banner ad

ด้วงแรดมะพร้าว

| December 30, 2014

ด้วงแรดมะพร้าว

ชื่อสามัญ : Asiatic red palm weevil ,southern coconut weevil

ชื่อสามัญอี่นๆ : ด้วงงวงมะพร้าวเล็ก,ด้วงงวงมะพร้าวใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhychophorus ferrugineus Oliver, R. vulneratus Panzer

ชื่อวงศ์ : Curculionidae

อันดับย่อย : Coleoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ด้วงแรด เป็นแมลงที่สำคัญของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน มี 2 ชนิดคือ ด้วงแรดชนิดเล็กและด้วงแรดชนิดใหญ่ ด้วงแรดชนิดเล็กพบทัวทุกภาคของประเทศไทยและพบบ่อยที่สุด สำหรับด้วงแรดชนิดใหญ่ มักพบไม่บ่อยนักพบได้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางภาคใต้ของประเทศ จากการปลูกปาล์มน้ำมันแทนการปลูกมะพร้าวจำนวนมากในประเทศไทย ด้วงแรดมะพร้าวจึงเริ่มมีความสำคัญมาก เนื่องจากเมื่อมีการโค่นล้มต้นมะพร้าวหรือต้นปาล์มที่มีอายุมากและปลูกต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ และต้นมะพร้าว โดยปกติด้วงแรดมะพร้าวไม่สามารถระบาดได้ เหตุที่เกิดการระบาด อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความละเลยของมนุษย์ที่ปล่อยให้มีแหล่งขยายพันธุ์จำนวนมาก ทำให้ด้วงแรดเพิ่มปริมาณมากจนเข้าทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย สาเหตุของการระบาดที่เกิดเองตามธรรมชาตินั้นน้อยมาก เช่น การเกิดวาตภัย พายุลมแรงทำให้ต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมันล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ของด้วงแรดในเวลาต่อมา

ลักษณะการทำลาย

เฉพาะตัวเต็มวัยเท่านั้นที่เป็นศัตรูพืช โดยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมัน ทำให้ทางใบหักง่าย และยังกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้าโดนทำลายมากๆ ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด

แหล่งขยายพันธุ์

แหล่งผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งด้วงแรดใช้เป็นแหล่งอาการของหนอนวัยต่างๆ จนเข้าระยะดักแด้และเป็นตัวเต็มวัย ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้นหรือตอของต้นมะพร้วงและปาล์มน้ำมัน ซากพืชที่เน่าเปื่อย เช่น ซากเปลือกมะพร้าว และทะลายปาล์ม กองมูลสัตวเก่า กองปุ๋ยคอก กองขุยมะพร้าว กองกากเมล็ดกาแฟ กองขยะ เป็นต้น

รูปร่างลักษณะ

ด้วงแรดชนิดเล็กและด้วงแรดชนิดใหญ่ มีรูปร่างลักษณะและชีวประวัติคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันที่ขนาดของลำตัว และขอบของแผ่นปกคลุมด้านหลังของส่วนอก ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันเล็กๆ โดยด้วงแรดชนิดใหญ่มี 3 ซี่ ขณะที่ด้วงแรดชนิดเล็กมี 2 ซี่

ไข่ มีลักษณะกลมรี สีขาวนวล มองเห็นได้ชัด ขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 3-4 มิลลิเมตร เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีน้ำตาลอ่อน ไข่ถูกวางลงลึกไปประมาณ 5-15 เซนติเมตร ในแหล่งขยายพันธุ์ที่ผุพัง

หนอน เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ มีลำตัวสีขาว ขนาด 2x 7.5 มิลลิเมตร หัวกะโหลกสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างลำตัวมีรูหายใจจำนวน 9 คู่ เมื่อหนอนกินอาหารแล้วผนังลำตัวจะมีลักษณะโปร่งใส มองเห็นภายในสีดำ หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวประมาณ 60-90 มิลลิเมตร

ดักแด้ เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและสร้างรังเป็นโพรง หนอนจะหดตัวอยู่ภายในเป็นเวลา 5-8 วัน จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้สีน้ำตาลแดง ขนาด 22x 50 มิลลิเมตรสามารถแยกเพศได้ โดยดักแด้เพศผู้สามารถมองเห็นส่วนที่เป็นระยางค์คล้ายเขายื่นยาวชัดเจนกว่าของเพศเมีย

ตัวเต็มวัย เป็นด้วงปีกแข็งสีดำ เป็นมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20-23 มิลลิเมตร ยาว 30-52 มิลลิเมตร สามารถแยกเพศได้ โดยตัวเต็มวัยเพศผู้ส่วนหัวมีเขาลักษณะคล้ายเขาแรด ยาวโค้งไปทางด้านหลังเล็กน้อย เพศเมียมีเขาสั้นกว่า และบริเวณท้องปล้องสุดท้ายของเพศเมีย มีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่นกว่าของเพศผู้

การขยายพันธุ์

ด้วงแรดมีอายุยืนยาวหลายเดือน และมีการผสมพันธุ์หลายครั้ง ด้วงแรดเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ครั้งเดียว สามารถวางไข่ที่สมบูรณ์ได้นานถึง 130 วัน ด้วงแรดเพศเมียชอบวางไข่ในแหล่งขยายพันธุ์ที่มีความชื้นพอเหมาะอุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส ด้วงแรดเพศเมียจะรับการผสมพันธุ์และวางไข่เมื่อออกจากดักแด้แล้ว 40-50 วัน ปกิวางไข่ครั้งละ 10 -30 ฟอง สูงสุดประมาณ 152 ฟอง

วงจรชีวิตของด้วงแรด

ตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลา 4-9 เดือน โดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ระยะไข่ 10-12 วัน ระยะหนอน 80-150 วัน ระยะดักแด้ 23-28 วัน และระยะตัวเต็มวัยมีอายุ 90-120 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ด้วงแรดสามารถแพร่กระจายได้ทั่วประเทศและเพิ่มจำนวนได้ตลอดปี ปริมาณมากหรือน้อยขึ้นกับแหล่งเพาะขยายพันธุ์ จากผลของการศึกษาพบว่าในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฤดูที่ด้วงแรดผสมพันธุ์และวางไข่มาที่สุดอยู่ระหว่างเดือนมิถุยายนถึงเดือนกรกฎาคม ดังนั้นจะพบความเสียหายอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม

พืชอาหาร

พืชสกุลปาล์มน้ำมันทุกชนิด เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับ

การป้องกันกำจัด

  1. การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม คือการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย และสะดวกเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่ หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักปฎิบัติดังนี้
    1. เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว
    2. เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.
    3. ถ้ามีความจำเป็นต้องกองมูลสัตว์นานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง หรือนำใส่ถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่นและนำไปเรียงซ้อนกันไว้
  2. การควบคุมโดยิธีกล หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์ม ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผล เป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย
  3. การควบคุมโดยใช้กับดักล่อฟีโรมน ล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย
  4. การควบคุมโดยชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวและเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนและตัวเต็มวัยด้วงแรด
  5. การใช้สารเคมี
    5.1 ต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ซึ่งยังไม่สูงมากนัก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว
    5.2 ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน ควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news