banner ad

บทสรุปผู้บริหารกล้วยไข่

| December 28, 2015

บทสรุปผู้บริหารกล้วยไข่

ปัจจุบันกล้วยไข่นับเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพในการส่งออกสูง ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ จีน ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยในปี 2555 มีพื้นที่ปลูกประมาณ 74,000 ไร่ผลผลิต 172,587 ตัน ส่งออก 15,502 ตัน จากผลการศึกษาของ Sangudom (2013) เรื่องการจัดการการผลิตและการจัดการคุณภาพในโซ่อุปทานการผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออกในแหล่งผลิตที่สำคัญ 2 แหล่งคือภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรี และภาคเหนือจังหวัดสุโขทัย พบว่าในโซ่อุปทานของกล้วยไข่จังหวัดจันทบุรีประกอบด้วย 3 ส่วนคือ เกษตรกร ผู้รวบรวม(ล้ง) และผู้ส่งออก ส่วนของจังหวัดสุโขทัยประกอบด้วย 2 ส่วนคือ เกษตรกร และผู้ส่งออก และทั้ง 2 แหล่ง เกษตรกรได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานส่งออก 60-70 % ผลผลิตตกเกรด 30-40% และจำนวนเกษตรกรเข้าระบบ GAP น้อย สำหรับสาเหตุที่ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานมีทั้งตำหนิที่ผิว(15-30%) โรคและแมลง(5-20%) ขนาดหวีเล็ก(10-30%) อายุเก็บเกี่ยวอ่อนหรือแก่เกินไป(5-10%) การชอกช้ำหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง(5-10%) นอกจากนี้ขั้นตอนการปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยวบางประการและการจัดการของโรงคัดบรรจุไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตตกเกรดต่ำกว่าราคาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน 8-10 เท่า นอกจากนี้พบว่าในช่วงเวลาที่ตลาดต้องการสูงมีปริมาณผลผลิตน้อย และพบว่าต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง โดยเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีและสุโขทัย มีต้นทุนการผลิต 19,100 และ 21,720 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยเป็นต้นทุนด้านปัจจัยการผลิต 9,100 และ 10,700 บาท/ไร่ ด้านแรงงาน 6,500 และ 9,020 บาท/ไร่ และต้นทุนด้านอื่นๆ 3,500 และ 2,000 บาท/ไร่

บทสรุปผู้บริหารกล้วยไข่

ด้านการผลิต ปัจจุบันการผลิตกล้วยไข่ของประเทศไทยมี 2 ระบบคือการปลูกเป็นพืชเดี่ยว และการปลูกเป็นพืชแซมในสวนไม้ผล ทั้งสวนเดิมและสวนปลูกใหม่ปรือปลูกแซมในระยะเริ่มแรกของการปลูกปาล์มหรือ ยางพารา ซึ่งในช่วงที่ตลาด(จีน) มีความต้องการสูงจะอยู่ในช่วงตั้งแต่เดือน ธันวาคม-เมษายน ช่วงดังกล่าวเกษตรกรมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทั้งจากสภาพอากาศร้อน ปริมาณน้ำจำกัด รวมทั้งต้นที่ปลูกมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ นอนว่าหน่อที่ปลูกจะให้ผลผลิตเมื่อไร ซึ่งความสม่ำเสมอของหน่อพันธุ์และหรือต้นพันธุ์ พบว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออายุการให้ผลผลิต ซึ่งในการปลูกกล้วยไข่ปัจจุบันเกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ ประเด็นปัญหาคือความสมบูรณ์และขนาดหน่อไม่สม่ำเสมอ ทำให้การเจริญเติบโตและการออกเครือไม่พร้อมกัน ทำให้การกระจายการผลิต การจัดการคุณภาพ การปฎิบัติงานในแปลงต้องทำหลายครั้ง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และไม่สามารถจัดการให้ผลผลิตออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในต่างประเทศที่ปลูกกล้วยเป็นการค้านิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้ปริมาณมากและเวลารวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้ต้นพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค สำหรับประเทศไทย เบญจมาศ และคณะ(2551) ได้ปรับปรุงพันธุ์กล้วยไข่โดยการฉายรังสีและได้กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งในช่วงแรกต้นพันธุ์จะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหน่อพันธุ์ กล้วยไข่กำแพงเพชร อีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ที่ได้ปริมาณมากกว่าการใช้หน่อ พันธุ์และได้ต้นสม่ำเสมอคือการขยายพันธุ์โดยการผ่าหน่อ ประนอม(2552) ทดลองขยายพันธุ์กล้วยไข่โดยการผ่าหน่อออกเป็นสี่ส่วน(ไม่ให้โดนตาที่เป็นจุด เจริญ) แล้วนำไปจุ่มสารป้องกันเชื้อราแล้วนำไปชำในถุง หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน สามารถนำไปปลูกในแปลงได้ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระจายการผลิตในช่วงที่ตลาดต้องการ โดยใช้หน่อพันธุ์แบบต่างๆจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีความจำเป็นในการเพิ่ม ศักยภาพการผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออก ด้านการหักล้มของกล้วยโดยเฉพาะในช่วงที่กล้วยออกเครือมีการศึกษาทั้งด้าน ความลึกในการปลูก การตัดต้นที่ระดับต่างๆ การปลูกแซมในสวนซึ่งสามารถลดการหักล้มได้ นอกจากนี้การใช้สารชะลอการเจริญเติบโตให้ต้นกล้วยเตี้ยลง Padhye และ Graninger (2009) ใช้สารพาโคลบิวทราโวล (30-90 ppm.)และยูนิโคลนาโซล(3-9 ppm.) กับกล้ากล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังลงปลูก 4 สัปดาห์สารทั้ง 2 ชนิดสามารถลดความสูงของกล้วยโดยสูงน้อยกว่า control 38-50 และ 31-32% ตามลำดับ โดยอัตราความเข้มข้นสูงจะลดความสูงกล้วยได้ดีกว่าอัตราความเข้มข้นต่ำ ดังนั้นการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วย ป้องกันการหักล้มของกล้วยไข่ในแปลงปลูกได้

ด้านเทคโนโลยีการผลิต จากการศึกษาของ Sangudom (2013) พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าระบบ GAP ไม่มีการวิเคราะห์ดินและจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสม โดยพบว่าต้นทุนการผลิตด้านปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกประมาณ 66 75% ของต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตโดยเป็นค่าปุ๋ยคอก 19-33% ปุ๋ยเคมี 33-57% รวมทั้งมีการใส่ปุ๋ยค่อนข้างถี่โดยเฉพาะเกษตรกร จ.สุโขทัยใส่ปุ๋ย 15-25 ครั้ง/รอบการผลิต ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยและ/หรือลดจำนวนครั้งและปริมาณการใส่ ปุ๋ย ซึ่ง อิทธิสุนทร(2552) การให้ปุ๋ยในระบบน้ำเป็นการให้ปุ๋ยที่มีความสม่ำเสมอและเพิ่มประสิทธิภาพการ ใช้ปุ๋ยของพืช ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ทางดิน 10-50% ช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณ คุณภาพและช่วยลดต้นทุนการผลิต ชูชาติ(2552) ศึกษาความต้องการกล้วยไข่ตลอดฤดูปลูกพบว่ามีความต้องการธาตุไนโตรเจนไม่น้อย กว่า 60 กรัม/ต้น ฟอสฟอรัส 15 กรัม/ต้นและโพแทสเซียม 190 กรัม/ต้น และเพื่อชดเชยธาตุอาหารบางส่วนที่สูญเสียไปหรือไม่เป็นประโยชน์เนื่องจากถูก ตรึงไว้ในดิน ถูกชะล้าง จึงควรให้ไนโตรเจน 85 กรัม/ต้น ฟอสฟอรัส 50 กรัม/ต้นและโพแทสเซียม 270 กรัม/ต้น โดย 70-75% ของปริมาณธาตุอาหารถูกใช้ในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้น และ 25-30% ถูกใช้ในระยะการให้ผลผลิตและแนะนำการใส่ปุ๋ยเพื่อการเจริญทางลำต้น 3 ส่วนคือครั้งแรกหลังปลูก 1-2 เดือน ครั้ง 2 หลังปลูก 3-4 เดือน ครั้ง 3 หลังปลูก 5-6 เดือนและครั้งสุดท้ายระยะการให้ผลผลิตคือประมาณ 7 เดือนหลังปลูก อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของกล้วยคือปัจจัย ด้านน้ำ Hallu et al. (2013) กล้วยที่ขาดน้ำส่งผลต่อการเจริญเติบโต การออกเครือช้าและอายุเก็บเกี่ยวช้ารวมทั้งลดขนาดของเครือและขนาดของผล ซึ่งการให้น้ำส่วนมากจะให้ในฤดูแล้งหรือหมดฝน เบญจมาศและคณะ(2551) การให้น้ำของกล้วยไข่โดยใช้สูตร= K Epan Area โดย K =สัมประสิทธิ์การใช้น้ำของกล้วยไข่ (= 1 ทุกระยะการเจริญเติบโตของกล้วย) Epan = ค่าระเหยน้ำจากถาดระเหย class A-plan โดยทั่วไปการระเหยของน้ำจะอยู่ในช่วงเฉลี่ย 3.5-6 มิลลิเมตร/วัน Area= พื้นที่ดินใต้ทรงพุ่มกล้วย(3.14 0.25 0.25 ตารางเมตร) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการให้น้ำและจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ให้น้ำโดยใช้ระบบให้น้ำตามร่อง(furrow) เช่นที่สุโขทัย ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงและสิ้นเปลืองน้ำมาก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากการศึกษาการให้น้ำแบบ mini sprinkle ร่วมกับ mist spray ในช่วงแล้งจะช่วยให้กล้วยไข่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี (ทวีศักดิ์และคณะ, 2556) นอกจากนี้การเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำและกักเก็บน้ำของดินจะช่วยส่งเสริม การเจริญเติบโตของกล้วย ซึ่งการเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินทำได้หลายวิธีทั้งการคลุมโคน การใช้พลาสติกคลุมดิน และในปัจจุบันมีการนำสารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่หรือเรียกสารอุ้มน้ำมาใช้ในทางการเกษตร เพื่อเพิ่มการดูดซับและกักเก็บน้ำของดินโดยการดูดน้ำจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายใน 5 นาทีจะดูดซับน้ำได้ 200-400 เท่า เช่นการใช้ผสมกับดินในอัตรา 5 กรัม/ดิน 1 ลิตร ทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำได้เพิ่มขึ้น27-38%โดยขึ้นกับชนิดของดินและช่วย เพิ่มขีดความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหาร มีผลทำให้พืชมีการเจริญเติบโตดี ลดการให้น้ำรวมถึงแรงงาน ทดลองใช้สารนี้ร่วมกับการปลูกข้าวโพดในสภาวะแล้งขาดน้ำโดยใช้ 30 kg/ha ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ดังนั้นจึงควรนำมาศึกษากับการปลูกกล้วยร่วมกับวิธีการอื่นๆซึงจำเป็นอย่าง มากโดยในฤดูแล้งที่กล้วยต้องการน้ำมาก ปริมาณน้ำมีจำกัด แต่ช่วงดังกล่าวผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ตลาดมีความต้องการมาก จึงมีผลทำให้ราคาผลผลิตสูง

ด้านการจัดการศัตรูพืช การ ปลูกกล้วยไข่เพื่อส่งออก จำเป็นต้องมีการดูแลแปลงอย่างดีเพื่อให้ต้นสมบูรณ์ปราศจากการทำลายของโรคและ แมลง และเมื่อกล้วยออกเครือ การควบคุมไม่ให้ผิวผลกล้วยถูกทำลายจากโรคและแมลงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง โรคที่สำคัญในระยะการเจริญเติบโตของกล้วยได้แก่โรคใบจุดซิกาโตก้าสีเหลือง เกิดจากเชื้อรา Pseudocerospora musae การป้องกันโดยการตัดใบที่เป็นโรคออกนำไปเผาทำลายและพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อรา ส่วนโรคที่เกิดกับผลคือโรคโคนหวีเน่า เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum musae และ Fusarium spp. มักพบในช่วงที่เก็บเกี่ยวและกล้วยอยู่ในระยะสุกแก่ การป้องกันกำจัดเริ่มตั้งแต่ดูแลสวนให้สะอาด โรงคัดบรรจุและกล่องบรรจุต้องสะอาด หลังการเก็บเกี่ยวจุ่มผลในสารละลายไธอะเบนดาโซลหรืออิมาซาริล อีกโรคที่สำคัญคือโรคแอนแทรคโนสบนผล เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum musae การป้องกันพ่นสารเคมีในช่วงออกปลี รวมทั้งดูแลแปลงให้สะอาด(ชาตรีและคณะ, 2552) ส่วนแมลงที่สำคัญที่ทำลายผิวผลคือเพลี้ยไฟ เข้าทำลายตั้งแต่ระยะออกปลี ดูดกินบริเวณกาบปลี ทำให้เกิดอาการด่างลาย ดูดกินน้ำเลี้ยงผลอ่อนทำให้ผิวผลเสียหายโดยอาการจะปรากฏชัดเมื่อผลโตขึ้น มีอาการเป็นจุดนูนสีน้ำตาล ทำให้ผลผลิตตกเกรด สภาพอากาศร้อนชื้นและมีร่มเงาเหมาะกับการแพร่ระบาด การป้องกันพ่นด้วยฟอสร์ หรืออิมิดาคลอพริค 3 ครั้งตั้งแต่ระยะเริ่มแทงปลีห่างกัน 7 กัน(จริยา, 2552) และจากผลการศึกษาการจัดการแปลงกล้วยไข่ของเกษตรกรจังหวัดสุโขทัยและจันทบุรี ของ Sangudom (2013) พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่พ่นสารเคมีในการป้องกันการทำลายของแมลง ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายจากโรคและแมลง 5-20% ดังนั้นการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสียหายดังกล่าวและเพิ่ม เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน

ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว จาก ผลการศึกษาของ Sangudom (2013) พบว่าในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของจังหวัดสุโขทัย ผู้ส่งออกจะมารับซื้อผลผลิตจากสวนเกษตรกร และดำเนินการในขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวที่สวนของเกษตรกร พบว่าในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยววัสดุอุปกรณ์บางอย่างไม่เหมาะสมและขาด สิ่งอำนวยความสะดวกในการปฎิบัติ เกิดความสูญเสียต่อผลผลิต ส่วนจังหวัดจันทบุรี เกษตรกรจะนำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาขายที่ล้งรับซื้อ และล้งรับซื้อจะดำเนินการในขั้นตอนของหลังการเก็บเกี่ยวจนกระทั่งบรรจุกล่อง และขนส่งไปส่งบริษัท/ตู้คอนเทรนเนอร์ของผู้รับซื้อ ซึ่งก็พบว่าการจัดการบางประการไม่เหมาะสมเช่นกัน เช่นภาชนะที่ใช้ล้างขนาดเล็ก ทำให้เกิดการชอกช้ำที่ผิวผลิตผลได้ วิธีการปฎิบัติของล้ง/บริษัทฯไม่เหมือนกัน เช่นการใช้สารป้องกันเชื้อราจุ่มหวีผลในน้ำสุดท้ายของการทำความสะอาด รวมทั้งชนิดและอัตราก็แตกต่าง จากข้อมูลของ สวพ. 6 พบปัญหาสารตกค้างในกล้วยไข่เนื่องจากการใช้คาร์เบนดาซิมในอัตราที่มากเกินไป ซึ่งโรคที่สำคัญหลังการเก็บเกี่ยวคือโคนหวีเน่า(crown rot) เชื้อนี้จะเข้าในระยะที่ผลอ่อนในแปลงปลูกและจะแสดงเมื่อสุก(Gonzale-Aguilar et al., 2003) ส่วนใหญ่จะจุ่มด้วยสารเคมี โปรคลอราซและ อิมาซาริส(Aked et al., 2001) ปัจจุบันบางประเทศผู้นำเข้าเข้มงวดขึ้น บางประเทศไม่อนุญาตการใช้สารเคมีในขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยว(Maobool et al., 2010) ซึ่งมีการทดลองใช้ hot water treatment(HWT) โดยจุ่มในน้ำร้อน ที่ 50 องศาเซลเซียสแล้วจุ่มในน้ำที่ 25 องศาเซลเซียส 30 นาที ช่วยยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่(Srilaong and Photchanachai, 2011) นอกจากนี้การใช้กรรมวิธีร่วมระหว่างสารเคมีโดยลดอัตราการใช้สารเคมี + HWT (Schina et al., 2000) นอกจากนี้มีการใช้ cinnamon oil 0.3-0.4% สามารถชะลอการเกิดโรคแอนแทรคโนสของกล้วย(Maqbool et al., 2010) บุญญวดี(2557) ใช้ potassium sorbate 500 มล/ก จุ่มนาน 5นาที สามารถช่วยควบคุมโรคหวีเน่าของกล้วยหอม นอกจากนี้ปัจจุบันมีการนำโอโซนซึ่งคุณสมบัติในการเป็นตัวออกซิไดซ์อย่าง แรง มีความว่องไวในการทำปฎิกริยาเคมีและสลายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสารพิษตกค้าง มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคที่เหนือกว่าสารเคมีจำพวกคลอรีน คลอรีนไดออกไซด์ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายประเทศในยุโรปได้มีการเลือกใช้ก๊าซโอโซนแทนสารเคมีดังกล่าว กลไกในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์เกิดได้ 2 ลักษณะคือ โมเลกุลของโอโซนเข้าทำปฎิกริยาโดยตรงกับสารเคมีที่มีอยู่ในเซลล์จุลินทรีย์ และอนุมูลตัวกลางอิสระที่เกิดขึ้นเป็นตัวเข้าทำลาย โดยสามารถเข้าทำลายเซลล์เมมเบรน ไซโตพลาสซึม โปรตีน และชั้นของไขมันในเซลล์จุลินทรีย์และเกิดการจับตัวเป็นก้อนของโปรตีนทำให้ เซลล์แตก หรือเข้าทำลายระบบหายใจของเซลล์จุลินทรีย์ ลักษณะที่ 2 โอโซนสามารถทำลายเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับ DNAและ RNA ของเซลล์จุลินทรีย์(จารุณี, 2547) Whangchai et al. (2006) พบว่าการให้ก๊าซโอโซนร่วมกับกรดออกซาลิก สามารถลดการเกิดโรคของผลลำไยหลังการเก็บเกี่ยวได้ ดวงธิดา และคณะ(2549) การจุ่มผลเงาะในน้ำโอโซนความเข้มข้น 0.5 ppm นาน 15 นาทีสามารถลดปริมาณเชื้อราที่ผิวผลได้ 74.6% การรมลำไยด้วยโอโซนความเข้มข้น 200 ppm ร่วมกับการแช่ในกรดออกซาลิกหรือกรดซิตริกความเข้มข้น 5% ให้ผลดีในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสีน้ำตาลและกิจกรรมของเอนไซม์ PPO และสามารถควบคุมการเกิดโรคได้ดี(กานดา, 2006) ดวงธิดาและคณะ(2549) การจุ่มผลเงาะในน้ำโอโซนความเข้มข้น 0.3 ppm นาน 15 นาทีสามารถลดปริมาณเชื้อราที่ผิว 79.2%

ด้านการเก็บรักษาพบ ว่า การเก็บรักษากล้วยไข่ในถุงพลาสติก PE(poly-ethylene)และ LDPE(low-density poly-ethylene)ร่วมกับการใช้สารดูดซับเอทธิลีน สามารถเก็บรักษาได้นาน 8 และ6 สัปดาห์ตามลำดับ แต่พบปัญหาด้านโรคหลังการเก็บเกี่ยวและมีผลบางส่วนสุกเล็กน้อย(Sangudom, 2013)นอกจากนี้ในขั้นตอนการล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ไม่เหมาะสม ไม่มีวิธีการทำให้ผลิตผลแห้งก่อนการบรรจุและไม่มีการลดความร้อนในผลิตผล หลังเสร็จสิ้นการบรรจุ(cold chain) ซึ่งอาจมีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษา เนื่องจากผลกล้วยต้องอยู่ในสภาพไม่สุกเมื่อถึงตลาดปลายทาง สิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้าได้รับการพัฒนาจะช่วยลดการสูญเสียของผลผลิต และช่วยรักษาคุณภาพผลผลิตได้ นอกจากนี้ไม่มีระบบการทำสัญญาการซื้อขาย ทำให้ไม่สามารถวางแผนการจัดการได้ ทำให้ต้องเสียเวลานานในการรวบรวมผลิตผล-ขนส่งไปยังจุดรับของบริษัทฯ ทำให้ต้นทุนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสูง เกรียงไกรและคณะ(2554) ศึกษาเวลาและต้นทุนในกระบวนการเก็บเกี่ยว-คัดบรรจุ-ขนส่งไปยังจุดรับของ บริษัทฯ พบว่าใช้เวลาประมาณ 11.10 นาที/กล่อง และถ้าบรรจุกล่อง/วันได้น้อยจะมีต้นทุนสูงเช่นบรรจุ 50 กล่อง/วัน มีต้นทุนดำเนินการ/กล่อง 40.20 บาท ถ้าบรรจุ 400 กล่อง/วัน ต้นทุน 5.03 บาท/กล่อง

ด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการช่วยให้สินค้าออกจากมือผู้ผลิตจนไป ถึงมือผู้บริโภคให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ธนัญญา (2554) ศึกษาระบบโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสับปะรด ซึ่งในระบบต้องอาศัยการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ คือเกษตรกร แผงผู้รวบรวม และโรงงานแปรรูป โดยแต่ละหน่วยต้องรู้จักคำว่า SCOR model คือ การวางแผน(plan) การจัดหาแหล่ง(Source) การผลิต(Make) การจัดส่ง(Delivery) และการส่งคืนสินค้า(Return) ซึ่งต้องครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการวัตถุดิบ การสั่งซื้อ การวางแผน การผลิต การจัดลำดับการผลิต การจัดสรรกำลังคน กำลังการผลิต การจัดการโกดังสินค้า จนกระทั่งการจัดการขนส่งไปถึงมือลูกค้า การจัดการขายและบริการลูกค้า ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรบน Supply chain ที่ทำให้วัตถุดิบทั้งหมดกลายเป็นสินค้า(finished product) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากสามารถจัดการระบบโซ่อุปทานให้เกิดประสิทธิภาพ จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ กรณีของกล้วย พบว่าประเทศผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่ของโลกเช่นเอควาดอร์ คอสตราริก้า ฟิลลิบปินส์ มีการดำเนินการโดยบริษัทฯส่งออกรายใหญ่ของโลกซึ่งมีระบบการจัดการโลจิสตกส์ และโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มีการวางแผนการผลิต การควบคุมการผลิต การทำ contract farming การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการขนส่งไปตลาดปลายทาง ทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ลดการสูญเสีย และได้รับผลตอบแทนอย่างดี ส่วนตัวอย่างที่ดีของไทยคือ การส่งออกกล้วยหอมทองไปประเทศญี่ปุ่น ของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า 20 ปีเช่นกัน(Chanadee et al., 2011)

จากการวิเคราะห์ SWOT พบว่า

1.กล้วยไข่มีจุดแข็ง(strengths)

- รสชาติดี มีกลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

- สามารถจัดการให้มีผลผลิตออกในช่วงเวลาความต้องการของตลาด

- ตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น

2.จุดอ่อน(weakness)

- บางช่วงผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

- สายพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามีเพียง1สายพันธุ์

- เปลือกบาง อายุการเก็บรักษาสั้นไม่ทนทานการขนส่ง โดยเฉพาะตลาดไกลที่ใช้ระยะเวลาการขนส่งนานมีผลต่อคุณภาพ

- ผลผลิตต่ำ ต้นหักล้มง่าย

3.โอกาส(opportunities)

- ตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการอยู่มาก

- สภาพภูมิประเทศเหมาะสมและสามารถขยายพื้นที่ปลูกได้เพิ่มขึ้น

- กล้วยไทยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ตลาดมีความต้องการจึงควรมีการส่งเสริมการบริโภคและสร้าง band ของกล้วยไทย

4.อุปสรรค(threats)

- ผลผลิตออกกระจุกตัว

- ผลผลิตเสียหายจากสภาพแวดล้อม เช่น วาตภัย แล้ง

- การคัดเกรดตามมาตรฐานของผู้รับซื้อ

- ราคาไม่แน่นอน ต้นทุนการผลิตสูง

- ขาดการรวมกลุ่มการผลิตที่เข้มแข็ง

- ขาดวางแผนการผลิตที่สอดคล้องความต้องการตลาด

- ขาดข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด รวมทั้งขาดความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายในโซ่อุปทานการผลิต

กล้วยไข่ มาตรฐานน้ำหนักหวี 700-800 กรัม ผลผลิตต่อไร่ 86 กก

- การใช้จุ่มกล้วยไข่ proclorax 125 ppm บวกโอโซน 0.5 ppm นาน 15 นาที เก็บ 2 สัปดาห์ควบคุมโรคหวีเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้

- สารพาโคลบิวทราซอล 90-150 ppm 5 ลิตรต่อต้น หลังปลูก 4 เดือน ก่อนการออกปลี ป้องกันการหักล้มกล้วยไข่ กล้วยไข่ไม่ค้ำเนื่องจากน้ำหนัก 7-8 กิโลกรัม กล้วยหอมน้ำหนัก 15 กิโลกรัมจะค้ำ กล้วยน้ำว้าไม่ค้ำ จะค้ำต้นที่เอน รากจะลอยปลูกตลอดชีวิต ต้นแม่ตัดแล้วจะเป็นโพรง การปลูกกล้วยควรมี wind break สารทำให้ลำต้นใหญ่ ต้นเตี้ยลง

- การผลิตกล้วยไข่ฤดูแล้ง การใช้สารอุ้มน้ำ การให้ระบบน้ำหยด การใช้พลาสติกคลุมดินช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ดี การให้น้ำช่วงแล้วสู้ช่วงฝนไม่ได้

- การใช้ระบบ cold chain ช่วงแพ็คกิ้งก่อนเข้าตู้คอนเทรนเนอร์ ใช้น้ำเย็น ลดความร้อน 32-35 องศามาที่ 14-16 องศา 30 นาที หรือใช้ bus air ลมเย็น 2.45 ชั่วโมง

 

 

by : Satja Prasongsap
Research Scientist
Horticultural Research Institute

Tags:

Category: บทสรุปผู้บริหาร, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ก-ณ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news