หนอนร่านสีน้ำตาล
หนอนร่านสีน้ำตาล
ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Darna diducta Snellen
ชื่อเดิม : Ploneta diducta Snellen
ชื่อวงศ์ : Limacodidae
ชื่ออันดับ : Lepidoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นหนอนร่านที่มีความสำคัญเหมือนหนอนหน้าแมว โดยเคยระบาดทำความเสียหายแก่ปาล์มน้ำมัน ในเขตอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2528 เป็นพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ บางครั้งพบระบาดควบคู่กับหนอนหน้าแมว ดังเช่นในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน เขตอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ลักษณะการทำลาย
เหมือนหนอนหน้าแมว โดยกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน ถ้ารุนแรงก็จะทำให้ใบโกร๋นทั้งต้นเหมือนกัน
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ไข่ : เป็นรูปไข่สีใส แบนราบ มักพบอยู่ด้านใต้ใบย่อย มีขนาดใกล้เคียงกับไข่ของหนอนหน้าแมวคือ มีขนาด 1.1 x 1.4 มม. ผีเสื้อวางไข่ 60 225 ฟอง
หนอน: หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ จะมีสีน้ำตลอ่อน มีกลุ่มขนบนลำตัวแต่ยังเห็นไม่ชัดเจนส่วนหัวจะหลบอยู่ใต้ลำตัว หนอนวัยแรกๆ จะแทะผิวใบปาล์มน้ำมันและก้านใบด้วย (ในกรณีมีปริมาณมาก) ในกรณีดั้บความร้อนจากแสงแดดหนอนจะมีการเคลื่อนย้ายจากใบย่อยลงมาตามก้านทางใบจนถึงโคนทาง เมื่อหนอนเจริญเติบโตสีของลำตัวจะเปลี่ยนโดยทั้งลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือสีเทาโดยมีกลุ่มขนสีน้ำตาลเข้มเกือบดำบริเวณส่วนหัวและอกกลางหลังของลำตัว บางตัวจะมีแต้มสีเหลืองอยู่ประปราย ขนาดของหนอนเมื่อโตเต็มที่ กว้าง 5-6 มม. ยาว 17-22 มม.
ดักแด้: เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหาร และเตรียมสร้างรังห่อหุ้มตัวเอง โดยรังจะเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลแดง และมีใยสีน้ำตาลปกคลุมอยู่เล็กน้อย รังอยู่ตามซอกมุมโคนใบย่อยโคนทางใบ ขนาดของรังดักแด้ประมาณ 9 x 11 มม.
ตัวเต็มวัย: เป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียจะมีสีน้ำตาลอ่อน หนวดเป็นแบบเส้นด้าย ขนาดลำตัวยาว 10 มม. เมื่อกางปีกกว้าง 27 มม. ส่วนตัวผู้สีน้ำตาลดำ หนวดเป็นฟันหวี ขนาดลำตัวยาว 9 มม.เมื่อกางปีกกว้าง 22 มม. ในสวนปาล์มน้ำมันพบผีเสื้อเกาะนี่งหุบปีกเกือบตั้งฉากกับใบ ไม่เคลื่อนไหวในเวลากลางวันเหมือนกับผีเสื้อหนอนหน้าแมว
วงจรชีวิตและชีวประวัติ
ระยะไข่ 4 วัน
ระยะหนอน 30-37 วัน
ระยะดักแด้ 11-14 วัน
ระยะตัวเต็มวัย 2-9 วัน
รวมวงจรชีวิต 45-55 วัน
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
พบในสวนมะพร้าว ปริมาณเล็กน้อยในเขตจังหวัดชุมพร สำหรับปาล์มน้ำมันระบาดครั้งแรกในปี 2528 ที่สวนเอกพจน์ปาล์ม อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ระบาดต่อเนื่องขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจนกลางปี 2529 จึงสงบ ต่อมามีการะบาดที่สวนปาล์มน้ำมัน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ควบคู่กับการระบาดของหนอนหน้าแมว มักพบในช่วงฤดูแล้ง
พืชอาหาร
พืชสกุลปาล์ม และมะพร้าว
ศัตรูธรรมชาติ
พบแตนเบียนทำลายหนอนชื่อ Apanteles sp.ซึ่งเหมือนกันกับที่พบในหนอนหน้าแมว นอกจากนี้ยังพบตัวห้ำทำลายหนอนคือ มวนพิฆาตEocanthecona furcellata (Wolff) (Hemiptera entatomidae) และมวนเพชรฆาตSycanus collaris F.(Hemiptera : Reduviidae)
การป้องกันกำจัด
เช่นเดียวกันกับหนอนหน้าแมว
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช