ไรขาวพริก
ชื่อสามัญ : Broad mite
ชื่อสามัญอี่นๆ : Yellow tea mite ;Tropical mite (Meyer, 1981)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyphagotarsonemus latus (Banks)
ชื่อวงศ์ : Tarsonemidae
ชื่ออันดับ : Actinedida
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ไรขาวพริกเป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกไรชนิดนี้เนื่องจากลำตัวมีสีขาว และเป็นศัตรูสำคัญของพริก ไรขาวพริกชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน หรือยอดที่แตกใหม่ของพืช เนื่องจากอวัยวะซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น ส่วนประกอบของปากไม่สู้จะแข็งแรง จึงไม่สามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชที่มีลักษณธหนาแข็งได้ พริกที่ถูกไรชนิดนี้ดูดทำลายจะมีอาการใบหงิก ขอบใบม้วนลง ยอดอ่อนแตกเป็นฝอย ก้านใบยืดออก ใบเรียวเล็ก ใต้ใบเป็นสีน้ำตาล ใบจะหนาแข็ง และเปราะ ถ้าการทำลายของไรเป็นไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่องอาการใบหงิกนี้จะค่อยๆ ลุกลามจากยอด และใบอ่อนลงมายังใบล่างๆ ทำให้พริกชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรนไม่ติดผล
รูปร่างลักษณะ
1. ตัวเมีย มีรูปร่างค่อนข้างกลมหลังโค้งนูน ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 201.94 ไมครอน กว้าง โดยเฉลี่ย 127.0 ไมครอน ตัวเต็มวัยมีผิวของลำตัวใสเป็นมันคล้ายหยดน้ำมัน (ตัวอ่อนมีสีขาวขุ่น) กลางหลังมีแถบสีขาวรูปตัว Y พาดตามความยาวของลำตัว จากตอนหน้าลงมายังส่วนท้าย ด้านหลังบริเวณบ่าทั้งสองข้าง มีขนพิเศษซึ่งปลายขนโป่งพองออกคล้ายกระบองข้างละ 1 เส้น ส่วนโคนของเส้นขนมีลักษณะเป็นก้านเล็กฝังอยู่ในร่องขนด้านท้องถัดจากขา 2 คู่แรกมาถึงส่วนท้ายของลำตัว (hysterosoma) มีขน 6 คู่ เรียงถัดกันลงมาตามความยาวของลำตัว เล็บ (claw) ที่ปลายปล้อง tarsus ของขาคู่ที่ 3 หดหายไปเหลือแต่ empodium ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นกลมติดอยู่ที่ปลายของ tarsus ปลายสุดของ tarsus คู่ที่ 4มีขนยาวติดอยู่ที่ปลายขา 2 เส้น
2. ตัวผู้ ลักษระกว้างตรงกึ่งกลางลำตัว และค่อยๆ เรียวแหลมไปทางด้านหัวและท้าย ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 174.67 ไมครอน กว้าง โดยเฉลี่ย 93.34 ไมครอน บริเวณ coax และ femur ของขาคู่ที่ 4 ของไรชนิดนี้มีขนาดใหญ่และแข็งแรง tibia และ tarsus จะเชื่อมติดกันเป็นปล้องเดียว และมีรูปร่างเรียวเล็ก มี tactile setae ยาวติดอยู่ 1 เส้น ปลายสุดของ tibiotarsus ของขาคู่ที่ 4 ไม่มีเล็บแหลมเหมือนไรขาวชนิดอื่น แต่จะม่ตุ่มเล็กๆคล้ายกระดุม (botton like) ติดอยู่
วงจรชีวิตของไรขาวพริก
ไรขาวพริกนี้มีชีพจักรสั้น ระยะไข่-ตัวเต็มวัยกินเวลานาน 4-5 วัน ไข่ของไรขาวพริกมีสีขาวใสลักษณะเป็นรูปไข่ผิวของไข่ด้านบนมีจุดเล็กๆ สีขาวขุ่นคล้ายฟองอากาศเรียงกันเป็นแถวพาดตามแนวยาวของไข่ประมาณ 5-6 แถว ไข่เมื่อใกล้ฟักจะมีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนระยะที่ 1 มีขา 6 ขา ลำตัวมีสีขาวขุ่นหัวท้ายแหลมการเจริญเติบโตของไข่ระยะที่ 1 นานประมาณ 1 วัน ตัวอ่อนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เหมือนการเข้าดักแด้ในแมลงและมีการเปลี่ยนรูปร่างเป็นตัวเต็มวัยภายใต้ผนังลำตัวของตัวอ่อนที่เกาะนิ่งอยู่กับที่นี้ จริยา (2519) ได้ศึกษาชีพจักรของไรชนิดนี้พบว่าตัวเต็มวัยเพศเมียใช้เวลาประมาณ 0.74 วัน จึงออกจากดักแด้และมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 9 วันเศษ ส่วนตัวผู้นั้นใช้เวลาประมาณไม่ถึง 1 วัน ก็ออกเป็นตัวเต็มวัยและมีอายุอยู่ได้นายเฉลี่ย 6 วันเศษ
เขตแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
เพศเมียและตัวอ่อนของไรชนิดนี้มีนิสัยชอบอยู่กับที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวผู้จะทำหน้าที่พาดักแด้ตัวเมียและตัวอ่อนเคลื่อนย้ายจากใบแก่ไปยังยอด และใบอ่อนเพื่อหาที่ดูดกินใหม่ต่อไป ไรขาวพริกนี้จะขยายพันธุ์และระบาดทำความเสียหายให้กับพริกมากในระยะที่ฝนตกชุก พบระบาดทำลายพริกในทุกแหล่งปลูกของประเทศไทย
พืชอาหาร
ส้มโอ ชา พริก ฝ้าย ปอกระเจา บวบ ถั่วเขียว โหระพา มันฝรั่ง มะม่วง และไม้ดอก เช่นเยอรบีร่า เบญจมาศ ไซคลาเมน
การป้องกันกำจัด
1. ควรตรวจดูต้นพริกที่ปลูกทุกๆ 7 วัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นระยะที่พริกกำลังแตกใบอ่อน ถ้าสังเกตเห็นพริกเริ่มแสดงอาการใบหรือยอดหงิก ให้ใช้กำมะถันผง (Ecosulf 80% WP หรือ Thiovit 80% WP) อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตรงบริเวณที่เกิดการระบาด และบริเวณใกล้เคียงโดยพ่น 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน และพ่นซ้ำเมื่อพบการระบาด (ไม่ควรพ่นในเวลาแดดจัดเพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้)
2. ถ้าพบในระยะที่ไรระบาดมากแล้วควรใช้ amitraz (Mitac 20% EC) อัตรา 40-60 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน และพ่นซ้ำหากพบว่ายังมีไรระบาด
3. กรณีพริกที่ปลูกแบบสวนครัวหลังบ้าน การเด็ดยอดที่หงิกไปทำลายเสียจะช่วยลดการระบาดของไรขาวได้บ้าง (กองกีฏและสัตววิทยา, 2543)
Category: ศัตรูพืช, ไรศัตรูพืช