบและดอก และจะชักใยอยู่ใต้ใบ ไรขาวทำให้ใบและดอกสีจาง และยังทำให้ผิวใบและจานรองดอกด้าน
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีไดโคโฟล หรือ อะบาเม็คติน ฉีดพ่นทุกๆ 5 – 7 วัน
————————————
3. ทากและหอยทาก (Snails)
ลักษณะอาการและความเสียหาย ดอกและใบถูกกัดกิน ในที่มีหอยทากระบาด เราจะพบรอยทางเดินเป็นทางเมือกสีเทาเงินสะท้อนแสงเมื่อแห้งสนิทให้เป็นที่สังเกต
สภาพที่เหมาะสมในการระบาด บริเวณที่ร่มเย็น มีความชื้นสูง
การป้องกันกำจัด ใช้ปูนขาวโรบก้นกระถางและรอบๆ ใช้น้ำยาแคลเซียมคลอไรด์อัตราส่วน 80 กรัม ต่อ น้ำ 1 ปีบ รดหน้าวัวที่มีหอยทากระบาด ทากจะหนีออกมาจากที่หลบซ่อนจึงจับทำลาย หรือหว่านสารเคมีเม็ทโธโอคาร์ อัตรา 60 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร หรือใช้ นิโคลซาไมล์ 70 % WP 40 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร
——————————————————-
6. การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
การตัดดอก เริ่มตัดเมื่อปลีมีสีเขียวจากโคนดอกประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2 ใน 3 ของปลีดอกควรตัดให้ก้านดอกเหลือติดกับต้นประมาณ 4-5 ซม. เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อง่าย ดอกที่ตัดแล้วควรจุ่มปลายก้านดอกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ฟายแซน – 20 อัตรา 5 cc. ต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วควรแช่ก้านในน้ำสะอาด และวางในที่ร่ม
การขนส่ง ระยะใกล้ ๆ ภาชนะที่บรรจุน้ำสะอาดแยกขนาดดอกมัดรวมกัน โดยไม่ให้จานรองดอกเบียดกันแล้วจัดใส่ภาชนะบรรจุน้ำสะอาด สำหรับการขนส่งระยะไกลจะบรรจุในกล่องกระดาษ ซึ่งมีถาดกระดาษสำหรับยึดจานรองดอก
เกณฑ์การคัดเลือกหน้าวัวตัดดอกรูปหัวใจ
1. จานรองดอก ต้องสีสดใสเป็นมัน แบ่งเป็นกลุ่ม สีส้ม ชมพู แดง เขียว และขาว
2. การบรรจุหีบห่อง่าย คือ หูจานชิด และไม่ตั้งขึ้น โดยหูจานแยกจากกันจนถึงโคนปลี ร่องน้ำตาตื้น และขอบจานรองดอกไม่ม้วนกลับ
3. รูปทรงของจานรองดอกมีความสมมาตรเหมือนกันทั้งสองข้าง
4.ก้านดอกตรงแข็งแรง และยาวกว่า 30 ซม.
5.กลีบดอก ทำมุมประมาณ 60 องศา และสั้นกว่าจานรองดอกเล็กน้อย
6.อายุการปักแจกันมากกว่า 10 วัน
Category: พืชไม้ดอก