banner ad

หนอนหัวดำมะพร้าว

| December 30, 2014

หนอนหัวดำมะพร้าว

ชื่อสามัญ : Coconut black-headed caterpillar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Opisina arenosella Walker

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนหัวดำมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวต่างถิ่นที่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย พบระบาดครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ ตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปล้องท้ายยาว 1 1.2 ซม. ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้าที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแนบติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม ผีเสื้อเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย หนอนหัวดำมะพร้าวมีการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ผีเสื้อเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วเท่านั้น จึงสามารถวางไข่ และไข่ฟักเป็นตัวหนอน ผีเสื้อที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ก็สามารถวางไข่ได้ แต่ไข่ทั้งหมดจะไม่ฟักเป็นตัวหนอน

รูปร่างลักษณะ วงจรชีวิตของหนอนหัวดำมะพร้าว

 

ไข่: ไข่ของผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวมีลักษณะกลมรี แบน วางไข่เป็นกลุ่ม ไข่เมื่อวางใหม่ๆ มีสีเหลืองอ่อน สีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฟัก ระยะไข่ 4-5 วัน

หนอน: ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ระยะแรกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก่อนที่จะย้ายเข้าไปกัดกินใบมะพร้าว ตัวหนอนที่ฟักใหม่ๆ จะมีหัวสีดำ ลำตัวสีเหลือง สีของส่วนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ตัวหนอนมีสีน้ำตาลอ่อนและมีลายสีน้ำตาลเข้มพาดยาวตามลำตัว เมื่อโตเต็มที่จะมีลำตัวยาว
2-2.5 ซม. การเจริญเติบโตของหนอนหัวดำมะพร้าวในประเทศไทย พบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและมีการลอกคราบ 8 ครั้ง บางครั้งอาจพบหนอนหัวดำมะพร้าวลอกคราบ 6-10 ครั้ง ระยะหนอน 32-48 วัน ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าว สามารถวางไข่ตั้งแต่ 49-490 ฟอง

ดักแด้ : หลังจากหนอนลอกคราบ 8 ครั้ง หนอนจะเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 9-11 วัน

ผีเสื้อหนอน: จากเข้าดักแด้ ตัวเต็มวัยหรือผีเสื้อจะฟักตัวออกจากดักแด้ใชวลา 5-11 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบหนอนหัวดำมะพร้าวปรากฏตัวอยู่ในแถบเอเซียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน สำหรับในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในกัมพูชา เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทย หนอนหัวดำมะพร้าวสามารถแพร่กระจายตัวโดยติดไปกับต้นกล้ามะพร้าว หรือปาล์มประดับ ผลมะพร้าว หรือส่วนใบมะพร้าวซึ่งถูกนำจากแหล่งที่มีการระบาดเข้าไปในพื้นที่ใหม่

พืชอาหาร

พืชอาหารของหนอนหัวดำมะพร้าว ได้แก่ มะพร้าว ตาลโตนด อินทผาลัม หมาก ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับต่างๆ เช่น ตาลฟ้า ปาล์มหางกระรอก หมากเขียว หมากแดง จั๋ง นอกจากนั้นยังพบลงทำลายต้นกล้วยที่ปลูกใต้ต้นมะพร้าว

ศัตรูธรรมชาติ

แตนเบียน โกนิโอซัส นีแฟนติดีส ( Goniozus nephantidis) เป็นแตนเบียนขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความยาวลำตัว 1.1-1.3 มม. เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย ลำตัวมีสีดำสะท้อนแสง ปลายท้องของเพศเมียมีลักษณะเรียวแหลม ส่วนปลายท้องมีเข็มแหลมโค้งสั้นซ่อนอยู่ ใช้สำหรับต่อย คือการแทงอวัยวะที่มลักษณะคล้ายเข็มแหลมเข้าในลำตัวหนอนหัวดำมะพร้าวและปล่อยสารเข้าในลำตัวทำให้หนอนเป็นอัมพาต หยุดการเคลื่อนไหวแต่ไม่ตาย

การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันกำจัด คือการใม่นำแมลงศัตรูพืชเข้าในพื้นที่ หนอนหัวดำมะพร้าวอาจติดไปกับพืชตระกูลปาล์ม โดยเฉพาะปาล์มประดับต่างๆ ก่อนนำไปปลูกในที่ใหม่ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีหนอนหัวดำมะพร้าวติดเข้าไป เมื่อพบการระบาด ควรดำเนินการดังนี้

1.ตัดใบที่มีหนอนหัวดำลงทำลาย นำลงมาเผาหรือฝังทำลาย

2.การพ่นด้วยชีวภัณฑ์ บีที ซึ่งเป็นจุลนินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช อัตรา 80-100 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นละ 3-5 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม ขึ้นกับขนาดทรงพุ่มและเครื่องพ่น ให้พ่น 3 ครั้ง ติดต่อกัน ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน

3.การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว การใช้แตนเบียนโกนิโอซัส ควบคุมระยะหนอนของหนอนหัวดำมะพร้าว และแตนเบียนบราไคมีเรีย ควบคุมระยะดักแด้ของหนอนหัวดำมะพร้าว ให้ปล่อยแตนเบียนอัตรา 200 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ในช่วงพลบค่ำ

4. การใช้สารเคมีอิมาเม็กตินเบนโซเอต โดยวิธีฉีดเข้าลำต้น ในกรณีที่พบหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดรุนแรงและต้นมะพร้าว มีความสูงมากกว่า 12 เมตร แนะนำให้ใช้สารอิมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92% อีซี จำนวน 30 มิลลิลิตร/ต้น เนื่องจากได้ผ่านการทดสอบจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ห้ามใช้เด็ดขาดกับมะพร้าวที่มีลำต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร เนื่องจากพบสารพิษตกค้างในผลมะพร้าว และไม่ให้ใช้ในมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news