banner ad

หนอนกอลายจุดเล็ก

| December 30, 2014

หนอนกอลายจุดเล็ก

ชื่อสามัญ : Early shoot borer,Yellow top borer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chilo infuscatellus Snellen

ชื่อเดิม : Argyria sticticraspis Hampson,Argyria coniorta Hampson,Diatraea calamine Hampson,Diatraea shariinensis Eguchi,Chilo tadzhikellus Gerasimov,Chilotraea infuscatellus Kapur

ชื่อวงศ์ : Pyralidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เป็นแมลงที่สำคัญที่สุดของอ้อยในระยะอ้อยแตกกอ แมลงชนิดนี้เข้าทำลายอ้อยทำให้อ้อยได้รับความเสียมากและยากแก่การป้องกันกำจัด การเข้าทำลายในระยะแรกจะเห็นได้ยาก เกษตรกรจะทราบเมื่ออ้อยถูทำลายไปแล้ว หนอนเจาะเข้าทำลายทั้งหน่อ(shoot) ยอด ( top) และลำต้น (stalk หรือ stem) จัดได้ว่าเป็นแลงที่เข้าทำลายเกือบตลอดอายุการเจริญเติบโตของอ้อย ในระยะอ้อยแตกกอหนอนจะเจาะเข้าทำลายหน่ออ้อยทำให้เกิดอาการยอดแห้งตาย (dead heart) หน่อแม่จะถูกทำลายมากที่สุดประมาณ 52 % หน่อที่ 2 ถูกทำลาย 21% หน่อที่ 3 ถูกทำลาย 15 % และหน่ออื่นๆ ถูกทำลาย 12 % การเข้าทำลายหน่ออ้อยจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5 – 40% เนื่องจากอ้อยมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอและมรอายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง เมื่ออ้อยโตมีลำแล้วหนอนจะเจาะเข้าไปทำลายอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งจะไม่ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง แต่จะมีผลทำให้ค่าความหวาน (ซีซีเอส) ของอ้อยลดลงประมาณ 7 % นอกจากนี้เมื่อนำอ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลายมากไปปลูกทำเป็นท่อนพันธุ์ จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกลดลงหรือไม่งอก ซึ่งมีผลทำให้ต้องปลูกซ่อมอ้อยใหม่ หรือถ้าอ้อยงอกจะไม่สมบูรณ์

ขณะที่อ้อยยังเป็นหน่อ หนอนจะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโต (growing point ) ภายในและส่วนฐานของใบอ้อยที่ยังไม่คลี่ทำให้เกิดอาการ ยอดแห้งตาย อาการยอดแห้งตายจะปรากฎช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอายุของอ้อย ลักษณะการทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กคือ จะพบรูเจาะเล็กๆ หลายรูตรงโคนหน่ออ้อย ระยะอ้อยย่างปล้องหนอนยังเข้าทำลายอยู่โดยเจาะเข้าทำลายลำต้นและยอดอ้อย เมื่อเจาะเข้าทำลายลำต้นมากหรือส่วนยอดถูกทำลาย จะทำให้อ้อยแตอแขนงใหม่ (side shoot) เกิดอาการแตกยอดพุ่ม (Bunchy top) แต่การแตกยอดพุ่มน้อยกว่าการเข้าทำลายของหนอนกอสีขาว

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่ ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นกลุ่มคล้ายเกล็ดปลาเล็กๆ วางซ้อนกันอยู่ไม่มีอะไรคลุม ผิวเป็นมันเรียบสีขาว ไข่แต่ละกลุ่มมีประมาณ 10-45 ฟอง เฉลี่ย 24 ฟอง/กลุ่ม กลุ่มไข่มีลักษณะคล้ายกลุ่มไข่ของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

หนอน พื้นลำตัวมีสีขาวนวล มีขนสั้นๆ สีน้ำตาลดำ ที่โคนของขนมีรอยสีน้ำตาลดำ จึงมองเห็นเป็นรอยแต้มสีน้ำตาลดำหรือเป็นลายสีน้ำตาลดำสลับขาวอยู่ทั่วลำตัว หนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 24-26 มม. กว้าง 2-3 มม. หัวกะโหลกกว้าง 2 มม.สีน้ำตาลดำเข้ม

ดักแด้ สีน้ำตาลแดง ลักษณะเหมือนดักแด้ของผีเสื้อทั่วๆไปคือมีปีก และขาแนบติดกับลำตัว ส่วนหัวมีจุดสีดำเป็นตา 2 จุด ส่วนหัวและอกใหญ่กว่าส่วนท้อง ตรงปลายเรียวแหลมมากกว่าดักแด้หนอนกอสีชมพู ดักแด้ยาว 15-17 มม. กว้าง 2.5 3 มม.

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลส่วนใหญ่เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้คือ เมื่อกางปีกจะกว้างประมาณ 25-28 มม.ลำตัวยาว 13-15 มม.ส่วนเพศผู้เมื่อกางปีกจะกว้างประมาณ 20-23 มม.ลำตัวยาว 10-12 มม. ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดสีน้ำตาลดำเลือนๆ อยู่ข้างละจุด ส่วนปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลอ่อนเพศผู้มีน้ำตาลเข้มกว่าเพศเมีย

ในเวลากลางวันผีเสื้อจะเกาะพักอยู่ตามใต้ใบอ้อยแห้ง ซึ่งมองเห็นตัวได้ยาก ผีเสื้อเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มในเวลากลางคืนทั้งด้านบนและใต้ใบอ้อย แต่ส่วนใหญวางไข่ใต้ใบอ้อยคือเฉลี่ยวางไข่บนใบ 1 กลุ่มต่อใต้ใบ 3 กลุ่ม ไข่ที่วางใหม่ๆ มีสีขาวนวล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนฟักเป็นหนอนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ระยะไข่ 4-6 วัน ไข่แต่ละกลุ่ม มีอัตราการฟักเป็นหนอนตามสภาพธรรมชาติประมาณ 60 % ไข่ไม่ฟักเป็นตัวหนอนเนื่องจากความไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 13 % จำนวนหนอนที่ฟักออกมาเฉลี่ย 19 ตัวต่อไข่ 1 กลุ่ม หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ และหนอนวัยที่ 2 จะแทะกินเยื่อผิวใบอ้อยจากด้านบนลงมาเห็นเป็นรอยสีขาวอยู่ทั่วบนใบอ้อย หลังจากนั้นหนอนวัยที่ 3 จะทิ้งตัวจากใบอ้อยลงมาที่โคนหน่ออ้อยด้วยสายใย (silken thread) แล้วเจาะเข้าไปภานในระดับผิวดิน และเคลื่อนย้ายขึ้นไปกัดกินยอดอ่อนที่อยู่ในยอดอ้อย ทำให้ยอดอ้อยที่ใบยังไม่คลี่แห้งตาย หนอนเริ่มเข้าทำลายหน่ออ้อยเมื่ออ้อยอายุประมาณ 1 เดือน หลังจากอ้อยโตมีลำแล้ว หนอนจะเคลื่อนย้ายจากใบหรือทิ้งต้วยด้วยสายใยลงมาเจาะเข้าทำลายครงส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย หรือหนอนจะเจาะเข้ากัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อยโดยตรง อุปนิสัยที่แตกต่างจากหนอนกออ้อยชนิดอื่น คือ หนอนตัวเดียวกันจะเจาะเข้าและ เจาะออกหลายครั้งที่หน่อหรือลำต้นอ้อย จึงพบรอยเจาะหลายๆ รู ระยะหนอนใช้เวลา 30-35 วัน ลอกคราบ 5 ครั้ง เข้าดักแด้อยู่ภายในหน่อหรือลำต้นอ้อย ระยะดักแด้ประมาณ 5-8 วัน จึงออกเป็นผีเสื้อและบินออกปางรูที่หนอนเจาะเข้ามาครั้งแรก ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 10-12 วัน หนอนกอลายจุดเล็กมี 5-6 ชั่วอายุต่อปี

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

 

พบทั่วไปในในแหล่งปลูกอ้อยทั่วประเทศ ในต่างประเทศพบว่ามีเขตการแพร่กระจายจากอัฟกานิสถานไปถึงส่วนกลางของทวีปเอเชีย และจากอินเดียถึงเกาหลี ใต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หนอนกอลายจุดเล็กเข้าทำลายอ้อยเกือบตลอดอายุการเจริญเติบโต ส่วนใหญ่เข้าทำลายอ้อยในระยะแตกกอ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลปลูกอ้อยของแต่ละท้องที่ ระบาดมากเมื่ออุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ และไม่มีฝน ประชากรต่ำในช่วงฤดูฝนหรือมีความชื้นสูง

พืชอาหาร

อ้อย ลำเจียก แขม หญ้าแพรก หญ้าแห้วหมู เดือย หญ้าขนนก หญ้าพง พงหรือเลาและหญ้าคา

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติที่เข้าทำลายไข่ของหนอนกอลายจุดเล็กได้แก่ แตนเบียนไข่ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ Trichogramma chilonis Ishii และ Telenomus beneficiena Zehntner นอกจากนี้ยังพบแมลงปีกแข็ง มีลักษณะคล้ายมดเป็นตัวห้ำกินไข่ 2 ชนิด คือ Anthicus ruficollis Saunder และ Formicomus braminus braminus La Ferti-Senectere ไข่ถูกแตนเบียนทำลายเฉลี่ย 40% และถูกตัวห้ำทำลายเฉลี่ย 24%

แตนเบียนที่พบเข้าทำลายหนอนมี 2 ชนิด คือ Cotesia sp. และ Bracon chinensis Szepligeti แต่ช่วยทำลายหนอนได้น้อยคือประมาณ 4-6%

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้พันธุ์ที่ต้านทานดีพอสมควร คือ เอฟ 156
  2. ในเขตชลประทานหรือในฤดูฝน ควรใช้ carbosulfan (Furadan 3% G) โดยใส่ตอนปลูกและใส่ซ้ำหลังอ้อยงอก 45 วัน ครั้งละ 6-10 กก./ ไร่ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อแมลงศัตรูธรรมชาติน้อย
  3. หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยแล้วควรใช้ใบอ้อยคลุมดินไว้ ถ้าเผาใบอ้อยให้ใช้วัสดุอื่นคลุมแทน เช่น กากอ้อย จะสามารถลดการเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กได้
  4. สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลดักับหนอนกอลายจุดเล็กคือ deltamethrin (Decis 3% EC) อัตรา 10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฆ่าแมลง cypermethrin (Ripcord 15% EC) อัตรา 15 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร
  5. สุ่มตัวอย่างหนอนกออ้อยแบบซีเควนเชียล โดยนับกออ้อยที่ถูกทำลายและไม่ถ๔ทำลาย

การสุ่มตัวอย่างแบบซีเควนเชียลเป็นการสุ่มตัวอย่างอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ได้กำหนดหน่าวยที่จะสุ่มให้แน่นอนลงไป ใช้เวลาสุ่มรวดเร็ว การสุ่มตัวอย่างแบบซีเควนเชียลจะใช้เมื่อมีจำนวนแมลงมาก ถ้ามีจำนวนแมลงน้อยจะใช้ระดับเศรษฐกิจ คือ ในช่วงฤดูแล้งระดับเศรษฐกิจควรเป็นที่ 10% ของหน่ออ้อยที่ถูกทำลาย ส่วนในฤดูฝนหรือในเขตชลประทานระดับเศรษฐกิจควรเป็นที่ 15% ของหน่อที่ถูกทำลาย

วิธีการสุ่ม ถ้าใช้ระดับเศรษฐกิจที่ 10%

เดินเข้าไปในแปลงอ้อย สุ่ม (random) นับกออ้อยที่ ถ้าพบการทำลายของหนอนกออ้อยคือ ยอดแห้งตาย ให้เขียนเลข 1 ลงตรงช่องกอที่ถูกทำลายสะสม เดินสุ่มต่อไปนับกออ้อยที่ 2 ถ้าพบการทำลายให้เขียนเลข 2 ลงตรงช่องกอที่ถูกทำลายสะสม สุ่มถึงกอที่ 9 เป็นกอที่จะเริ่มตัดสินใจ ถ้ามีกอทำลายสะสมเท่ากับ 7 หยุดทำการสุมเพราะว่ากอที่ถูทำลายสะสมมากกว่าขีดจำกัดบนคือ 6 แสดงว่าประชากรของหนอนกออ้อยมีถึงระดับเศรษฐกิจแล้ว คือ 10% จึงตัดสินใจใช้สารฆ่าแมลง ถ้ามีกอที่ถูกทำลายสะสมน้อยกว่า 6 จะต้องสุ่มต่อไปจนกว่ากอที่ถูทำลายสะสมจะมากว่าหรือเท่ากับขีดจำกัดบน ถ้าอ้อยอายุ 1 เดือน จะต้องสุ่ม 100 กอ ถ้าอ้อยอายุ 1 – 4 เดือน จะต้องสุ่ม 50 กอถ้าจำนวนกอที่ถูกทำลายสะสมไม่เท่ากับหรือมากกว่าขีดจำกัดบนให้หยุดสุ่ม เพราะว่าประชากรของหนอนกออ้อยอยู่ในระดับปานกลางอีก 2 สัปดาห์จะต้องทำการสุ่มใหม่

ถ้าสุ่มกอที่ 1 ไม่พบการทำลายให้เขียนเลข 0 ลงในช่องกอที่ถูกทำลายสะสม สุ่มไปจนถึงกอที่ 9 ถ้ายังไม่พบกอที่ถูกทำลายให้หยุดสุ่มเพราะว่าจำนวนกอถูกทำลายสะสมน้อยกว่าหรือเท่ากับขีดจำกัดล่างคือ 0

ถ้าใช้ระดับเศรษฐกิจที่ 15%วิธีการสุ่มจะเหมือนกัน แต่จะเริ่มตัดสินใจเมื่อถึงกอที่ 6

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news