banner ad

ไรแมงมุมคันซาวา

| December 30, 2014

ไรแมงมุมคันซาวา

ชื่อสามัญ : Kanzawa spider mite

ชื่อสามัญอี่นๆ : Cassava spider mite (Raros, 1986)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetranychus kanzawai Kishida

ชื่อพ้อง : Tetranychus Hydrangeae Pritchard and Baker (Navajas et al.,2001)

ชื่อวงศ์ : Tetranychidae

อันดับย่อย : Actinedida

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรชนิดนี้แต่เดิม วัฒนาและคณะ (2530) พบว่าเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของกุหลาบ โดยจำแนกชนิดไว้ภายใต้ชื่อ Tetranychus Hydrangeae Pritchard and Baker นอกจากนั้นพบว่าเป็นศัตรูสำคัญของฝ้ายและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด ต่อมาเมื่อได้มีการศึกษาลักษณะทางอนุกรมวิธานของไรโดยละเอียด และได้ส่งตัวอย่างไรชนิดนี้ให้ Dr.M.Navajas ตรวจ DNA และทำการทดลองผสมข้ามไรแมงมุมคันซาวา แล้วพบว่า T. hydrangeae นี้ น่าจะเป็นชนิดเดียวกันกับไรแมงมุมคันซาวา Tetranychus kanzawai Kishida นั่นเอง (Navajas et al.,2001) ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรชอบดูดทำลายอยู่บริเวณใต้ใบ โดยสร้างใยขึ้นปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่ร่วมกัน กุหลาบที่ถูกไรชนิดดูดทำลาย ในระยะแรกจะมีรอยประสีขาวเป็นจุดเล็กๆ ปรากฏขึ้นที่บริเวณหน้าใบ ต่อมาจุดประสีขาวนี้จะค่อยๆ แผ่ขยายออกเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้กุหลาบทั้งใบมีอาการขาวซีด ใบจะค่อยๆเหลือง และแห้งหลุดร่วงไป ถ้าการทำลายยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง อาจมีผลทำให้กุหลาบทั้งต้นทิ้งใบ และแห้งตาย เหลือแต่กิ่ง เมื่อถึงระยะนี้ไรจะไต่ขึ้นไปรวมกันแน่นอยู่ตรงบริเวณยอด และปลายกิ่งที่ปราศจากใบนี้ พร้อมกับสร้างเส้นใยทิ้งตัวลงมา เพื่อรอเวลาให้ลมพัดปลิวไปตกยังพืชอาศัยต้นใหม่ต่อไป ในไร่ฝ้ายมักพบไรชนิดนี้ระบาดเป็นหย่อมๆ ในบางท้องที่โดยจะสังเกตเห็นใบฝ้ายในบริเวณที่ถูกไรชนิดนี้ดูดทำลาย มีลักษณะเป็นปื้นสีแดงที่บริเวณหน้าใบ บางครั้งการระบาดของไรรุนแรงมากจนทำให้ฝ้ายทั้งแปลงใบร่วง และสมอแตกเร็วกว่าฝ้ายแปลงอื่น ๆ ที่ปลูกอยู่ในบริเวณเดียวกัน

รูปร่างลักษณะ

ตัวเมีย : ลักษณะตัวกลมเป็นรูปไข่ ลำตัวมีสีแดงสด-แดงเข้ม ; 2 ข้างลำตัวมีแถบสีดำ ; ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 355.93 ไมครอน ; กว้าง 279.69 ไมครอน ; ขนบนหลังเป็นเส้นยาวปลายเรียวแหลม ; ด้านหน้าของลำตัว (propodosoma) และขาทั้ง 4 คู่ มีสีเหลืองอ่อน ; มีตาเป็นจุดสีแดงอย่บนสันหลังด้านข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง ; ท่อทางเดินของอากาศ ( peritreme) ซึ่งอยู่ตอนหน้าของลำตัวจากรูหายใจมีปลายท่อหักงอเป็นตะขอทั้ง 2 ข้าง ; ปล้อง tarsus ของขาคู่ที่ 1 มี tactile setae อยู่เหนือ duplex setae ขึ้นมาทางโคนปล้องของ tarsus จำนวน 4 เส้น ; empodium ที่ปลายขอมีลักษณะเป็นแผ่นขอที่มีปลายแตกออกเป็นแฉก 3 คู่ ; ลาย (striae) ที่ผิวของลำตัวด้านสันหลัง บริเวณที่อยู่ระหว่างขนกลางหลังคู่ที่ 3 (D3) และขนกลางหลังคู่ที่ 4 (D4) เรียงกันอยู่ในลักษณะเป็น diamond shaped

ตัวผู้ : ขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ; ลำตัวเรียวแคบก้นแหลม ; มีสีของลำตัวเป็นสีเหลืองอมส้ม ; อวัยวะเพศผู้มีก้านใหญ่ ; ส่วนคอ (stem) ที่ชูส่วนปลาย ( knob) ของ aedeagus จะแคบเล็กและงอขึ้นด้านบน ; ส่วนที่เป็น knob มีลักษณะคล้ายหมวกเห็ด ; ด้านหน้าของ knobกว้างกลมมน ส่วนด้านหลังแหลมเล็ก

วงจรชีวิตของไรแมงมุมคันซาวา

จากการศึกษาชีพจักรของไรชนิดนี้บนกุหลาบพบว่า T. kanzawai สามารถเจริญเติบโตนับจากไข่-ตัวเต็มวัยได้ภายในระยะเวลา 8.60 + 0.12 วัน โดยมีระยะไข่นาน 3.20 + 0.2 วัน ไข่มีลักษณะกลม เมื่อแรกวางจะมีสีเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเหลือบเหลือง บริเวณที่มีสีแดง จะเห็นเป็นจุดสีแดงเข้ม 2 จุด อยู่ภายในไข่เมื่อใกล้ฟักมีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนเมื่อฟักอ่อนจากไข่ใหม่ๆ มีสีเหลือง และมีขาเพียง 3 คู่ ต่อมาจะมีแต้มสีดำปรากฏขึ้นที่ 2 ข้างลำตัว ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ก่อนการลอกคราบแต่ละครั้งตัวอ่อนจะหยุดกินอาหาร และไม่มีการเคลื่อนไหว ระยะเวลาในการเจริญเติบโตของตัวอ่อนระยะที่ 1,2 และ 3 นานประมาณ 1.90 + 0.3 วัน, 1.62 + 0.05 วัน, และ 1.87 + 0.03 วัน ตามลำดับ ภายหลังการลอกคราบครั้งที่ 1 ตัวอ่อนจะมีขาเพิ่มขึ้นเป็น 4 คู่ และมีสีเหลือง หรือเหลืองอมเขียว สีแดงของลำตัวจะปรากฏชัดภายหลังลอกคราบครั้งที่ 3 และจะมีสีเข้มขึ้นเมื่อตัวเต็มวัยมีอายุมากขึ้น ตัวเต็มวัยเพศเมียของ T. kanzawai ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์มีอายุอยู่ได้ได้นาน 22.14 + 1.44 วัน แต่ที่ได้รับการผสมพันธุ์มีอายอยู่ได้นานเพียง 13.50 + 1.87 วัน สำหรับตัวผู้มีอายุอยู่ได้นานโดยเฉลี่ย 11.48 + 1.47 วัน ภายหลังจากลอกคราบครั้งที่ 3 แล้ว ตัวเต็มวัยเพศเมียจะได้รับผสมพันธุ์ ทันที และประมาณ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเริ่มวางไข่ โดยมีอัตราการวางไข่เฉลี่ยวันละ 5.71 + 0.41 ฟอง ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้โดยเฉลี่ยตลอดชีวิตประมาณ 62.25 + 12.51 ฟอง สำหรับตัวเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์สามารถวางไข่ได้เฉลี่ยวันละ 3.38 + 0.19 ฟอง และสามารถวางไข่ได้ตลอดชั่วอายุขัยประมาณ 63.06 + 6.14 ฟอง ไรชนิดนี้สามารถใหลูกได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ แต่ลูกที่เกิดจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมนี้จะเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์สามารถให้ลูกได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย โดยมีอัตราส่วนของเพศผู้:เพศเมีย ประมาณ 1:6

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ไรแมงมุมคันซาวามีเขตการแพร่กระจายอยู่แทบทุกภาคของประเทศไทย โดยจะดูดทำลายพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ทั้งในบริเวณที่ราบที่มีอากาศค่อนข้างร้อน และในที่สูงตามไหล่เขาที่มีอากาศหนาวเย็น การแพร่กระจายของไรเป็นไปโดยลม โดยติดไปขาของนกหรือแมลงที่มาเกาะ หรือโดยการนำเอาต้นและกิ่งพันธุ์ที่มีไรชนิดนี้ติดอยู่ไปปลูก ไรจะระบาดและทำความเสียหายอย่างรุนแรงในช่วงที่สภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง หรือในฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ในต่างประเทศมีรายงานว่าไรชนิดนี้เป็นศัตรูที่สำคัญของ ชา หม่อน ถั่วเหลือง สาลี่ องุ่น ส้ม ดาเลีย ท้อ เวอบีน่า และไฮเดรนเยีย โดยพบในญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ อินเดีย (Jeppson et al., 1975)

พืชอาหาร

ในประเทศไทยพบทำลายกุหลาบ ฝ้าย มะละกอ สตรอเบอรี่ ท้อ องุ่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วลิสง ละหุ่ง กระเทียม ถั่วฝักยาว แตงไทย มะเขือ แกลดิโอลัส ดาวเรือง โป๊ยเซียน ไฮเดรนเยีย ข้าว

ศัตรูธรรมชาติ

ไรในวงศ์ Phytoseiidae หลายชนิด เช่น Amblyseius longispinosus (Evans), A. cinctus Corpuz and Rimando, A.nicholsi Ehara and Lee และ Phytoseius hawaiiensis Prasad เป็นไรตัวห้ำกินไรแมงมุมคันซาวาบนฝ้ายและกุหลาบ

การป้องกันกำจัด

หมั่นตรวจดูแปลงกุหลาบ โดยพลิกดูใต้ใบ หากพบว่ามีไรแมงมุมคันซาวาระบาดให้ใช้สารฆ่าไร amitraz (Mitac 20% EC) อัตรา 40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ propargite (Omite 30 % WP) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นลงบนต้นกุหลาบให้ทั่วทั้งบริเวณด้านบนและด้านใต้ใบ หากยังพบว่ามีการระบาดอยู่ให้พ่นสารฆ่าไรซ้ำอีกครั้ง (วัฒนาและคณะ, 2544)

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์

Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, ไรศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news