banner ad

ไรสองจุด

| December 30, 2014

ไรสองจุด

ชื่อสามัญ : Two spotted spider mite

ชื่อสามัญอี่นๆ : Glass house spider mite (Meyer, 1981)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetranychus urticae Koch

ชื่อวงศ์ : Tetranychidae

ชื่ออันดับ : Actinedida

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรสองจุดเป็นศัตรูที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจหลายชนิดในอเมริกา ยุโรป และประเทศแถบที่มีอากาศอบอุ่น (temperate) สำหรับในประเทศที่มีอากาศร้อน (tropical) เช่น ประเทศไทย จะพบไรสองจุดได้เฉพาะในแถบที่ราบเชิงเขา หรือเทือกเขาซึ่งมีภูมิอากาศหนาวเย็น เช่น ดอยอินทนนท์ อ่างขาง โดยจะพบระบาดย่างรุนแรงในแปลงสตรอเบอรี่ ท้อ และไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ที่นำพันธ์เข้ามาจากต่างประเทศ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณใต้ใบสตรอเบอรี่ ทำให้ผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่มีลักษณะกร้าน ใต้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวใบด้านบนเหนือบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่จะเห็นเป็นจุดด่างขาวเล็กๆ กระจายทั่วไป เมื่อการทำลายรุนแรงขึ้น จุดด่างขาวเล็กๆเหล่านี้จะค่อยๆ แผ่ขยายติดติอกันเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบมีลักษณะเหลืองซีด ใบร่วง และอาจเป็นผลทำให้สตรอเบอรี่หยุดชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลงได้ ไรที่ทำลายอยู่บริเวณใต้ใบนี้ เมื่อประชากรหนาแน่นมากจะสร้างใยสานโยงไปมาระหว่างใบและยอดของต้นพืชที่มันอาศัยอยู่ เพื่อรอจังหวะให้ลมพัดพาตัวไรที่เกาะอยู่ตามเส้นใย ลอยไปตกยังใบหรือยอดพืชต้นอื่นๆ ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าต่อไป

รูปร่างลักษณะ

ตัวเมีย ตัวเต็มวัยมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 406.25 ไมครอน กว้าง 302.30 ไมครอน ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน-เหลืองอมเขียว สองข้างลำตัวมีแถบสีดำ ขาทั้ง 4 คู่ มีสีเข้มกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย มีตาเป็นจุดสีแดงอยู่ที่บ่าทั้งสองข้าง ขนบนหลังเป็นเส้นยาวปลายเรียวแหลม ลาย (striae) บนผิวลำตัวด้านสันหลังระหว่างขนกลางหลังคู่ที่ 3 และขนกลางหลังคู่ที่ 4 เรียงตัวกันในลักษณธเป็น diamond shaped ปล้อง tarsus ของขาคู่ที่ 1 มี tactile setae อยู่เหนือ duplex setae ขึ้นมาทางโคนปล้อง จำนวน 4 เส้น empodium ที่ปลายขามีลักษณะเป็นแผ่นขนที่มีปลายแตกออกเป็นแฉก 3 คู่

ตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียลำตัวผอมเรียวก้นแหลม มีตาเป็นจุดสีแดงอยู่สองข้างลำตัว อวัยวะเพศมีก้าน (shaft) ใหญ่ ส่วนคอ (stem) ของ aedeagus โค้งงอขึ้น ปลายสุดของ aedeagus มีลักษณะเป็นปม(knob) ตอนกลางของ knob แหลมขึ้นเป็นมุมเล็กน้อย และค่อยๆ ลาดเอนลงสองข้าง

วงจรชีวิตของไรสองจุด

ไรเพศเมียสามารถเจริญเติบโตนับจากไข่-ตัวเต็มวัยได้ภายในเวลาเฉลี่ย 8.78 วัน ส่วนตัวผู้ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนับจากไข่-ตัวเต็มวัยได้ภายในเวลาเฉลี่ย 8.57 วัน โดยมีระยะไข่นานเฉลี่ย 3.82 วัน ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จะเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ตัวอ่อนระยะที่ 1 (larva) ระยะที่ 2 (protonymph) และตัวอ่อนระยะที่ 3 (deutonymph) ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานเฉลี่ย 1.77, 1.47 และ 1.69 วัน ตามลำดับ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้นานประมาณ 15 วัน ตัวเต็มวัย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยตลอดชั่วอายุขัย 122.3 ฟอง โดยวางไข่ได้เฉลี่ย 8.6 ฟอง/วัน ซึ่งนับว่ามีการวางไข่มากว่าไรศัตรูพืชชนิดอื่นๆ ความยาวนานของอายุตัวเต็มวัย (adult longevity) เพศเมียเฉลี่ย 15.9 วัน ส่วนไรเพศผู้มีอายุยืนยาวกว่าคือ นานเฉลี่ย 17.85 วัน ตัวเมียสามารถวางไข่ได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ แต่ลูกที่เกิดจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเจริญเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนตัวเมียที่ได้รับการผสมจะให้ลูกที่เจริญเป็นเพศผู้และเพศเมีย ในอัตราส่วน 1:4 (มานิตาและคณะ 2532)

เขตแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบระบาดในสตรอเบอรี่ที่ปลูกบนดอย และในที่ราบทางภาคเหนือของประเทศ ที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น พบมากในจังหวัดเชียงใหมา เชียงราย เริ่มระบาดประมาณเดือนธันวาคม โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หรือช่วงที่อากาศหนาวเริ่มเปลี่ยนเป็นอุ่นขึ้น สภาพอากาศที่แห้งแล้ง จะเป็นสภาวะที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ของไรสองจุดบนสตรอเบอรี่มาก

พืชอาหาร

กุหลาบ ฮอลลี่ฮ็อก หน้าวัว ชวนชม ลิ้นมังกร ถั่วฝักยาว วัชพืช และพืชแซมในแปลงสตรอเบอรี่ เช่น กระเทียม คื่นฉ้าย และไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวอีกหลายชนิด

ศัตรูธรรมชาติ

จากการสำรวจในแปลงสตรอเบอรี่ที่มีการพ่นสารฆ่าแมลงไม่มากนัก พบว่าไรสองจุดมีศัตรูธรรมชาติ คือ ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans)

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นทำความสะอาดแปลง อย่าให้มีวัชพืชในแปลงปลูก ลไม่ควรปลูกพืชผักแซมในแถวปลูก

สตรอเบอรี่ เพราะพบว่า จะเป็นการเพิ่มพืชอาศัยให้ไรสองจุด

2. เมื่อสำรวจพบว่า เริ่มมีไรสองจุดทำลายใต้ใบสตรอเบอรี่ในระยะแรก (ประมาณ 1-2 ตัว/ใบ

ย่อย) ให้ปล่อยไรตัวห้ำ A.longispinosus อัตราประมาณ 2-5 ตัว/ต้น และปล่อยไรตัวห้ำซ้ำทุกๆ 2 สัปดาห์

3. ในกรณีที่ประชากรไรสองจุดยังเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องใช้สารกำจัดไร สารกำจัดไรที่ใช้ในการป้องกันกำจัดไรสองจุดได้ผลดี ไดแก่ สาร propargite (Omite 30% WP) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และสาร abamectin (Vertimec 1.8% EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ควรระวังการเกิดอาการใบและผลไหม้ ไม่ควรพ่นในขณะอุณหภูมิสูง แดดจัด (กองกีฏและสัตววิทยา, 2543)

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, ไรศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news