แมลงนูนหลวง
แมลงนูนหลวง
ชื่อสามัญ : Sugarcane white grub
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepidiota stigma Fabricius
ชื่อวงศ์ : Scarabaeidae
ชื่ออันดับ : Coleoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
แมลงนูนหลวงเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อยและมันสำปะหลัง ที่ปลูในจังหวัดชลบุรี และระยอง พบระบาดในสภาพดินทรายที่มี pH 6-6.5 และมีอินทรียวัตถุ 0.56-0.84% การเข้าทำลายอ้อยจะปรากฎเป็นหย่อม ไม่แพร่กระจายไปทั้งไร่ พื้นที่ใดเป็นที่ค่อนข้างลุ่มเมื่อฝนตกมีน้ำขัง แมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายน้อย แต่ถ้าปลูกอ้อยในที่ดอน อ้อยจะถูกทำลายมาก อ้อยกอใดที่ถูกหนอนของแมลงนูนหลวงเข้าทำลายเพียงหนึ่งตัวต่อกอจะทำให้อ้อยกอนั้นตายไปทั้งกอ หรือถ้าไม่ตายจะทำให้ผลผิตของอ้อยลดลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้ ส่วนใหญ่พบหนอน 1-2 ตัว ปีใดที่มีความแห้งแล้งติดต่อกันนานเช่นปี 2520 จะทำให้การระบาดเข้าทำลายอ้อยรุนแรงยิ่งขึ้น
หนอนเข้ากัดกินรากอ้อยเป็นอาหาร อาการเริ่มแรกของอ้อยที่ถูกทำลายดูคล้ายกับว่าเป็นผลเนื่องจากความแห้งแล้งคือ ใบอ้อยมีสีเหลือง ต่อมาใบอ้อยจะแห้งตายมากผิดปกติ ในที่สุดอ้อยจะแห้งตายไปทั้งกอ กออ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลายจะดึงออกมาจากพื้นดินได้ง่าย เนื่องจากรากอ้อยที่ถูกทำลายหมด
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
1. ไข่ ไข่มีสีขาวค่อนข้างกลม ลักษณะคล้ายไข่จิ้งจก เปลือกแข็ง ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 5 มม. กว้าง 4 มม.
2. หนอน มีลำตัวสีขาวนวลโดยตลอดและเป็นรูปโค้ง (C-shaped) หัวกะโหลกมีสีน้ำตาล มีขนาดใหญ่และแข็ง ปากมีเขี้ยวใหญ่แข็งแรง เห็นขาชัดเจน แต่ไม่ค่อยใช้เดินหนอนโตเต็มที่มีความยาว 65-70 มม. กว้าง 20-25 มม. หัวกะโหลกกว้าง 10 มม.
3. ดักแด้ เป็นแบบ exarate หนอนเข้าดักแด้ใหม่ๆ มีสีขาวนวล หรือสีครีม แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลดำ หนวด ขา และปีกเคลื่อนไหวเป็นอิสระเห็นได้ชัดเจน ยาวประมาณ 45-50 มม. กว้าง 25 30 มม.
4. ตัวเต็มวัย เป็นแมลงปีกแข็งค่อนข้างใหญ่ ยาวประมาณ 32-40 มม.กว้าง 15-20 มม.ส่วนท้ายของปีกมีจุดสีขาวด้านละจุด เพศผู้มีสีน้ำตาลดำตลอดตัว ส่วนเพศเมีมีสีน้ำตาลปนเทาสีอ่อนกว่าเพศผู้ทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว
ในต่างประเทศ เช่น ในควีนแลนด์ (Queensland) พบว่า Lepidiota frenchi Blackburn มีวงจรชีวิตนานถึง 2 ปี สำหรับแมลงนูนหลวงในประเทศอินเดีย มีวงจรชีวิต 1 ปี ต่างชนิดกับแมลงนูนหลวง คือเป็นชนิด Holotrichia sp.
การศึกษาเกี่ยวกับ L. stigma ในประเทศไทยพบว่ามีวงจรชีวิต 1 ปี และมี 1 รุ่นต่อปี ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ในดินกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2538-2539 ออกเป็นตัวเต็มวัยครั้งแรกเดือนมิถุนายนตอนพลบค่ำเวลา 18.30-18.45 น. ตัวเต็มวัยออกมามากขึ้นเมื่อฝนตกและดิเปียกโชก คาดว่าปีใดไม่มีฝนตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีถัดไปแมลงชนิดนี้จะมีปริมาณลดน้อยลงมาก เมื่อออกจากดักแด้ตอนพลบค่ำ ตัวเต็มวัยจะบินออกไปที่ต้นไม้ใหญ่บริเวณไร่อ้อยที่ถูกทำลาย คือ ต้นมะขามเทศ ข่อย มะม่วง และมะพร้าว ถ้ามีต้นมะขามเทศจะชอบมากว่าชนิดอื่น ตัวเต็มวัยจะบินวนเวียนตามยอดต้นไม้ใหญ่ประมาณ 15-20 นาที เพื่อเลือกหาคู่ผสมพันธุ์ เสร็จแล้วจะบินลงมาเกาะตามกิ่งไม้แล้วผสมพันธุ์ทันที ขณะผสมพันธุ์ตัวเต็มวัยเพศเมียจะใช้ขาคู่หน้าเกาะตามกิ่งไม้ ส่วนเพศผู้ที่กำลังผสมพันธุ์จะห้อยหัวลงมาโดยไม่เกาะกิ่งไม้ การผสมพันธุ์ใช้เวลานาน 15-30 นาที จึงแยกออกจากกัน และเกาะอยู่ตามกิ่งไม้นานประมาณ 10-15 นาที เพศเมียจึงบินลงสู่พื้นดินในบริเวณไร่อ้อย หรือบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ แล้วใช้ขาคู่หน้าขุดและแทรกตัวเองเข้าไปในพื้นดิน ส่วนเพศผู้หลังจากผสมพันธุ์แล้วส่วนใหญ่ยังคงเกาะอยู่ตามกิ่งไม้และจะบินลงพื้นดินก่อนรุ่งเช้า หลังจากตัวเต็มวัยเพศเมียผสมพันธุ์แล้ว 14-15 วัน หรือเฉลี่ย 20 วัน จึงเริ่มวางไข่ในดินลึกประมาณ 15 ซม. เพศเมียสามารถวางไข่ต่อไปอีกประมาณ 2-6 วัน เฉลี่ย 3 วัน เพศเมียตังหนึ่ง สามารถวางไข่ได้ 15-28 ฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 13 ฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุ 30-40 วัน ระยะไข่ 15-28 วัน หรือเฉลี่ยประมาณ 18 วัน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีหัวกะโหลกกว้าง 4 มม. ลำตัวยาวประมาณ 7-8 มม.ระยะนี้หนอนอาศัยอยู่ตามบริเวณใต้กออ้อยและอยู่ลึกลงไปจากสันร่องอ้อยประมาณ 20-32 ซม. หนอนมีการลอกคราบ 3 ครั้ง หนอนวัยที่ 2 มีหัวกะโหลกกว้าง 7 มม. ลำตัวยาว 35-40 มม. หนอนจะลอกคราบเป็นวัยที่ 3 ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งระยะนี้หนอนเจริญเตบโตรวดเร็ว และเป็นระยะที่หนอนกินอาหารมากกว่าวัยอื่นๆ จึงเป็นระยะที่ทำความเสียหายให่แก่รากอ้อยมากที่สุด เมื่อหนอนโตเต็มที่มีหัวกะโหลกกว้าง 10 มม. หนอนมีอายุนานถึง 8-9 เดือน หนอนจะเข้าดักแด้ประมาณเดือนธันวาคม ก่อนที่หนอนจะเข้าดักแด้หนอนจะมุดลงไปในดินลึกถึง 85 ซม. แต่พบเป็นส่วนน้อย ก่อนเข้าดักแด้หนอนจะทำเป็นโพรงดินยาวประมาณ 55 มม.กว้าง 25 ซม.และเข้าดักแด้ในโพงดิน ระยะดักแด้ประมาณ 2 เดือนจึงออกเป็นตัวเต็มวัย และผสมพันธุ์ทันที ตัวเต็มวัยกินอาหารน้อยมาก และไม่ชอบบินมาเล่นไฟ รวมอายุของแมลงชนิดนี้ตั้งแตไข่จนตัวเต็มวัยตายประมาณ 1 ปี
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
เป็นแมลงที่มีการแพร่กระจายในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบเข้าทำลายอ้อยมากในจังหวัดชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรีและกำแพงเพชร
พืชอาหาร
อ้อย มันสำปะหลัง และตะไคร้
ศัตรูธรรมชาติ
ขณะไถไร่มีสุนัขและนกชนิดต่างๆ ช่วยกินหนอน นอกจากนี้ยังพบเชื้อราซึ่งยังมาทราบชื่อช่วยทำลายหนอนและดักในดิน สำหรับตัวเต็มวัยจะถูกชาวบ้านจับไปทอดกินเป็นอาหาร
การป้องกันกำจัด
1.เนื่องจากแมลงชนิดนี้ออกเป็นตัวเต็มวัยปีละครั้ง วิธีที่ประหยัดและใช้ได้ผลดีคือ เกษตรกรควร
ร่วมมือกันจับตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือนำไปทอดเป็นอาหารก่อนที่จะไปวางไข่โดยเริ่มจับครั้งแรกกลางเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2530-2539 แมลงนูนหลวงออกเป็นตัวเต็มวัยในเดือนมิถุนายน เมื่อตัวเต็มวัยเริ่มออกมาให้จับตัวเต็มวัยโดยใช้ไม้ตีตามกิ่งไม้หรือปีนขึ้นไปเขย่าให้ตัวเต็มวัยตกลงมาในขณะผสมพันธุ์ ใช้เวลาจับประมาณวันละ 30 นาที เริ่มจากเวลา 18.30-19.00 น. และจับต่อเนื่องกันประมาณ 15-20 วัน วิธีนี้จะเป็นการช่วยลดประชากรแมลงนูนหลวงได้มาก เมื่อดำเนินการต่อเนื่องกันไป 2-3 ปี แมลงชนิดนี้จะหมดความสำคัญลง
2. ไร่อ้อยที่ถูกทำลายมากและคาดว่าจะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าแรงงาน ควรรีบไถพรวนหลายๆ ครั้ง
เพื่อทำลายหนอนก่อนที่จะเข้าดักแด้ในดินลึกตอนเดือนธันวาคม นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ควรพรวนดินหลายๆครั้งเพือ่ทำลายไข่และหนอนที่อย่ในดินก่อนปลูกอ้อย
3. ถ้าจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงควรจะใช้วิธีป้องกันจะให้ผลดีกว่าการกำจัด เพราะเมื่อหนอนโตแล้วการใช้สารฆ่าแมลงจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล และเป็นการยากที่จะเข้าไปพ่นสารฆ่าแมลงเมื่ออ้อยโต ระยะเวลาที่ใช้สารฆ่าแมลงที่เหมาะสมคือ ระยะที่หนอนเริ่มฟักออกจากไข่ประมาณกลางเดือนมีนาคม สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลดีคือ fipronil (Ascend 5% SC) อัตรา 80-250 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นไปตามร่องอ้อย สำหรับอ้อยตอให้เปิดหน้าดินออกทั้ง 2 ด้านของแถวอ้อยห่างจากกออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารฆ่าแมลงไปตามร่องอ้อยที่เปิดหน้าดินออก เสร็จแล้วเอาดินกลบ
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช