banner ad

หนอนกอลายจุดใหญ่

| December 30, 2014

หนอนกอลายจุดใหญ่

ชื่อสามัญ : Stem borer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chilo Tumidicostallis (Hampson)

ชื่อเดิม : Argyria Tumidicostallis Hampson,Chilo gemininotalis Hampson

ชื่อวงศ์ : Pyralidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนกอลายจุดใหญ่เป็นแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญชนิดหนึ่ง ระบาดทำความเสียหายให้กับอ้อยในระยะอ้อยเป็นลำ สาเหตุการระบาดคือ มีความชื้นสูง เพราะหนอนกอลายจุดใหญ่จะระบาดมากเมื่อมีความชื้น 70-80 % ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกมากและฝนตกชุก พันธุ์อ้อยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการระบาด พันธุ์อ้อยที่อ่อนแอจะสูญเสียมาก เช่น พันธุ์มาร์กอส คิว 130 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่หนอนกอลายจุดใหญ่ชอบทำลาย ถ้ามีการระบาดแล้วจะทำให้อ้อยสูญเสียทั้งน้ำหนักและความหวาน

เมื่ออ้อยอายุประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งอยู่ในระยะย่างปล้อง จะพบว่าตัวเต็มวัยของหนอนกอลายจุดใหญ่เริ่มเข้ามาวางไข่ที่ใบอ้อย เมื่อหนอนฟักออกมาจะเดินเรียงแถวกันแล้วเจาะที่ยอดอ้อยห่างจากที่วางไข่ประมาณ 1 ปล้อง หนอนจะเจาะเข้าไปอยู่ข้างในลำต้นทั้งหมดประมาณ 300-400 ตัว โดยเจาะรูเข้าไปรูเดียว และกัดทำลายทำให้อ้อยเสียหาย ถ้าเป็นพันธ์ที่อ่อนแอ หนอนจะเจะไปถึงโคนต้น และกินเนื้ออ้อยจนหมดเหลือแต่เปลือก การระบาดของหนอนกอลายจุดใหญ่ส่วนมากพบระบาดในบริเวณที่มีการปลูกอ้อยเหนือนาข้าว เพราะบริเวณนั้นจะมีความชื้นสูงอยู่ตลอด

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่ ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นกลุ่มมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา มีไขหุ้ม กลุ่มไข่ยาวกว่าไข่ของหนอนกอลายจุดเล็ก ไข่แต่ละกลุ่มมีประมาณ 27-370 ฟอง

หนอน พื้นลำตัวมีสีขาวนวล เหมือนกับหนอนกอลายจุดเล็ก แต่ลายที่ด้านข้างและบนลำตัวแตกต่างกัน (ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์) ลอกคราบ 7 ครั้ง มี 8 วัย ระยะหนอน 25-30 วัน หนอนโตเต็มที่กว้างประมาณ 3.25-3.92 มม. ยาวประมาณ 19.12-.23.22 มม.

ดักแด้ มีสีน้ำตาลแดง ลักษณะเหมือนดักแด้ของผีเสื้อทั่วๆ ไป (คล้ายหนอนกอลายจุดเล็ก) มีขนาดกว้าง 2.87 4.89 มม.ยาว 10.98-14.93 มม.

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลเข้ม เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้คือ ปีกกว้างประมาณ 26.21-.24 มม.ลำตัวยาว 14.53-18.24 มม.

ในเวลากลางวันผีเสื้อจะเกาะอยู่ตามชอกใบ หรือกาบใบอ้อย ซึ่งเห็นได้ยาก ผีเสื้อเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มในเวลากลางคืน วางไข่ที่ใต้ใบอ้อย บนใบ กาบใบ และลำต้นอ้อย ระยะไข่ 9 วัน ไข่แต่ละกลุ่มมีอัตราฟักออกออกเป็นกนอนตามสภาพธรรมชาติ 96.96% หนอนที่ฟักออกจากกลุ่มไข่ใหม่ๆ จะเดินเรียงแถวกันแล้วเจาะเข้าไปในลำต้นอ้อย โดยเจาะรูเดียวและเข้าไปอยู่ทั้งหมด และกัดกินเนื้ออ้อยทำให้อ้อยเสียหายเมื่อถึงวัยที่ 4-5 หนอนจะออกจากลำเดิมและเจาะเข้าสู่ลำใหม่ รยะหนอนใช้เวลา 25-30 วัน ลอกคราบ 7 ครั้ง มี 8 วัย เข้าดักแด้ภายในลำต้นอ้อย ระยะดักแด้ 7-10 วัน จึงออกมาเป็นผีเสื้อ ระยะตัวเต็มวัย 3-5 วัน หนอนกอลายจุดใหญ่มี 4-5 รุ่นต่อปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบทั่วไปในในแหล่งปลูกอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด เพราะว่ามีการปลูกอ้อยเหนือนาข้าว และใช้พันธุ์อ้อยที่อ่อนแอ ซึ่งหนอนกอลายจุดใหญ่ชอบทำลาย ระบาดเมื่อความชื้นสูง 70-80 % มีประชากรต่ำในช่วงฤดูแล้ง

พืชอาหาร

อ้อย

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติที่เข้าทำลายไข่หนอนกอลายจุดใหญ่ คือ แตนเบียนไข่ Trichogramma spp. และ Telenomus sp. ตัวห้ำกินไข่พบ 3 ชนิด คือ แมลงปีกแข็งคล้ายมด Anthicus ruficollis Saunder และ Formicomus braminus braminus La Ferti-Senectere มวนพิฆาต (Epcanthecona sp.)แตนเบียนหนอนที่พบทำลายหนอนคือ Cotesia sp. ตัวห้ำกินหนอนคือ แมลงหางหนีบ (Proreus simulans Stallen)

การป้องกันกำจัด

1.ระยะตัดอ้อยเข้าโรงงาน

แปลงที่ไว้ตอจะเห็นรอยทำลายที่ตออ้อยเป็นรูลงไป ในระยะนี้หนอนลงไปที่ตออ้อยเข้าระยะพักตัว

ไม่กินอาหาร ไม่เคลื่อนไหว ถ้าสำรวจพบการทำลายมากกว่า 10% ให้ใช้สารฆ่าแมลง deltamethrin (Decis 25% TBlet) อัตรา 2 เม็ดต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ beta-cyfluthrin/chlorpyrifos (Bulldock Star 1.25% / 25% EC) อัตรา 20 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นที่ตออ้อยหลังจากตัดอ้อยแล้วไม่เกิน 10 วัน ถ้าพบการทำลายลำน้อยกว่า 10% ให้ปล่อยแตนเบียนหนอน อัตรา 500 ตัว/ไร่

2. ระยะแตกหน่อ

พบการทำลายของหนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู ส่วนหนอนกอลายจุดใหญ่ยังอยู่ในระยะพักตัวที่ตออ้อย ถ้าสำรวจพบการทำลายหน่อมากกว่า 10 % ให้ใช้สารฆ่าแมลง ถ้ำบการทำลายหน่อน้อยกว่า 10% ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ อัตรา 12,000-20,000 ตัว/ไร่ หนอนกออ้อยทั้งสามชนิดนี้มีวงจรชีวิตที่คละกัน การวางไข่จะไม่พร้อมกัน สามรถใช้แตนเบียนไข่ได้ และใช้แตนเบียนหนอน อัตรา 500 ตัว/ไร่ ปล่อยเพื่อทำลายหนอน

3. ระยะอ้อยเป็นลำ

เป็นระยะที่อ้อยได้รับความเสียหายมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่หนอนกอลายจุดใหญ่ออกจากระยะพักตัว และเริ่มวางไข่ สามารถป้องกันกำจัดโดย

  1. สำรวจแปลงอ้อย ถ้าพบการทำลายให้รีบตัดทำลายทิ้ง โดยนำหนอนมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งทำได้หลายอย่าง เช่น รถด่วนอีสาน นำมาทอดได้ทั้งหนอนและดักแด้ ข้าวเกรียบ น้ำยาขนมจีน ทอดมัน เป็นต้น
  2. ถ้าพบการทำลายลำน้อยกว่า 20% ให้ปล่อยแตนเบียนหนอนอัตรา 100-500 ตัว/ไร่ ปล่อยทุกสัปดาห์ (ระยะนี้ตัวหนอนมีจำนวนมาก ใน 1 ลำ มีประมาณ 27-370 ตัว) หรือใช้วิธีกล โดยการตัดลำอ้อยที่มีหนอนกอลายจุดใหญ่เข้าทำลายทิ้งและทำลายหนอนที่อยู่ในลำอ้อย
  3. ถ้าพบหนอนกอลายจุดใหญ่เริ่มออกเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 50% (สังเกตจากการผ่าลำและดูคราบของดักแด้) ให้พ่นสารฆ่าแมลง deltamethrin (Decis 3% EC) อัตรา 10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ cypermethrin (Ripcord 15% EC) อัตรา 25 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเย็นเวลา 16.00-18.00 น. โดยใช้เครื่องพ่นแรงดันน้ำสูง หลังจากนั้น 5-7 วัน ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ตามอีกครั้ง
  4. ถ้าพบไข่ตั้งแต่ 0.2-1.0 กลุ่ม/ต้น ให้พ่นปิโตรเลียมออยล์ อัตรา 100 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือปล่อยแตนเบียนไข่ อัตรา 12,000-20,000 ตัว/ไร่
  5. เกษตรกรจะต้องหมั่นตรวจดูแปลงอ้อยอยู่เสมอ ถ้าพบการทำลายของหนอนกอลายจุดใหญ่ให้รีบทำการป้องกันกำจัดทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news