banner ad

หนอนม้วนใบฝ้าย

| December 30, 2014

หนอนม้วนใบฝ้าย

ชื่อสามัญ : Cotton leafroller

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sylepta derogata (Fabricius)

ชื่อวงศ์ : Pyralidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนม้วนใบเข้าทำลายฝ้ายในช่วงกลางฤดู เมื่อฝ้ายโตเต็มที่โดยกัดกินใบฝ้าย ถ้าเกิดระบาดมากๆ ใบฝ้ายอาจถูกทำลายหมด ทำให้กระทบกระเทือนถึงการเจริญของดอกและสมอ ดอกอาจร่วงสมอไม่เจริญเต็มที่ก็แตกปุย ทำให้เสียทั้งด้านผลผิตและคุณภาพเส้นใยและเมล็ด้วย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่ ขนาดเล็กมาก มีลักษณะแบน ผิวเรียบยาวรี สีเขียวอมเหลือง วางอยู่เป็นฟองเดี่ยว กระจัดกระจายบนต้นฝ้าย ปกติอยู่ใต้ใบอ่อน ระยะไข่ 3-5 วัน

หนอน กินใบฝ้ายตั้งแต่ออกจากไข่จนกระทั่งเข้าดักแด้ หนอนออกจากไข่ใหม่จะแทะให้ใบฝ้ายขาดกว่าครึ่งของซีกใบ แล้วจะม้วนส่วนที่ขาดรอบตัวเอง และขึงเส้นใยรัดรังให้แน่น ทำให้เกิดเป็นรูปกรวย ในกรวยหนึ่งๆ อาจจะพบหนอนหลบอาศัยอยู่หลายตัว เมื่อหนอนโตขึ้นแต่ละตัวจะแยกย้ายไปสร้างกรวยของตนเอง หนอนโตเต็มที่ยาว 22-24 มม. สีขาวอมเขียวค่อนข้างใส หัวสีน้ำตาลดำ มีแผ่นสำดำที่ตรงต้นคอ อายุของหนอน 15-18 วัน

ดักแด้ สีน้ำตาลยาว10-14 มม. มีขนเป็นหนามแหลมอยู่ 8 อัน ตรงปลายดักแด้มีขนเป็นตะขอ หนอนเข้าดักแด้ในกรวยของใบฝ้าย อายุดักแด้ 5-13 วัน

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน สีพื้นขาวนวล หัวและหน้าอกมีจุดดำ ท้องมีวงแหวนสีน้ำตาล ปีกมีริ้วเป็นลูกคลื่นสีน้ำตาลหรือดำ มีชีวิตอยู่ไม่เกิน 10 วัน ชีพจักรของแมลงตั้งแต่ไข่จนเป็นตัวแก่ในระยะหน้าฝนจะกินเวลา 3-7 สัปดาห์

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบทั่วไปในในแหล่งปลูกฝ้ายและกระเจี๊ยบเขียว ระบาดมากในช่วงกลางฤดูปลูก ถ้าไร่ฝ้ายที่ไม่มีการพ่นสารฆ่าแมลงจะพบหนอนชนิดนี้ลงทำลายใบมาก แต่ถ้ามีการพ่นสารฆ่าแมลงเป็นประจำจะไม่ค่อยพบการระบาดของแมลงชนิดนี้

พืชอาหาร

กระเจี๊ยบ ตลับนาค ชบา ต้นแป้ง หญ้าละออง

ศัตรูธรรมชาติ

1.Xanthopimplar punnctator Linnnaeus (F. Ichneumonidae)

2.Phanerotoma sp. (F.Braconidae)

การป้องกันกำจัด

สารฆ่าแมลงทุกชนิดที่แนะนำให้ใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายใช้ป้องกันกำจัดหนอนม้วนใบได้

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news