banner ad

หนอนบุ้งกินใบ

| December 30, 2014

หนอนบุ้งกินใบ

ชื่ออื่นๆ : หนอนบุ้งหูแดง หนอนบุ้งปกขาว

ชื่อสามัญ : Leaf eating caterpillar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orgyia turbataButler

ชื่อวงศ์ : Lymantriidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนชนิดนี้กินใบละหุ่งเป็นอาหาร แต่มักไม่ค่อนพบการระบาดอย่างรุนแรงมากนัก นอกจากปีที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม จึงจะเกิดการระบาดขึ้น หนอนเมื่อฟักจากไข่แล้ะวมักจะรวมกันอยู่และกัดกินใบละหุ่งเป็นกลุ่มกัดกินใบละหุ่งเป็นรู ปรุ เว้าแหว่งไปทั่วใบ และอาจกัดกินใบละหุ่งจนหมดต้นได้ หนอนที่กัดกินใบละหุ่งยังคงรวมตัวเกาะอยู่บริเวณยอด หากมีใบอ่อนแตกออกมาใหม่ หนอนก็จะกัดกินจนหมด หากเป็นละหุ่งต้นเล็กละหุ่งจะตายได้ ในกรณีที่เป็นละหุ่งต้นโตอาจแตกใบใหม่ได้ แตอย่างไรก็ตามถ้าเป็นระยะละหุ่งออกดอกติดผล มีผลทำให้ดอกร่างหล่น และผลหรือเมล็ดลีบได้ หนอนเมื่อโตขึ้นจะกระจายออกไปหากินใบละหุ่งทั่วต้น

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน ชนิดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียไม่มีปีก มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่เป็นปล้องๆ ตามลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ลำตัวกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร หัวเล็ก ตาสีดำเข้มจะเกาะอยู่ในรังที่เข้าดักแด้ คอยให้ตัวเต็มวัยเพศผู้มาผสมพันธ์และวางไข่ ตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ปีกคู่หน้าสีเหลืองปนส้ม เมื่อกางปีกออกมาวัดได้ประมาณ 2.0-2.4 เซนติเมตร ปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลปนเทาตรงกลางปีกแต่ละปีกมีจุดสีดำและมีรอยสีดำเป็นเส้นพาดตามขวาง หนวดมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายขนนก ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 250-350 ฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 4-8 วัน

ระยะไข่ ไข่มีลักษณะเป็นเม็ดกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ไข่เมื่อวางใหม่ๆ จะมีสีขาวใสและเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลและสีคล้ำขึ้น ไข่จะอยู่ติดกันเป็นกลุ่มๆ ติดกับเส้นใยที่ห่อหุ้มอยู่ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน

ระยะหนอน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ สีน้ำตาลปนดำ ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร หนอนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเกาะกินใบผิวละหุ่ง เมื่อโตขึ้นหนอนจะมีส่วนหัวสีดำมีหนวดเป็นกระจุกขนสีดำยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ลำตัวหนอนมีสีน้ำตาลปนเหลือง ถัดจากส่วนหัวด้านหลังปล้องที่ 4 มีขนเป็นกระจุกสีเหลือง 4 กระจุก 2 กระจุกแรกมีขนสีดำขึ้นแซมตรงกลาง ลำตัวปล้องที่ 8-10 เป็นแถบสีดำ ปล้องที่ 11 มีขนสีดำยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ขึ้นเป็นกระจุก หนอนมีขาทียม 5 คู่ และเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 15-20 มิลลิเมตร หนอนจะลอกคราบ 4-5 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะลอกคราบ 4 ครั้ง หนอนเมื่อเข้าดักแด้จะชักใยสีขาวห่อหุ้มลำตัวบางๆ แล้วจึงเข้าดักแด้ภายใน ระยะเวลาเป็นหนอนประมาณ 13-18 วัน

ระยะดักแด้ ดักแด้ของเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันคือ ดักแด้เพศผู้มีขนาด 8-10 มิลลิเมตร ส่วนหัวและอกของดักแด้มีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนท้องมีสีน้ำตาลปนเหลือง มีจุดตาสำดำเห็นได้ชัดเจน ดักแด้เพศเมียมีขนาดโตกว่าเล็กน้อยประมาณ 12-14 มิลลิเมตร มีสีคล้ำหรือขาวตลอดทั้งดักแด้ และมีใยบางๆ หุ้มตลอดดักแด้ ระยะดักแด้ประมาณ 4-7 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยเข้าสู่วงจรชีวิตใหม่ต่อไป

สรุปวงจรชีวิต

1.ระยะไข่ 3-5 วัน

2. ระยะหนอน 13-18 วัน

3. ระยะดักแด้ 4-7 วัน

4. ระยะตัวเต็มวัย 4-8 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

จะพบหนอนชนิดนี้ได้ทั่วไปในพืชชนิดต่างๆ และในแหล่งที่มีการปลูกละหุ่งทั่วไป แต่มักไม่เกิดความเสียหายมากนัก หรือการเกิดระบาดมากเป็นจุดๆ แต่ถ้าสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม การระบาดอาจเกิดได้กว้างขวางก่อให้เกิดความเสียหายแก่ละหุ่งได้มาก

พืชอาหาร

นอกจากละหุ่งแล้วยังพบทำลายพืชถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว ข้าวดพด ข้าวฟ่าง คะน้า ยาสูบ หม่อน แค บัวหลวง ทองหลาง ยี่เข่ง ไมยราบ เป็นต้น

ศัตรูธรรมชาติ

ศัตรูธรรมชาติชนิดตัวเบียนเป็นระยะหนอน ได้แก่

แตนเบียน Apanteles sp.(Hymenoptera: Braconidae) และแมลงวันก้นขน (Tachinid fly)ได้แก่ Caroelia sp. (Diptera: Tachinidae)

แตนเบียนหนอน Zenilia modicella Fabricius (Diptera : Tachinidae)

แตนเบียนดักแด้ Brachymeria lasus (Walker) (Hymenoptera : Chalcididae)

ตัวห้ำระยะหนอนได้แก่ Eocanthecona furcellata (Wolff) และมวนเพชฌฆาต Sycanus sp. (Hemoptera : Reduviidae)

ศัตรูธรรมชาติ ชนิดจุลินทรีย์ (microorganism) ที่พบทำลายระยะหนอนได้แก่ เชื้อไวรัส NPV แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis และไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news