banner ad

มอดดิน

| December 30, 2014

มอดดิน

ชื่ออื่นๆ : มอดช้าง

ชื่อสามัญ : Ground weevil

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calomycterus sp.

ชื่อวงศ์ : Curculionidae

ชื่ออันดับ : Coleoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

มอดดิน หรือ มอดช้าง เป็นด้วงงวงขนาดเล็กอยู่ในวงศ์ Curculionidae อุปนิสัยโดยทั่วไปชอบอาศัยอยู่ในดินและมีสีสรรกลมกลืนกับสีดินจึงได้ชื่อว่ามอดดิน แต่มีรูปร่างลำตัวอ้วนป้อมสั้น และมีปากงุ้มลงคล้ายงวงช้าง เกษตรกรจึงนิยมเรียกว่ามอดช้าง ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับความเสียหายของพืชเนื่องจากแมลงชนิดนี้มาก่อน แต่มักพบบ้างตามไร่ข้าวโพดทั่วไป จนกระทั่งปี 2522 พบระบาดครั้งแรกที่ อ.ลำนารายณ์ จ.ลพบุรี และมีบทบาทมากขื้น และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตติดต่อ 3 จังหวัด คือ ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี อ. มวกเหล็ก จ.สระบุรี และอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบทำลายข้าวโพดในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท โดยกัดกินใบและต้นอ่อนตลอดจนเมล็ดที่เพิ่งงอกของข้าวโพด ทำให้ต้นกล้าเสียหายถึงตายได้ ต้นที่รอดจากการทำลายจะแตกแขนง ชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ข้าวโพดแก่ไม่พร้อมกัน ฝักลีบเล็ก หรือไม่ติดเมล็ด เกษตรกรไม่สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการระบาดของแมลงชนิดนี้ สิ่งที่ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาของเขาก็คือไถทิ้งแล้วปลูกใหม่ และอาจต้องทำเช่นนี้ 3-5 ครั้งต่อฟดูปลูกที่ 2 ในระหว่างปลายเดือนสิงหาคม และกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่พบการระบาดของแมลงรุนแรงและรวดเร็ว ประกอบกับในระยะดังกล่าวเป็นช่วงปลายฟดูฝน ซึ่งมักประสบปัญหาฝนแล้ง จึงเป็นการเพิ่มระดับความเสียหายจากแมลงชนิดนี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

แมลงชนิดนี้จะทำลายพืชในระยะตัวเต็มวัยเท่านั้น ผลการศึกษาชีวปรวัติของมอดดินในสภาพห้องปฏิบิตการที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพทธ์ 78 % พบว่า มอดดินมีการเจริญเติบโตแบบComplete metamorphosis คือ ระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ดังนี้คือ

ไข่ มีลักษณะกลมรีสีขาว ผิวเรียบ วางเป็นฟองเดี่ยวๆ มีขนาดความกว้าง 0.25-0.32 มม. เฉลี่ย 0.39 มม. ความยาว 0.42 -0.55 มม. เฉลี่ย 0.50 มม.ระยะไข่ 5-7 วัน เฉลี่ย 6.8 วัน

หนอน มีรูปร่างงอเป็นรูปตัว C ไม่มีขา หนอนที่ฟักใหม่ๆ มีสีขาวใสและมีขนเล็กๆ สีขาวใสขึ้นทั้งตัว หัวกะโหลกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหนอนอายุมากขึ้น หนอนวัยแรกมีขนาดความกว้างของหัวกะโหลก 0.20 -0.25 มม. เฉลี่ย 0.22 มม.ความยาวลำตัว 0.75 -0.80 มม. เฉลี่ย 0.77 มม.หนอนที่โตเต็มที่มีความกว้างของหัวกะโหลก 0.50 -0.80 มม. เฉลี่ย 0.75 มม.ความยาวลำตัว 5 -7 มม. เฉลี่ย 6.5 มม.ระยะหนอน 42-48 วัน เฉลี่ย 45 วัน

ดักแด้ มีรูปร่างแบบ exarate pupa คือ ขาและปีกเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระไม่ติดกับลำตัว มีสีขาวครีม ขนาดความกว้างลำตัว 1.44 -2.23 มม. เฉลี่ย 2.00 มม. ความยาว 3.37-5.36 มม. เฉลี่ย 3.89 มม.ระยะดักแด้ 4-7 วัน เฉลี่ย 5 วัน

ตัวเต็มวัย เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวป้อม มีสีดำปนน้ำตาลและเทา มีความกว้างของลำตัว1.8 -2.5 มม. เฉลี่ย 2.22 มม. ความยาวลำตัว 3 -3.8 มม. เฉลี่ย 3.5 มม. กลางวันพบเดินอยู่ทั่วๆ ไป หรือหลบอยู่ใต้ดินแถวโคนต้นพืชหรือเศษซากพืช โดยเฉพาะตามกอต้นอ่อนของข้าวโพดที่งอกจากฝักที่หลงตกค้างอยู่ ตัวเต็มวัยเริ่มออกหากินในเวลาพลบค่ำ พร้อมกับจับคู่ผสมพันธุ์กันไปด้วย ตัวเต็มวัยวางไข่ในดินและตัวหนอนจะอาศัยกินอินทรีย์วัตถุที่อยู่ในดินจนกระทั่งเข้าดักแด้

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

จากการสำรวจประชากรมอดดินในสภาพไร่ตามแปลงเกษตรกรในเขตบริเวณ 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา สระบุรี และลพบุรี ตลอดปี 2529-2530 พบว่า ปริมาณแมลงที่สำรวจพบในปี 2530 สูงกว่าปี 2529 ตลอดปี โดยเริ่มสำรวจพบตั้งแต่เดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวโพดแล้ว ประชากรแมลงจะมีมากน้อยขึ้นๆ ลงๆ ตามระยะอายุข้าวโพด จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม และจะพบมากสุดในเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงที่ 2 ของฤดูปลูกข้าวโพด หลังจากนั้นปริมาณแมลงจะลดลงเรื่อยๆ จนสำรวจไม่พบตัวเลยในเดือนธันวาคม ซึ่งเก็บเกี่ยวข้าวโพดหมดแล้ว

พืชอาหาร

เท่าที่สำรวจพบขณะนี้มี ข้าวฟ่าง ฝ้าย ละหุ่ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง มันแกว และวัชพืชอีก 6 ชนิด คือ

- ขี้กา (Trichosanthes sp.)

- ตีนตุ๊กแก (Tridax procumbens Linn.)

- เถาตูดหมูตูดหมา (Paederia hirsute Craib)

- สะอึกเกล็ดหอย (Merremia emarginata Haller f.)

- หญ้าตีนติด (Brachiaria reptans (L.)Gard & Hubb.)

- หญ้าขจรจบ ( Pennisetum polystachyon L. Schult)

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงหางหนีบ Proreus simulans Stallen เป็นตัวห้ำกัดกินใข่และหนอนของมอดดิน

การป้องกันกำจัด

มอดดิน ทำลายข้าวโพดตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก ดังนั้นการป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดคือ การป้องกันมิใช่กำจัด หากรอใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นเมื่อพบรอยการทำลายแล้วอาจป้องกันไม่ได้ เพราะลักษณะการทำลายรุนแรงมาก ถ้าเกิดการระบาดขึ้น ดังนั้นถ้าจำเป็นที่ต้องปลูกข้าวโพดในแหล่งที่เคยมีการระบาด หรือมีการระบาดทุกปี ควรใช้สารฆ่าแมลงประเภทคลุกเมล็ดก่อนปลูก เพราะให้ผลในการคุ้มกันได้ดี อีกทั้งประหยัด สะดวกและปลอดภัยต่อผู้ใช้ ซึ่งสารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลดี คือ

- imidacloprid (Guacho 70% WS) อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 1 กก.

- carbosulfan (Posse 25 ST) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ด 1 กก.

สำหรับในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงชนิดผสมน้ำฉีดพ่น หรือหากยงพบปริมาณแมลงสูงอยู่โดยสังเกตจากรอยทำลาย ถ้าพบต้นที่ใบถูกแมลงทำลายเสียหาย 50% ประมาณ 30% ของต้นทั้งหมด ให้พ่นสารฆ่าแมลงชนิดผสมน้ำอีกครั้งให้ทั่วต้นอ่อนและรอบๆ บริเวณโคนต้น สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ดี คือ

- carbosulfan (Posse 20%EC) อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร

- sulprofos (Bolstar 72% EC) อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร

เนื่องจากการทำลายของแมลงชนิดนี้จะรุนแรงขึ้นเมื่อแล้งจัด ดังนั้นควรจัดระยะเวลาปลูกเพื่อ

หลีกเลี่ยงไม่ให้ต้นอ่อนกระทบแล้ง เพราะหลังจากพ้นระยะอายุข้าวโพดประมาณ 2 สัปดาห์ไปแล้วก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายได้มากนัก

 

 

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news