banner ad

หนอนร่านหลังลายม่วง

| December 30, 2014

หนอนร่านหลังลายม่วง

ชื่อสามัญ : The oil Palm Slug Caterpillar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Quasithosea sythoffi Snellen

ชื่อวงศ์ : Limacodidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนร่านหลังลายม่วง เป็นหนอนร่านของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่พบทั่วไป จากการส่งตัวอย่างไปหาชื่อวิทยาศาสตร์ของแมลงที่สถาบัน C.A.B. International ปรากฎว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าQuasithosea sythoffi Snellen เป็น new genus ในปี 2534-2536 ได้ระบาดเป็นพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ ในสวนปาล์มน้ำมันอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เกษตรกรต้องพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันกำจัดตลอดทั้งปี

ลักษณะการทำลาย

หนอนวัยแรกๆ แทะผิวใบทำใบแห้งสีน้ำตาล เมื่อหนอนโดขึ้นกัดกินทั้งใบทำให้ใบขาดแหว่ง
ถ้ารุนแรงทำให้เหลือแต่ห้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง

รูปร่างลักษณธฃะและชีวประวัติ

ไข่ ผีเสื้อวางไข่ใต้ใบ โดยวางเรียงเป็นแถว ตั้งแต่ 2-30 ฟอง โดยไข่แต่ละฟองซ้อนกันเล็กน้อย บางครั้งวางเป็นฟองเดี่ยวๆ กระจัดกระจาย ไข่มีลักษณะรูปไข่ แบน ผิวเรียบเป็นมัน มีขนาด
1.48×2.53 มม. เริ่มแรกไข่มีสีใส ต่อมามีสีเหลืองอ่อน

หนอน หนอนที่เพิ่งฟักจากไข่มีขนาดกว้าง 0.49×1.46 มม.สีเหลืองอ่อน มีส่วนหัวซ่อนอยู่ใต้ลำตัว มีกลุ่มขนเรียงเป็นแถว ยังไม่กินอาหาร หลังจากลอกคราบครั้งที่ 1 จึงเริ่มกินอาหานแบบแทะผิวใบต่อมาลำตัวหนอนเป็นสีเขียวอ่อน กลุ่มขนเรียงเป็นแถวข้างลำตัวสีเขียวอ่อน กลุ่มขนที่รียงเป็นแถวด้านบนของลำตัวมีสีส้มอ่อน จำนวน 5 คู่ เป็นขนที่ยาวกว่ากลุ่มขนด้านข้างลำตัว ระหว่างแถวของกลุ่มขนด้านบนลำตัวเห็นเป็นแถบสีน้ำเงินปนม่วง พาดตามยาวของลำตัว แต่แถบสีนี้ขาดเป็นช่วงๆ ขอบของแถบสีน้ำเงินปนม่วงมีเส้นสีเหลืองล้อมรอบ ด้านข้างลำตัวมีแต้มสีน้ำเงินขอบสีเหลืองอยู่เหนือแนวกลุ่มขน กลุ่มขนสีส้ม หนอนบางตัวเป็นกลุ่มขนสีเขียวเหมือนสีของลำตัวปลายเส้นขนมีสีน้ำตาลแดง หนอนที่โตเต็มที่มีขนาด 10.63×24.95 มม.

ดักแด้ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะหยุดกินอาหาร ลำตัวหนอนเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลอ่อนเคลื่อนย้ายตัวเองมาอยู่ตามมุมหรือโคนทางใบและสร้างรังห่อหุ้มตัวเอง โดยปล่อยเส้นใยจากปากพันรอบตัวเองจนมิดและเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้อยู่ภายใน ลักษณะรังดักแด้รูปทรงกลมสีน้ำตาลดำ
ขนาด 11.11×13.18 มม.

ตัวเต็มวัย เมื่อดักแด้เป็นตัวเต็มวัยจะดันรังดักแด้ลักษณะเป็นฝาเปิดออกมาเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลางสีน้ำตาล โดยปีกคู่หน้าจะมีเส้นสีครีมคาดขวางปีกและแบ่งพื้นที่ปีกออกเป็น 2 ส่วน พื้นที่ส่วนปีกที่อยู่ใกล้ลำตัวเป็นพื้นที่สีน้ำตาลไม่มีลวดลาย พื้นที่ส่วนปลายปีกมีพื้นสีน้ำตาลเข้มกว่าและมีลายเส้นสีครีม เรียงตามความยาวของปีก 8 เส้น ปีกคู่หลังสีน้ำตาลเข้มไม่มีลวดลาย ผีเสื้อเพศเมียเมื่อกางปีกกว้าง
36-42 มม. ผีเสื้อเพศผู้เมื่อกางปีกกว้าง 25-33 มม.ลำตัวยาว 11-15 มม. สามารถแยกเพศผีเสื้อโดยใช้ขนาดลำตัวและลักษณะของหนวด เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย หนวดเพศผู้เป็นแบบฟันหวี เพศเมียเป็นแบบเส้นด้าย

วงจรชีวิตและชีวประวัติ

ระยะไข่ 5-7 วัน เฉลี่ย 5.97 วัน

ระยะหนอน 51-82 วัน เฉลี่ย 70.15 วัน

ระยะดักแด้ 36-68 วัน เฉลี่ย 55.73 วัน

ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้ 4-9 วัน เฉลี่ย 6.85 วัน

เพศเมีย 2-6 วัน เฉลี่ย 4.35 วัน

รวมวงจรชีวิต 107-156 วัน เฉลี่ย 134.40 วัน

หนอนมีการลอกคราบ 11 ครั้ง

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบระบาดในปาล์มน้ำมันอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มพบหนอนตั้งแต่ ปี 2530 และพบมากขึ้นในปี 2533 ปี 2534 และรุนแรงที่สุดในปี 2536 หลังจากนั้นพบเชื้อไวรัสทำลายหนอนทำให้
ปี 2537 ปริมาณหนอนลดน้อยลง ต่อมาในปี 2538 ปี 2539 พบเล็กน้อยและปี 2540 ถึงปัจจุบันไม่พบหนอนชนิดนี้อีกเลย ที่น่าสังเกตคืออาจพบร่วมกับหนอนหน้าแมว ทำลายใบปาล์มน้ำมันช่วงที่มักพบคือเดือนตุลาคม ถึงเดือนมกราคม

พืชอาหาร

พืชสกุลปาล์ม

ศัตรูธรรมชาติ

พบศัตรูธรรมชาติ 8 ชนิดได้แก่

1.แตนเบียนไข่ Trihogramma sp. (Hymenoptera: Trichogrammatidae)

2.แตนเบียนดักแด้ Eugalta longipesCam. (Hymenoptera:lchneumonidae)

3.แตนเบียนดักแด้ Phanerotoma sp. (Hymenoptera: lchneumonidae)

4.แตนเบียนดักแด้สีน้ำเงินไม่ทราบชื่อวงศ์ lchneumonidae

5.แมลงวันก้นขน วงศ์ Tachinidae

6.ด้วงเสือเล็ก Callimerus sp. (Coleoptera : Cleridae)

7.มวนพิฆาต Eocanthecona furcellata (Wolff) (Hemiptera : Pentatomidae)

8.มวนเพชรฆาต Sycanus collaris F.(Hemiptera : Reduviidae)

การป้องกันกำจัด

  1. เช่นเดียวกับหนอนหน้าแมว
  2. การเก็บรังดักแด้มาทำลายจะได้ผลดียิ่งขึ้น
  3. การใช้เชื้อไวรัสที่ได้จากหนอนตาย พ่นสลับกับสารฆ่าแมลง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดี

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news