banner ad

เผือก

| May 18, 2016

เผือก (Taro)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocacia esculenta (L.) Schott.

ชื่อวงศ์ : Araceae

ชื่ออื่นๆ : ลกกะเซีย (lok-ka-sia) ยัวเทีย (yautia) แทนเนีย (tannia)

แหล่งกำเนิดของเผือกมาจากอินเดียโดยเพาะปลูกกันมาตั้งแต่ราว 9,000 ปีมาแล้ว และจากอินเดีย เผือกแพร่กระจายออกไปทางตะวันออกสู่จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก และทางตะวันตกสู่ทวีปแอฟริกา ประชาชนชาวเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะชาวโพลินิเซีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของเกาะฮาวายเป็นพวกที่บริโภคเผือกมากที่สุดในโลก โดยจะบริโภคเผือกเป็นอาหารหลักแทนข้าว

ปัจจุบันเผือกเป็นพืชหัวเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยส่งออกทั้งในรูปหัวเผือก ก้านเผือก และใบเผือก ประเทศไทยส่งออกหัวเผือกมูลค่ากว่า 69.8 ล้านบาท ตลาดต่างประเทศที่สำคัญมีเวียตนาม จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกเผือกประมาณ 41,394 ไร่ ผลผลิตประมาณ 102,126 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2.1 ตันต่อไร่

แหล่งปลูกเผือกที่สำคัญในประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สระบุรี สิงห์บุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และชุมพร

ปัจจุบันมีเผือก 200 พันธุ์อยู่ในประเทศไทย เผือกเป็นพืชมีอายุอยู่ได้หลายฤดู ลำต้นใต้ดินเจริญเติบโตกลายเป็นหัว และมีหัวเล็กๆ ล้อมรอบ หัวมีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันออกไป ต้นสูง 0.4-2 เมตร ใบใหญ่เป็นรูปหัวใจมีขนาดสีต่างๆ กัน ใบเกิดจากใต้ดิน ดอกประกอบด้วย 2-5 ช่อดอกอยู่ในก้านใบ ช่อดอกมีก้านยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกทยอยบาน มักจะไม่พบดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้หนึ่งดอกมีก้านเกสรตัวผู้ 2-3 อัน ผลมีสีเขียวเปลือกบาง ไม่ค่อยมีเมล็ด เผือกที่ปลูกในฮาวาย นิวกินี และโดมินิกัน สามารถติดเมล็ดได้

พันธ์ุเผือก

1.พันธุ์พื้นเมือง

2.พันธุ์พิจิตร 1 มีกลิ่นหอม เนื้อมีสีขาวปนม่วง

3. พันธุ์ พจ.011 (Sree Rasmi) ให้ผลผลิต 6.8 ตันต่อไร่

4. พันธุ์พจ.02 (ก้านแดงพิจิตร) ให้ผลผลิต 1.5 ตันต่อไร่

5. พันธุ์ THA 022 เนื้อมีสีเหลือง เนื้อเหนียวละเอียดเหมาะสำหรับทำขนม แต่มีหน่อข้างเยอะ
6.ผือกหอม เป็นเผือกชนิดหัวใหญ่ เนื้อสีขาวอมม่วงอ่อน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 7-8 เดือน น้ำหนักหัวประมาณ 2-3 กิโลกรัม กาบใบใหญ่สีขาว เมื่อต้มสุกแล้วมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

การปลูกและดูแลรักษา

การนำหัวเผือกที่มีขนาดเล็กๆ เท่าหัวแม่มือ ใช้ระยะปลูกประมาณ 30 x 30 เซนติเมตร คลุมด้วยฟาง รดน้ำ อายุเผือกที่ปลูกด้วยกล้าประมาณ 30 วัน หรืองอกมีใบจริงประมาณ 3-4 ใบ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ทุกเดือน อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่  พันธุ์ที่ลูกห่างต้นจะดูแลรักษาง่ายกว่า พันธุ์ที่ลูกถี่ ถ้าปล่อยไว้นานแก่มากๆ จะเป็นเส้นที่หัว การให้ได้สมบูรณ์แข็งแรง ใช้น้ำขี้หมูรดจะทำให้เพิ่มผลผลิต การที่เผือกลำต้นแตกและมีรูปทรงที่ผิดปกติเรียกว่า เผือกแตกง่าม

ศัตรูเผือก

แมลงศัตรูเผือก

1. หนอนกระทู้ผัก หนอนระยะแรกเข้าทำลายเป็นกลุ่ม ในระยะต่อมาจะทำลายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบ การเข้าทำลายมักเกิดเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ และมักแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

ก. ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์ของหนอนกระทู้ผัก
ข. ใช้วิธีกล โดยการเก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย จะช่วยลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
ค. ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis (Bt) อัตรา 60–80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด
ง. ใช้นิวเคลียร์โพลีฮีโดรซีสไวรัส หรือ เอ็นพีวีหนอนกระทู้ผัก อัตรา 40-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็กจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็วกรณีหนอนระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ติดต่อกัน 2 ครั้ง ทุก 4 วัน
จ. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด

2. ไรแดง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณหน้าใบหรือด้านบนใบ แต่ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง ประชากรของไรหนาแน่น อาจพบการทำลายของไรที่บริเวณหลังใบ ทำให้ใบมีสีเขียวจางลง เนื่องจากสูญเสียคลอโรฟิลล์ หากมีการระบาดรุนแรง อาจทำให้ใบร่วงในที่สุด

การป้องกันกำจัด

ก. หมั่นสำรวจใบส้มทุกสัปดาห์ในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม – พฤษภาคม และในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วง ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม
ข. เมื่อพบไรแดงแอฟริกันเริ่มลงทำลายให้ทำการป้องกันกำจัด โดยการให้น้ำติดต่อกันหลายๆ ครั้ง
ค. หากมีการระบาดรุนแรง โดยสามารถสังเกตเห็นใบเริ่มมีสีเขียวจางลง และเมื่อใช้แว่นขยายส่องดู พบตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดทำลายอยู่ทั่วไปบนใบ ให้ทำการป้องกันกำจัดด้วยสารฆ่าไรชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซีไทอะซอกซ์ 2% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โบรโมโพรไพเลต 25% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคศัตรูเผือก

1.โรคใบไหม้ หรือใบจุดตาเสือ (เชื้อรา Phytophthora colocasiae) อาการบนใบ พบจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายใหญ่ มีลักษณะเป็นวงซ้อนกันคล้ายดวงตา ในช่วงเช้าหรือเมื่ออากาศยังมีความชื้น จะพบหยดสีส้มบริเวณแผล หากโรครุนแรงแผลจะขยายติดกัน ทำให้ใบไหม้ ต่อมาใบจะเหี่ยวม้วนพับเข้า ใบแห้ง หรือใบอาจเน่า หากอากาศมีความชื้นหรือมีฝนพรำ อาการบนก้านใบ พบจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายใหญ่ลักษณะยาวรี สีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม ทำให้ก้านใบช้ำ ใบเหี่ยว ก้านหักพับได้ง่าย ในแปลงที่เป็นโรครุนแรง เผือกจะมีจำนวนใบเหลือน้อย ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต และเชื้อสาเหตุโรค อาจเข้าทำลายหัวเผือก ทำให้หัวเผือกเน่า

การป้องกันกำจัดโรค
ก. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีทาบอกแซม 10.4% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น ทั้งบริเวณใบและก้านใบ ทุก 5-7 วัน
ข. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และควรหลีกเลี่ยงไม่ปลูกเผือกซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

ในฤดูถัดไป
A. หลีกเลี่ยงการปลูกเผือกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
B. ไถพรวนดินและใส่ปูนขาว ตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก
C. ในแหล่งที่พบการระบาดของโรค ควรใช้พันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรค เช่น พันธุ์ พจ.6
D. ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งที่ไม่พบการระบาดของโรค
E. ควรจัดระยะปลูกเผือกให้เหมาะสม ไม่ควรปลูกชิดกันเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

การเก็บเกี่ยว 

เก็บเกี่ยวที่อายุ 8 เดือน  ผลผลิตเผือกต่อไร่ 1,400-1,200 กิโลกรัม ราคาเผือกเฉลี่ย 20-30 บาท/กิโลกรัม

แบ่งเกรดที่ขายกันในท้องตลาด

1. จัมโบ้ น้ำหนักมากกว่า 850 กรัม จะเขียนที่ถุง O

2. ใหญ่ น้ำหนัก 650-850 กรัม

3.กลาง น้ำหนัก 450-650 กรัม จะเขียนที่ถุง x

4.ป๊อใหญ่ น้ำหนัก 250-450 กรัม  จะเขียนที่ถุง ปย

5.ป๊อเล็ก น้ำหนัก 100-250 กรัม จะเขียนที่ถุง ปล

6.ปาด น้ำหนัก 50-100 กรัม

เกณฑ์การคัดเลือกพันธ์ุดังนี้

ก. ทรงต้น (growth form) เตี้ยกว่า 100 เซนติเมตร ข. อายุเก็บเกี่ยวต่ำกว่า 6 เดือน
ค. น้ำหนักหัวต่อต้นมากกว่า 500 กรัม ง. จำนวนหน่อต่อต้นน้อยกว่า 15 หน่อ
จ. เปอร์เซ็นต์แป้งสูง

ฉ. ประเมินความรุนแรงของโรคใบไหม้

1) พื้นที่ใบเป็นโรค 0 % (HR = Highly resistant) 2) พื้นที่ใบเป็นโรค 1-5 % (R = Resistant)
3) พื้นที่ใบเป็นโรค 6-25 % (MR = Moderately resistant) 4) พื้นที่ใบเป็นโรค 26-50 % (Moderately susceptible)
5) พื้นที่ใบเป็นโรค 51-75 % (S = Susceptible) 6) พื้นที่ใบเป็นโรค 76-100 % (HS = Highly susceptible)

 

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์

Satja Prasongsap (Research Scientist)

Horticulture Research Institute

Category: พืชผัก, พืชผัก บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news