banner ad

เพลี้ยอ่อนข้าวโพด

| December 30, 2014

เพลี้ยอ่อนข้าวโพด

ชื่อสามัญ : Corn leaf aphid

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhopalosiphum maidis (Fitch)

ชื่อวงศ์ : Aphididae

ชื่ออันดับ : Homoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นศัตรูที่สำคัญของข้าวโพดในภาวะที่ขาดฝนนานๆ เพราะเป็นแมลงขนาดเล็กและขยายตัวอย่างรวดเร็ยวด้วยการออกลูกเป็นตัวโดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ จากการสังเกตในไร่ข้าวโพดพบว่า ปริมาณของน้ำฝนมีผลต่อปริมาณของเพลี้ยอ่อนมากคือถ้าฝนตกมากปริมาณของเพลี้ยอ่อนจะลดลง ทั้งนี้ต้องเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของข้าวโพดด้วย กล่าวคือระยะที่ข้าวโพดกำลังมีช่อเกสรตัวผู้เป็นระยะที่ข้าวโพดได้รับความกระทบกระเทือนต่อการทำลายของเพลี้ยอ่อนมากที่สุด การระบาดระยะนี้จะมีผลทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 14%ในข้าวโพดไร่ และ 40-80%ในข้าวโพดหวาน

เพลี้ยอ่อนมักจะเกาะกันเป็นกลุ่มๆ โดยใช้ปากที่มีลักษณะเป็นท่อยาวคล้ายเข็มฉีดยาดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของลำต้นข้าวโพด เช่น ยอด ใบ ลำต้น กาบฝัก และจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอก ทำให้เกสรแห้งตาย หากทำลายต่อเนื่องหลายวันข้าวโพดจะแห้งตายในที่สุด และบริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนเกาะกินอยู่มากจะทำให้ช่อดอกไม่บานเพราะน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมาทำให้เป็นยางเหนียว การติดเมล็ดจะน้อยและทำให้เมล็ดไม่เต็มฝัก นอกจากนี้น้ำหวานที่เกิดจากเพลี้ยอ่อนยังดึงดูดให้แมลงศัตรูชนิดอื่นของข้าวโพด เช่น หนอนเจาะฝัก หนอนเจาะลำต้นมาวางไข่ที่ไหมอีกด้วย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นแมลงขนาดเล็กเคลื่อนไหวช้าหัวและอกมีขนาดเล็ก ส่วนท้องโตมีรูปร่างคล้ายผลฝรั่ง ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ตัวเต็มวัยมีสีเขียวอ่อนตลอดทั้งตัวและพบทั้งชนิดที่มีปีกและไม่มีปีกซึ่งเป็นตัวเมียทั้งหมด โดยปกติพวกที่มีปีกจะมีลำตัวเล็กกว่าพวกที่ไม่มีปีก คือความยาวประมาณ 0.8-2 มม. หัว อก หนวดและขามีสีดำ ส่วนท้องมีสีเขียวอ่อน และจุดสีดำทั่วไป ตรงส่วนท้ายของลำตัวมีท่อเล็กๆ 2 อัน เรียกว่า cornicle น้ำหวาน (honey dew) ที่เกิดจากการดูดดกินน้ำเลี้ยงจากท่ออาหารของพืช จะถูกขับถ่ายออกมาทำให้เหนียวเหนอะหนะ สกปรก และเกิดราดำได้ง่าย

เพลี้ยอ่อนขยายพันธุ์โดยการออกลูกเป็นตัวมีเพศเมียเพียงเพศเดียว แล้วตัวเมียเหล่านี้ออกลูกออกหลานต่อไปโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (parthenogenesis) ตัวอ่อนที่ออกใหม่ๆ มีขนาดเล็กมากจะมองเห็นเป็นเพียงจุดสีเหลืองอ่อนๆ เพลี้ยอ่อนที่ไม่มีปีกจะลอกคราบ 4 ครั้ง ก็จะเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ ถ้ามีการลอกคราบครั้งที่ 5 ก็จะเป็นพวกที่มีปีกเพื่อได้บินไปหาแหล่งอาหารใหม่ ซึ่งมักจะเกิดเมื่อพืชอาหารไม่สมบูรณ์ เช่น ใบที่มีเพลี้ยอ่อนเกาะกินอยู่อย่างหนาแน่นจะขาดน้ำหรือใบแก่ไป เป็นต้น ระยะเวลาจากตัวอ่อนจนเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 12 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วก็พร้อมจะขยายพันธุ์ได้อีกโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ภายในเวลาประมาณ 5 วัน หลังจากเป็นตัวเต็มวัยแล้วเพลี้ยอ่อน 1 ตัวออกลูกได้ถึง 45 ตัวแต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 19 ตัว ตัวเต็มวัยชนิดไม่มีปีกมีขนาดยาวประมาณ 2-23 มม. เท่านั้น ถ้ามีอาหารตลอดปีจะมีเพลี้ยอ่อนปีหนึ่ง 30-40 รุ่น

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

เพลี้ยอ่อนพบระบาดอยู่ทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพด ดินฟ้าอากาศที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์ของเพลี้ยอ่อนจะระบาดมากในช่วงต้นฤดู ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการระบาดคือฝนทิ้งช่วงนานๆ และปริมาณแมลงจะลดลงเมื่อฝนตกชุก ส่วนในต่างประเทศจะพบแมลงชนิดนี้ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่โลก

พืชอาหาร

นอกจากข้าวโพดแล้วก็พบว่าเข้าทำลายข้าวฟ่าง พืชตระกูลหญ้าหลายชนิดได้แก่ หญ้าแพรก
หญ้าหางหมาขาว หญ้ารังตั๊กแตน หญ้าละมัน หญ้าชันกาศ และพืชตระกูลแตง

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติที่คอยช่วยทำลายเพลี้ยอ่อน ซึ่งพบอยู่ในไร่ข้าวโพดทั่วๆ ไป ได้แก่

  1. ด้วงเต่าลายหกจุด (Menochilus sexmaculata Fabricius)
  2. ด้วงเต่าสีส้มเล็ก (Micraspis discolor Fabricius)
  3. ด้วงเต่าสีส้มใหญ่ (Harmonia octomaculata Fabricius)

เต่าสามชนิดนี้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินเพลี้ยอ่อนได้ทีละมากๆ ประมาณ 100-115 ตัว และ

1,000-1,116 ตัวตามลำดับ

4. Syrphid fly (Syrphus balteatus) เป็นพวกแมลงวันดอกไม้ในระยะที่ตัวอ่อนเท่านั้นที่กัดกินเพลี้ยอ่อน

5. Earwig (Proreus simulans Stal.) แมลงหางหนีบจะคอยกัดกินเพลี้ยอ่อนอยู่บ้างในไร่ข้าวโพด

การป้องกันกำจัด

โดยปกติแล้วจะมีพวกแมลงศัตรูธรรมชาติดังกล่าวมาแล้วคอยช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามีการระบาดของเพลี้ยอ่อนเกิดขึ้นในระยะที่ข้าวโพดกลำลังมีเกสรตัวผู้และเกิดฝนทิ้งช่วงในระยะนี้ก็อาจใชสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแต่เป็นพิษกับด้วงเต่าน้อยที่สุด ซึ่งได้แก่

Malathion (Mlathion 57% EC) อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร

Diazinon (Basudin 60% EC) อัตรา 15 มล./น้ำ 20 ลิตร

Betacyfluthrin (Bulldock 2.5% EC) อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร

bifenthrin (Talstar 10% EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร

sulprofos (Bolstar 72% EC) อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร

cyhalothrin L (Karate 5% EC) อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร

carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 50 กรัม./น้ำ 20 ลิตร

 

เลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งก็สามารถกำจัดแมลงชนิดนี้ได้ และไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงคลุมไปทั้งไร่ พ่นเฉพาะจุดที่มีเพลี้ยอ่อนอยู่เท่านั้น ถ้ายังมีปริมาณเพลี้ยอ่อนอยู่มากก็พ่นซ้ำอีกครั้งเฉพาะจุดนั้น ยกเว้นในแหล่งที่มีการระบาดอยู่เป็นประจำ ถ้าสำรวจพบเพลี้ยอ่อนเข้าทำลายทั่วทั้งแปลงในระดับความหนาแน่น 5-10% จำเป็นต้องพ่นให้ทั่วไร่ก่อนที่ขบวนการผสมเกสรจะสิ้นสุด จึงจะให้ผลคุ้มค่าการลงทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news