banner ad

มะนาว

| November 29, 2012 | 0 Comments

มะนาว

ชื่ออื่นๆ : ลีมานีปีห์ ส้มมะนาว มะลิว สิมานิปี ปะโหน่งกลยาน โกร้ยชะม้าง ปะนอเกละ มะเน้าด็ล

ชื่อวงศ์ : RUTACEAE

ชื่อสามัญ : Lime

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantifolia (Christm.et Panz.) Swing.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดย่อม สูง 2-4 ม. กิ่งอ่อนมีหนาม ใบเดี่ยวรูปไข่ ปลายโค้งแหลมเล็กน้อย โคนมน ขอบชิดโค้งเล็กๆ มีต่อมน้ำมันเล็กๆทั่วไป ก้านใบมีครีบเล็กๆ ออกเรียงสลับกัน ดอกเล็กสีขาว เกสรเหลือง เป็นช่อ ผลกลมผิวสีเขียวมัน มีต่อมน้ำมัน

การนำไปใช้ประโยชน์ : แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และปวดท้อง ใช้ผิวผลสดประมาณครึ่งผล ชงน้ำดื่ม แก้ไอ และขับเสมหะ ใช้ผลสดคั้นเอาน้ำใส่เกลือจิบบ่อย ๆ

การขยายพันธุ์ : เมล็ด ติดตา ตอนกิ่ง ทางกิ่ง แต่ที่นิยมกันมาก ได้แก่การตอน

การเลือกซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว

1.เป็นยอดพันธุ์ดีที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นยอดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป มีตาที่สมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ตา
3.ต้นตอได้จากเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง/พันธุ์เฉพาะที่ต้องการ ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง มีขนาดใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดี
4.ต้นพันธุ์ที่เสียบยอด ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว
5.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
6.รอยแผลจากการเสียบยอดต้องประสานสนิท และต้องนำวัสดุที่พันรอยแผลออก
7.ต้นพันธุ์มีความสูงไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร โดยวัดจากโคนต้นในระดับดินถึงปลายยอด
8.ต้นพันธุ์ที่พร้อมจำหน่ายหรือพร้อมปลูกต้องมีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหารหรือการทำลายของโรคและแมลง
9.ต้องชำในภาชนะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือนหากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
10.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

การปลูกและการดูแล : การปลูก ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะกินโปร่งร่วนซุย ขุดหลุมกว้างยาว และลคกด้านละ 60 ซม. ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกรองเศษหลุม นำกิ่งตอน และปลูกตรงกลาง กลบดินพอมิด ควรมีไม้ปักไว้และผูกเชือกมัดกับต้นกันโยก และทำร่มบังให้ด้วย ถ้าปลูกในที่ลุ่มควรยกโคกให้สูงพอควร เพื่อป้องกันรากถูกน้ำมากเกินไป การดูแล ในการเพาะปลูกใหม่ ๆ ต้องรดน้ำทุกวัน และคอยสังเกตอย่าให้ใบมะนาวเหี่ยว ควรปลูกไม้ทำร่มให้เมื่อมะนาวอายุ 1-2 ปี แต่เมื่อต้นแข็งแรงดีแล้วต้องตัดไม้บังร่มออกให้หมด เพื่อมิให้เกิดการแย่งแสงแดดกัน และควรมีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้อากาศและแสงแดดส่งได้ทั้งต้น

——————————————————————————————————

ศัตรูมะนาว

1. หนอนชอนใบส้ม กัดกินภายใต้ผิวของใบอ่อนและยอดอ่อน รอยทำลายปรากฏเป็นทางคดเคี้ยวไปมาบนใบตามทางที่หนอนเดิน ทำให้ใบหงิกงอ แห้ง ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ใบอาจจะร่วงก่อนกำหนด รอยแผลจาก การกัดกินยังเป็นช่องทางการเข้าทำลายของโรคแคงเคอร์

การป้องกันกำจัด

ก. ตัดแต่งใบอ่อนที่ถูกหนอนทำลายมาเผาไฟ

ข. หากพบการระบาด พ่นปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อะบาเมกติน 1.8% W/V EC อัตรา20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ค่า PHI 5 วัน

——————————————–

2. แมลงค่อมทอง กัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนหากทำลายมากจะกินใบอ่อนจนเหลือแต่ก้านใบ

การป้องกันกำจัด

ก. เขย่าต้นหรือกิ่งและเก็บตัวแมลงไปทำลาย

ข. ป้องกันกำจัดโดยพ่น คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

———————————————-

3. หนอนแก้วส้ม เมื่อมีการแตกใบอ่อน ผีเสื้อหนอนแก้วส้มจะวางไข่บริเวณยอดอ่อน เมื่อฟักออกมาหนอนจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อน การทำลายรวดเร็วมากขึ้นอยู่กับขนาดของหนอน หากการระบาดรุนแรงหนอนจะกัดกินใบอ่อนหมดต้นภายใน 2-3 วัน ต้นอาจตายได้

การป้องกันกำจัด

ก. หมั่นสำรวจแปลงปลูก ในระยะแตกใบอ่อนสามารถเห็นไข่ หนอน หรือดักแด้ ได้ค่อนข้างชัดเจน ให้เก็บทำลาย เพื่อเป็นการลดประชากร

ข. บังคับยอดให้แตกพร้อมกัน เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา

ค. หากพบการระบาดมาก อาจจำเป็นต้องพ่นด้วยสารฆ่าแมลง โดยเฉพาะในแปลงที่ปลูกใหม่

—————————————————-

4. โรคแคงเคอร์ อาการบนใบ เริ่มแรกเป็นจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้น เห็นเป็นแผลจุดนูนลักษณะฟูคล้ายฟองน้ำมีสีเหลืองอ่อน จากนั้นแผลจะเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแข็งสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลยุบตัว ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณรอบๆ แผลปรากฏวงสีเหลืองล้อมรอบ แผลจุดนูนสีน้ำตาลพบทั้งผิวใบด้านบน และผิวใบด้านล่าง โดยเห็นชัดเจนบนผิวใบด้านล่าง แผลเกิดได้ทั้งบนใบและก้านใบ ทำให้ใบเหลืองร่วงก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังพบอาการที่กิ่งและผลของมะนาวด้วย

การป้องกันกำจัด

ก. ตัดแต่ง ใบ กิ่ง และผลที่เป็นโรค และเก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลาย เพื่อลดการระบาดของโรค

ข. หลังการใช้อุปกรณ์การเกษตรกับต้นที่เป็นโรค ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนนำไปใช้กับต้นอื่น

ค. หมั่นสำรวจอาการของโรคอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเริ่มมีการระบาด ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร คิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น พ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง

ง. กำจัดแมลงพวกหนอนชอนใบ โดยเฉพาะช่วงที่มะนาวแตกยอดอ่อน

——————————

การใช้ฮอร์โมน

1. การผลิตมะนาวนอกฤดู ใช้สาร Paclobutrazol

- สภาพดินทราย ให้สารทางดิน อัตรา 1.0 – 1.50 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร

- สภาพดินเหนียว อัตรา 0.25 – 0.50 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร โดยให้สารช่วงปลายเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ก.ย.

2. การปลิดผลอ่อนเพื่อการทำนอกฤดู

- สาร NAA ความเข้มข้น 2,000 มก./ล. พ่นในระยะติดผลขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว

- สาร Ethephone ความเข้มข้น 200 มก./ล. พ่นในระยะติดผลขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว

3. การยืดอายุการเก็บรักษา

- สาร NAA ความเข้มข้น 100 มก./ล. โดยจุ่มผลมะนาวหลังการเก็บเกี่ยวลงในสารละลาย

—————————————————————————————————-

สรรพคุณ

ราก แก้คลั่ง เพ้อ แก้ปวด แก้ฟกช้ำ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปวดฝี แก้ไข้หัว ถอนพิษ

ใบ แก้ปวดหัว ปวดท้อง แก้ไข้ แก้ดีซ่าน แก้ไอ

ผล ขับเสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ บำรุงเลือด แก้ปวดหัว แก้สิว แก้เมา แก้บิด บำรุงกำลัง คุมกำเนิด เจริญอาหาร

เมล็ด ขับเสมหะ แก้ไข้ แก้อาเจียน แก้ฝี

ผล แก้ลมวิงเวียน เบื่ออาหาร บำรุงกระเพาะ

น้ำในลูก แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต

Tags: , , , , ,

Category: พืชผัก, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news