banner ad

หนอนหน้าแมว

| December 30, 2014

หนอนหน้าแมว

ชื่ออี่น : หนอนดาน่า

ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Darna furva Wileman

ชื่อวงศ์ : Limacodidae

อันดับย่อย : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนหน้าแมวเป็นหนอนร่านชนิดหนึ่งที่เป็นศัตรูที่สำคัญของปาล์มน้ำมัน สร้างปัญหาหนักใจแก่เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันอยู่ในขณะนี้ เดิมเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในมาเลเซีย คือ Darna trima (Moore) อย่างไรก็ตามหนอนทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก และเป็นศัตรูปาล์มน้ำมันเหมือนกัน ในปี 2524 พบหนอนหน้าแมวระบาดครั้งแรกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในปี 2526-2529 มีการระบาดในหลายพื้นที่ของจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ โดยมีพื้นที่การระบาดรวมกันมากกว่า 10,000 ไร่ ส่วนใหญ่พบหนอนหน้าแมวระบาดทั้งในปาล์มน้ำมันต้นเล็กและต้นใหญ่อายุไม่เกิน 10 ปี พบครั้งล่าสุดช่วงปลายปี 2541-ต้นปี 2542 มีการระบาดรุนแรงเป็นพื้นที่รวมกันมากกว่า40,000 ไร่ ทั้งในปาล์มน้ำมันต้นเล็กและต้นใหญ่อายุ 10-20 ปี ที่อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน กิ่งอำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภออ่างลึก อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

ลักษณะการทำลาย

หนอนกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน ถ้ารุนแรงมากใบถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นชะงักการเจริญเติบโต และกว่าต้นจะฟื้นคืนดังเดิมใช้เวลานานเป็นปีเมื่อเกิดมีการระบาดแต่ละครั้ง มักต้องใช้เวลาในการกำจัดนาน เป็นเพราะหนอนมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่นมีทั้งหนอน ทมีทั้งดักแด้ เราจึงไม่สามารถกำจัดให้หมดได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการกำจัดและติดตามการระบาดที่ต่อเนื่อง

ไข่ รูปไข่สีใสแบนราบติดใบ ผิวเป็นมัน คล้ายหยดน้ำค้าง ถ้าส่องกับแสงแดดจะทำให้เห็นไข่ชัดเจนขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ กระจัดกระจายใต้ใบย่อยของทางใบปาล์ม มักจะพบไข่มากที่สุดบริเวณทางใบตอนล่างนับขึ้นมาจนถึงทางใบที่ 17 และพบบริเวณค่อนไปทางปลายใบเป็นส่วนใหญ่ ขนาดประมาณ 1.1×1.3 มม.

หนอน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีขนาดลำตัวประมาณ 0.2×0.8 มม. สีขาวใส มีสีน้ำตาลคาดอยู่กลางลำตัว มีกลุ่มขน (Scoli) บนลำตัวมี 4 แถว แต่ยังมองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนของหัวหลบซ่อนอยู่ใต้ลำตัว ในวัยแรกหนอนเคลื่อนไหวช้า หนอนมี 7 วัย หนอนในวัยที่ 1-3 มีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันเฉพาะขนาดลำตัวเท่านั้น และอุปนิสัยในการกินแบบแทะผิวใบ หนอนในวัยที่ 4-7 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านสีสรรมากขึ้น หนอนที่เจริญเต็มที่ มีขนาดลำตัวกว้าง 5-6 มม. ยาว 15-17 มม. สีของลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีกลุ่มขนข้างลำตัวข้างละ 11 กลุ่ม จุดที่สังเกตุได้ คือ เห็นแต้มสีเป็นรอยเว้ารูปสามเหลี่ยมจากด้านข้างเข้าหากึ่งกลางลำตัว โดยมีปลายยอดสามเหลี่ยมห่างกันเล็กน้อย ขอบของสามเหลี่ยมเป็นสีเหลือง ภายในพื้นที่สามเหลี่ยมสีเขียวตองอ่อน ส่วนท้ายลำตัวยังมีสีเหลือง กลางหลังของลำตัวมีเส้นประสีเหลือง และจุดสีดำขนานไปกับกลุ่มขนสีดำอีก 2 แถว ก่อนเข้าดักแด้ไม่กินอาหาร ระยะนี้สังเกตุได้จากใต้ท้องเดิมสีเขียวอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง และสีของลำตัวเปลี่ยนเป็นสีม่วงเช่นกัน

ปริมาณการกินใบ

หนอนหน้าแมวแต่ละตัวในช่วงระยะหนอนนั้น สามารถทำลายใบได้ 15.33-63.45 ตารางเซนติเมตร เฉลี่ย 37.52 ตารางเซนติเมตร โดยหนอนวัยที่ 1-3 แทะผิวใบ และเริ่มกัดกินใบในวัยที่ 4-7 วัยสุดท้ายของหนอนทำลายใบเป็นพื้นที่มากที่สุดเฉลี่ย 20 ตารางเซนติเมตร จากการศึกษาพบว่าในปาล์มน้ำมัน 1 ใบย่อยมีพื้นที่ 154 ตารางเซนติเมตร จากการคำนวณพบว่าหนอนหน้าแมว 4-5 ตัว ทำลายใบย่อย 1 ใบ ได้หมดตลอดอายุหนอน ถ้าต้นปาล์มน้ำมันมีทางใบ 40-50 ทางใบ จึงคาดคะเนได้ว่า ถ้าพบหนอนวัยสุดท้ายตั้งแต่ 2-3 ตัวขึ้นไปต่อใบย่อย 1 ใบ จำเป็นต้องพ่นสารฆ่าแมลงหากพบหนอนเฉลี่ยไม่เกิน 1 ตัวต่อใบย่อย ไม่จำเป็นต้องพ่นสาร อย่างไรก็ตามควรมีการสุ่มสำรวจปริมาณหนอน เพื่อหาแหล่งระบาด เพราะการแพร่กระจายมักเกิดเป็นหย่อมๆ เมื่อพบการระบาดให้พ่นสารฆ่าแมลงในแหล่งนั้นได้ทันที

ดักแด้ หนอนวัยสุด ท้ายจะสร้างใยสีน้ำตาลอ่อนบางๆ ห่อหุ้มตัวเอง จนปกปิดตัวหนอนจนมิด เป็นรังดักแด้สีน้ำตาล (cocoon) รูปทรงกลม ขนาดกว้าง 5-6 มม. ยาว 7-8 มม. ส่วนใหญ่มักพบรังดักแด้อยู่ตามซอกของโคนทางใบติดกับลำต้น และอาจพบบ้างตามซอกมุมของใบย่อย หรือตามรอยพับของใบย่อย

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กสีน้ำตาลไหม้ ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลไหม้มีเส้นดำคาดขวางปีกอยู่ตอนปลายปีก 3 เส้น และลวดลายเป็นเส้นสีดำกลับไปมาบนพื้นปีกสีน้ำตาล ส่วนปีกคู่หลังเป็นสีน้ำตาลพื้นไม่มีลวดลาย ผีเสื้อเพศผู้ขนาดเล็กว่าเพศเมีย เมื่อกางปีกเพศผู้มีขนาด 15-18 มม. เพศเมียมีขนาด 18-21 มม. ส่วนหนวดของผีเสื้อเพศผู้เป็นแบบฟันหวี ของเพศเมียเป็นแบบเส้นด้ายผีเสื้อมักเกาะนิ่งหุบปีกเอาหัวลง ไม่เคลื่อนไหวในเวลากลางวันมักเคลื่อนไหวบินในช่วงพลบค่ำ และก่อนสว่างของอีกวัน จากการศึกษาการใช้แสงไฟจากหลอด black light วางเหนืออ่างพลาสติกที่มีผงซักฟอกรองรับล่อตัวเต็มวัย การเปิดไฟในช่วง 18-19 น. เป็นช่วงเวลาที่ดักผีเสื้อได้มากที่สุด อัตราส่วนผีเสื้อที่ดักได้เพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 3 : 1

ชีวประวัติ

เลี้ยงด้วยใบมะพร้าว เลี้ยงด้วยใบปาล์มน้ำมัน

ระยะไข่ 4-5 วันเฉลี่ย 4.50 วัน 4-5 วัน

ระยะหนอน 25-29 วันเฉลี่ย 27.55 วัน 30-40 วัน

ระยะดักแด้ 12-14 วันเฉลี่ย 12.65 วัน 9-14 วัน

ระยะตัวเต็มวัย 2-10 วันเฉลี่ย 6.05 วัน 6-11 วัน

รวมวงจรชีวิต 47-55 วันเฉลี่ย 50.80 วัน 50-60 วัน

หนอนมีการลอกคราบ 6 ครั้ง

การผสมพันธุ์ ผีเสื้อที่ออกจากดักแด้ผสมพันธุ์ทันที ส่วนมากผีเสื้อออกจากดักแด้ในเวลาพลบค่ำ หรือตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ผีเสื้อเคลื่อนไหวพอดี จับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ ในตอนพลบค่ำหรือตอนช่วงก่อนสว่างเสมอ

ปริมาณไข่และเปอร์เซ็นต์ในการฟัก ผีเสื้อเพศเมียที่ได้รับการผสมและไม่ได้รับการผสมก็สามารถวางไข่ได้ โดยเฉลี่ยผีเสื้อหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 170 ฟอง วางไข่ติดต่อกันได้ 3 วัน วันแรกวางไข่ได้มากที่สุด เปอร์เซ็นต์การฟักของไข่ในวันแรกที่วางประมาณ 95 % ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะไม่ฟัก

พืชอาหาร

พืชสกุลปาล์มทุกชนิด เช่น มะพร้าว ปาล์มขวด หมาก ระกำ เป็นต้น พืชอื่นๆ เช่น พุดซ้อน การะเวก กระถินณรงค์ และพบว่าผีเสื้อวางไข่บนวัชพืชอีก 9 ชนิด แต่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จนครบ วงจรชีวิต ผีเสื้อจะวางไข่และหนอนมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดเฉลี่ย 20.5 วัน ในวัชพืช ชื่อ ตองแห้งชุมพร และรองลงมาคือ ตองแห้งชิกาลาเก ผีเสื้อจะวางไข่และหนอนดำรงชีวิตอยู่ได้น้อยที่สุดเฉลี่ย 6.5 วัน ในวัชพืชชื่อ พันงูเขียว วัชพืชที่ผีเสื้อวางไข่ได้มากที่สุดคือ ผักแครด จำนวนเฉลี่ย 153.25 ฟอง รองลงมาคือ พืชตระกูลถั่ว 148.5 ฟอง เมื่อเทียบกับใบปาล์มน้ำมันผีเสื้อวางไข่ได้เฉลี่ย 75.45 ฟอง วัชพืชที่ผีเสื้อวางไข่น้อยที่สุดคือผักกาดช้างเฉลี่ย 12.85 ฟอง

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ในประเทศไทยพบในแหล่งปลูกมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เคยระบาดทำความเสียหายแก่มะพร้าวในเขตอำเภอสวี จังหวัดชุมพร สำหรับปาล์มน้ำมันระบาดและอาจเรียกว่าเกิดเป็นประจำในเขตอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนานๆ ครั้งที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ อาจกล่าวได้ว่าหนอนมีการระบาดได้ทุกฤดูกาล ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน อายุปาล์มน้ำมันที่มักพบระบาดเป็นส่วนใหญ่อยู่ในอายุระหว่าง 3-5 ปี

ศัตรูธรรมชาติ

หนอนหน้าแมวมีศัตรูธรรมชาติทำลายหลายชนิดทั้งในระยะไข่ หนอนและดักแด้ เช่น แตนเบียนไข่ ชื่อ Trichogramma sp. (Hymenoptera: Trichogrammatidae)

แตนเบียนทำลายหนอน

1.Platyplectrus sp. (Hymenoptera: Eulopphidae)

2.Euplectromorpha sp. (Hymenoptera: Eulopphidae)

3.Euderastichus sp. (Hymenoptera: Eulophidae)

4.Microgaster sp. (Hymenoptera: Braconidae)

5.Apanteles sp. (Hymenoptera: Braconidae)

6.Aroplectrus sp. (Hymenoptera: Eulophidae)

แตนเบียนทำลายดักแด้ มี

1.Paraphylax variusWalker (Hymenoptera : Ichneumonidae)

2.Unidentified วงศ์ Tachinidae และวงศ์ Ichneumonidae

ตัวห้ำทำลายหนอน มี

1.มวนเพชรฆาต Sycanus collaris F. (Hemiptera : Reduviidae)

2.มวนพิฆาต Eocanthecona furcellata (Wolff) (Hemiptera : Pentatomidae)

3.ด้วงเสือเล็ก Callimerus sp. (Coleoptera : Cleridae) ทำลายไข่และหนอนวัยที่ 1-2

การป้องกันกำจัด

การป้องกันไม่ให้หนอนระบาดเป็นพื้นที่กว้าง

  1. หมั่นสำรวจการระบาดของหนอนเป็นประจำ เมื่อพบกลุ่มหนอนให้ติดตามว่าหนอนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อตัดสินใจพ่นสารฆ่าแมลงกำจัดก่อนที่หนอนจะเพิ่มขยายจนเป็นวงกว้าง
  2. ควรเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อศัตรูธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะแมลงศัตรูธรรมชาตในสวนปาล์มน้ำมันเหล่านี้มีความสำคัญในการควบคุมหนอนได้อย่างดี
  3. ไม่ควรใช้สารกำจัดวัชพืชมากเกินไป และควรมีพืชคลุมดินหรือปล่อยให้มีวัชพืชต้นเล็กที่ออกดอกสม่ำเสมอขึ้นอยู่ในสวน เพื่อเป็นแหล่งอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด

  1. โดยวิธีจับแมลงโดยตรง เช่น ตัดใบย่อยที่มีหนอนทำลายหรือจับผีเสื้อซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบปาล์มน้ำมัน หรือเก็บดักแด้ตามซอกโคนทางใบรอบลำต้น
  2. ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้แสงไฟ Black light หรือหลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังพลาสติก ซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก ให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5-10 ซม. วางล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00-19.00 น. สามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป
  3. ใช้สารฆ่าแมลงพ่นได้แก่ carbaryl (Sevin 85% WP) ในอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร lambda cyhalothrin (Karate 2.5% EC) ในอัตรา 10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร trichlorfon (Dipterex 95% WP) ในอัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร deltamethrin (Decis 3% EC) ในอัตรา 5 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร permethrin (Ambush 25% EC) ในอัตรา 5-10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร cufluthrin (Baythriod 10% EC) ในอัตรา 5-10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร และ pirimiphos methyl (Actellic 50% EC) ในอัตรา 20 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SCอัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ 20% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วเมื่อพบหนอนทำลายเฉลี่ย 20 ตัวต่อทางใบ พ่นซ้ำตามความจำเป็น ควรเริ่มพ่นสารตั้งแต่หนอนยังเล็กอยู่ ถ้าเป็นไปได้ควรพ่นซ้ำที่เดิมอีก 1 ครั้ง โดยห่างจากครั้งแรกประมาณ 10 วัน
  4. ใช้สารฆ่าแมลงประเภทพ่นฝุ่นเช่น carbaryl (Sevin 5% D) หรือ fenvalerate (Sumicidin 0.3%D) พ่นในช่วงที่มีน้ำค้างเกาะที่ใบ (มักเป็นเวลากลางคืน) ซึ่งต้องระมัดระวังในการปฏิบัติงาน และใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ
  5. ใช้เชื้อ Bacillus thuringiensis (เชื้อ16,000 i.u.) จำนวน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือพ่นเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารฆ่าแมลงประเภทเชื้อแบคทีเรียทำลายเฉพาะหนอนแมลงศัตรูปาล์มน้ำมันเท่านั้น ไม่ทำอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์
  6. การเจาะลำต้นใส่สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม จำนวน 10-15 มล. ต่อต้น
  7. ใช้สารสกัดสะเดา กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ทำการทดลองใช้สะเดาอัตราความเข้มข้น 5% สามารถกำจัดหนอนได้ผลดี
  8. การใช้วิธีผสมผสาน เป็นการนำวิธีการกำจัดหลายๆ วิธีมาใช้ร่วมกัน เช่น

8.1 การใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อในช่วงที่ดักแด้กำลังออกเป็นผีเสื้อสลับกับการใช้สารฆ่าแมลงหรือเชื้อแบคทีเรียในช่วงเป็นหนอนวัยที่ 2-3 โดยใช้แสงไฟ black light หรือ หลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังพลาสติก ซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก ให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร วางล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00 – 19.00 น. ซึ่งสามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้

8.2 การใช้เชื้อแบคทีเรียสลับกับการใช้สารฆ่าแมลง

8.3 การใช้ตัวห้ำสลับกับการใช้เชื้อแบคทีเรีย

8.4 การใช้ระดับเศรษฐกิจเป็นเครื่องกำหนดการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงหรือเชื้อแบคทีเรีย

9. ในกรณีที่มีการระบาดเป็นพื้นที่กว้างก็สามารถพ่นสารฆ่าแมลงทางเครื่องบินสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ทำการศึกษาทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจสามารถประหยัดแรงงานได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news