banner ad

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

| December 30, 2014

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

ชื่ออื่นๆ : tropical corn stemborer, Asiatic corn borer

ชื่อสามัญ : Corn stemborer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ostrinia salentialis (Guenee)

ชื่อเดิม : Ostrinia salentialis Snellen

Ostrinia nubilialis (Hubner)

Pyrausta nubilialis (Hubner)

ชื่อวงศ์ : Pyralidae

ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งที่ระบาดทำลายข้าวโพดอย่างรุนแรงทั้งข้าวโพดไร่ และข้าวโพดรับประทานฝักสด โดยเฉพาะในไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดมานานปี หรือในแหล่งที่มีการใช้สารฆ่าแมลงมาก เพราจะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไข่ ซึ่งช่วยควบคุมประชากรของหนอนเจาะลำต้นได้ดี เมื่อปี 2513 แถบจังหวัดสุพรรณบุรี มีการปลูกฝ้ายอย่างกว้างขวางและใช่สารฆ่าแมลงมากพบว่า หนอนเจาะลำต้นข้าวโพดได้ระบาดทำลายข้าวโพดไร่อย่างรุนแรงเกือบ 100% พบจำนวนรูเจาะตั้งแต่ 1-20 รูต่อต้น เฉลี่ย 3-6 รูต่อต้นทำให้ผลผลิตลด 10-40% โดยทั่วไปแล้วหนอนเจาะลำต้นจะเป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพดหวานมากกว่าข้าวโพดไร่ เพราะทำให้ฝักสดเสียราคาเมื่อปรากฎมีรอยทำลายฝัก ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนและข้าวโพดหวานเป็นอุตสาหกรรมส่งออก และการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดไร่ที่เป็นลูกผสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่นั้น ได้พบปัญหาจากหนอนเจาะลำต้นเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทุกปี

โดยปกติหนอนชนิดนี้ชอบเจาะเข้าทำลายภายในลำต้นมากกว่าส่วนอื่น จึงได้ชื่อว่าหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ถ้าในแหล่งที่มีการระบาดมากๆ หนอนจะเจาะกินฝักด้วย ซึ่งมักจะเจาะกินที่ก้านฝักหรือโคนฝัก นอกจากระบาดรุนแรงมากจึงจะเจาะกินที่ตัวฝักดวย โดยเข้ากินภายในแกนกลางหรือเมล็ด ถ้าหนอนระบาดในระยะกำลังให้ดอกเกสรตัวผู้ หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ จะเจาะกินส่วนยอดที่ม้วน เข้าอาศัยกินภายในช่อดอกและเจริญเติบโตในนั้นทำให้ช่อดอกไม่สามารถคลี่บานได้เป็นปกติ ทำให้เกสรตัวผู้ไม่เพียงพอต่อการผสมพันธุ์ได้สมบูรณ์ ฝักที่ได้ย่อมไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดไม่เต็มฝัก ผลผลิตต่ำ ถ้าต้นข้าวโพดที่ยังเล็กมากถูกหนอนเจาะเข้าทำลายจะทำให้ยอดตาย ลำต้นแคระแกรนไม่สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ แม้หนอนจะเจาะกินเพียงภายในลำต้น เมื่อมีลมพัดแรงก็จะทำให้ยอดที่ถูกทำลาย และลำต้นหักล้มได้ง่าย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดความกว้างเมื่อกางปีกจากขอบปีกหนึ่งไปยังอีกปีกหนึ่งประมาณ 30 ซม. ความยาวของลำตัว 1.5 ซม. ที่ปากมีจงอยยื่นออกมา 2 อัน ปีกคู่แรกมีสีทองแดงกลางปีกมีจุดดำเล็กๆ 2 จุดอยู่ใกล้เคียงกัน ขอบปีกมีเส้นตัดตามขวางเป็นลายลูกคลื่นเห็นได้ชัดเช่นเดียวกับที่โคนปีก ปีกคู่หลังสีอ่อนกว่าปีกคู่แรก และเกือบจะไม่มีรอยแต้ม หรือลวดลายอย่างหนึ่งอย่างใด ผีเสื้อมีอายุประมาณ 7-14 วัน

ไข่ เป็นกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีประมาณ 10-20 ฟอง วางซ้อนเรียงกันคล้ายเกล็ดปลาผิวเรียบเป็นมัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.25 มม. ไข่ที่ถูกวางใหม่ๆ มีสีขาวนวล ไข่ที่ใกล้จะฟักมีลักษณะใสและมองเห็นหัวของหนอนเป็นจุดสีดำใด้ชัดเจนคล้ายไข่กบ ระยะไข 3-4 วัน

หนอน ที่ออกจากข่ใหม่ๆ จะพบอยู่ตามซอกยอดข้าวโพดและเจาะเข้าตามเส้นใบหรือส่วนโคนของยอดอ่อนหรือกัดกินผิวใบ มีขนาดความยาวประมาณ 0.5 มม. ลำตัวมีสีขาวตลอดหัวกะโหลกสีน้ำตาลดำขนยาวปกคลุมบางๆ จะเริ่มเจาะเข้าลำต้นในระยะวัยที่ 2-3 และอาศัยกัดกินอยู่ภายในจนกระทั่งเป็นดักแด้ โดยจะเจาะรูที่ต้นเห็นได้ชัดเจน เพื่อเป็นทางถ่ายมูลและเป็นทางออกเมื่อเป็นผีเสื้อ หนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 20 มม. ผ่านการลอกคราบ 5 ครั้ง เมื่อหนอนโตขึ้นลำตัวจะมีสีชมพู และมีจุดสีดำตามลำตัวชัดเจนขึ้น ระยะหนอน 15-21 วัน

ดักแด้ ในระยะแรกมีสีน้ำตาลอ่อนและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสีน้ำตาลไหม้เกือบดำ แต่ทางด้านท้องม่สีจางกว่า มีรอยปีก หนวด และตาเห็นได้ชัด ตามปกติดักแด้จะมีใยสีขาวหุ้มอยู่รอบๆ เพราะหนอนจะเข้าดักแด้ภายในลำต้นข้าวโพด ใช้เวลาในการเป็นดักแด้ประมาณ 5-7 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัยออกจากลำต้น

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

พบมีอยู่ทั่วไปที่มีการปลูกข้าวโพดเทียน ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน โดยปกติข้าวโพดไรมักไม่ได้รับความเสียหาย จากหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดมากนัก เว้นแต่ในบางท้องที่เช่น จ.ราชบุรี สุพรรณบุรี ถ้าปีใดปลูกข้าวโพดล่าในราวกลางเดือนกรกฎาคมจะถูกหนอนเจาะลำต้นทำลายเป็นจำนวนมาก ส่วนท้องที่อื่นที่พบว่ามีหนอนเจาะลำต้นเข้าทำลายก็มีจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อยุธยา อ่างทอง ชัยนาท นครสวรรค์ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ศรีษะเกษ นครราชสีมา ชลบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

ในต่างประเทศพบระบาดในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี รัสซีย แมนจูรีย จีน ใต้หวัน อินเดีย ซีลอน มะลายู เวียดนามเหนือ สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมอรอคโค

พืชอาหาร

พืชอาศัยอื่นๆ นอกจากข้าวโพดยังพบประปรายกับข้าวฟ่าง และพืชผักบางชนิดเช่น มะเขือเทศ มะเขือ และมันเทศ เป็นต้น

ศัตรูธรรมชาติ

ที่พบอยู่ในไร่ข้าวโพดมีอยู่ 4 ชนิด คือ

1. แตนเบียนไข่ มี 3 ชนิดคือTrichogramma chilotreae Nakaraja & Nakagatti, T. chilonis Ishii, T. australicum Girault อยู่ในวงศ์ Trichogrammatidae อันดับ Hymenoptera เป็นแตนเบียนของไข่ที่ช่วยควบคุมประชากรของหนอนเจาะลำต้น โดยทำลายไข่ได้ถึง 40-50% ตัวแก่ของแตนเบียนไข่จะวางไข่ที่กลุ่มไข่ของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดเกือบทุกฟองในกลุ่มนั้น และเจริญเติบโตภายในไข่ประมาณ 5-7 วัน ออกเป็นตัวเต็มวัยจะสังเกตเห็นกลุ่มไข่ที่ถูกแตนเบียนทำลายมีลักษณะผิวมันดำทั้งกลุ่ม เมื่อแตนเบียนออกจากกลุ่มไข่แล้วผิวจะไม่มัน และสังเกตเห็นไข่แต่ละฟองมีรูเล็กๆ ซึ่งเป็นรอยที่ตัวเต็มวัยของแตนเบียนออกมาเมื่อเจริญเต็มที่แล้ว

2.แมลงหางหนีบ Proreus simulans Stallen เป็นตัวห้ำกัดกินทั้งใข่และตัวหนอนของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด มักจะพบอยู่เสมอในแปลงข้าวโพด นับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมประชากรหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดมาก โดยเฉพาะที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

3.แมลงช้าง Chrysopa basalis Walker โดยตัวอ่อนจะเป็นตัวห้ำคอยกัดกินกลุ่มไข่ของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ซึ่งมีไม่มากนัก แต่ก็ช่วยในการลดประชากรของหนอนเจาะลำต้นลงได้ เมื่อปี 2517 ที่ อำเภออู่ทอง พบตัวอ่อนของแมลงช้างชนิดนี้ 2-7 ตัวต่อข้าวโพดประมาณ 100 ต้น

4.Anthicus ruficollis Sand และ Formicomus braminus braminus La Ferte-Senectereเป็นพวกแมลงปีกแข็งอยู่ในวงศ์ Anthicidae อันดับ Coleoptera มีลักษณะคล้ายมด พบอยู่ทั่วไปนไร่ข้าวโพดโดยเป็นตัวห้ำคอยกัดกินกลุ่มขาของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

5. แมงมุม Cyclosa sp. อยู่ในวงศ์ Argiopidae และ Hippasa pisaurina อยู่ในวงศ์ Lycosidae โดยจับกินพวกตัวหนอนขนาดเล็กและตัวเต้วัยในไร่ข้าวโพด

การป้องกันกำจัด

1.เลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ค่อนข้างจะต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น เช่น พันธุ์สุวรรณ 1 พันธุ์สุวรรณ 2

2.โดยทั่วไปในสภาพธรรมชาติมีแมลงศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดให้มีปริมาณลดลงอยู่บ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด นอกจากมีการระบาดรุนแรงจริงๆ พอที่จะมีผลต่อผลผลิตของข้าวโพดได้ โดยอาศัยหลักการที่คอยสำรวจกลุ่มไข่อยูเสมอ โดยผีเสื้อจะเริ่มวางไข่ที่ใต้ใบข้าวโพดตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 21 วันเป็นต้นไป เมื่อพบกลุ่มไข่ประมาณ 15 กลุ่มต่อ 100 ต้นในสภาพที่มีแตนเบียนไข่ 60-80% หรือ อายุข้าวโพดประมาณ 30-40 วัน หรือพบใบยอดที่ยังไม่คลี่ถูกทำลาย 40-60% จึงเริ่มใช้สารฆ่าแมลงช่วยป้องกันกำจัด เพราะเมื่อพบหนอนเข้าทำลายภายในลำต้นแล้วไม่มีประโยชน์ในการใช้สารฆ่าแมลงไปกำจัด ดังนั้นหลักสำคัญก็คือ ต้องป้องกันโดยถือเกณฑ์จากจำนวนกลุ่มไข่หรือยอดถูกทำลายที่พบ การใช้สารฆ่าแมลงนี้แบ่งออกเป็น 2 วิธีการ โดยเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง คือ

1. ใช้ triflumuron (Alsystin 25% WP) หรือ sulprofos (Bolstar 72% EC) หรือ telflubenzuron(Z-killer 5% EC) หรือ chlorfluazuron (Atabron 5% EC) หรือ deltamethrin (Dacis 3% EC) หรือ cypermethrin (Ripcord 15% EC) ในอัตรา 30 กรัม หรือ 80,20,20,10 และ 8 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตรตามลำดับ พ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน หรือถ้าในระยะที่ข้าวโพดออกฝักแล้วจะพ่นเฉพาะที่ช่อดอกและฝักเพียง 2 ครั้งก็เป็นการเพียงพอ

หมายเหตุ ในสภาพไร่ที่มีแตนเบียนไข่มาก โดยสังเกตจากกลุ่มไข่ที่ใต้ใบข้าวโพดจะมีสีดำมันทั้ง กลุ่มไม่ควรใช้สารฆ่าแมลง sulprofos เพราะมีพิษต่อแตนเบียนสูง

2. ในข้าวโพดไร่ถ้าพบหนอนระบาดในระยะที่ข้าวโพดยังไม่ออกดอก คือระยะสัปดาห์ที่ 4-7 (whorl stage) หยอดยอดด้วย carbosulfan (Furadan 3%G) หรือ fonofos (Dyfonate 10% G) ในอัตรา 6 กก. และ 4 กก./ไร่ ตามลำดับ หรือประมาณ1/2 และ 1/8 ช้อนชาต่อต้น ตามลำดับ อาจจะหยอดสารฆ่าแมลงดังกล่าวอีก 1 ครั้ง หลังครั้งแรก 15 วันก็ได้ หรือถ้าข้าวโพดออกดอกแล้วไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดหยอดยอด ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดน้ำอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อ 1 อีกประมาณ 1-2 ครั้ง ขึ้กับจำนวนหนอนที่ระบาด

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news