banner ad

ไรแดง

| December 30, 2014

ไรแดง

ชื่ออื่นๆ : ไรแมงมุม แมงมุมแดง

ชื่อสามัญ : Spider mite, red spider mite

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eutetranychus oirentalis (Klein)

Tetranychus piercei Mcgregor

Tetranychus hydrageae Pritchard and Baker

Tetranychus truncatus Ehara

ชื่อวงศ์ : tetranychidae

ชื่ออันดับ : Acarina

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรแดงทีพบเป็นศัตรูละหุ่งมี 4 ชนิด แต่ละชนิด Eutetranychus oirentalis และ Tetranychus truncates จัดเป็นไรศัตรูที่สำคัญ พบระบาดทำความสียหายกับละหุ่งมากกว่าอีก 2 ชนิด ไรแดงมีขนาดโตกว่าไรชนิดอื่นๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดเล็กๆ สีแดง เคลื่อนไหวไปมาบนใบพืช เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุดเล็กน้อยมีรายงานการระบาดทำความเสียหายกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ไรแดงทำลายใบละหุ่งโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงโดยใช้ส่วนปากซึ่งประกอบด้วย Chelicerae ที่มีลักษณะเป็นเข็มแหลม (Stylet) แทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของพืช ในขณะที่ไรดูดทำลายพืชนี้เอง จะปล่อยสารพิษ (toxin) ออกมาด้วยทำให้เกิดแผลบนผิวของพืชบริเวณนั้น พืชจะสูญเสียคลอโรฟิล ใบและส่วนต่างๆ ของพืชจะเกิดเป็นจุดเล็กๆ สีขาวซีด ถ้าการทำลายเป็นไปอย่างรุนแรง จุดเล็กๆ นี้จะแพร่ขยายติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง ใบจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีขาวซีดเป็นสีน้ำตาลแห้งและร่วงหล่นจากต้น ไรแดงตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ปกติจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (colony) แล้วสร้างเส้นใยขึ้นปกคลุมไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย เส้นใยเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาจากต่อมสร้างใย (silk gland) ประชากรไรแดงออกลูกออกหลานเพิ่มขึ้นใต้เส้นใยใต้ใบพืช และพบคราบของไรแดงเป็นผงขาวๆ ติดอยู่ตามใบคล้ายฝุ่นจับ ไรแดงชอบอากาศร้อนอุณหภูมิสูงความชื้นต่ำการขยายพันธุ์จะเพิ่มมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไรแดงป็นสัตว์ 8 ขา สืบพันธุ์แบบ arrhenotokous parthenogenesis โดยที่ไรเพศเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้จะให้ลูกเป็นเพศผู้เท่านั้น ส่วนไรแดงเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์จะให้ลูกทั้งเพศผู้และเพศเมีย


ลักษณะทั่วไป

ไรแดง Tetranychus truncatus Ehara หรือไรแดงหม่อน (mulberry red mite) เพศเมียมรสีแดงสด ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 381.58 ไมครอน กว้าง 279.50 ไมครอน ลักษณะตัวกลมเป็นรูปไข่ เพศผู้ความยาวโดยเฉลี่ย 310.17 ไมครอน กว้าง 193.50 ไมครอน ตัวมีสีเหลืองอมส้ม ก้นแหลม วงจรชีวิตเมื่อเลี้ยงบนใบหม่อนพบว่าเพศเมียสามารถเจริญเติบโตนับจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยได้ภายในเวลา 9.71 วัน โดยมีระยะไข่ 3.73 วัน ตัวอ่อนฟักจากไข่จะเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ตัวอ่อนระยะที่ 1 ใช้เวลาในการเจริญเติบโต 1.7 วัน ตัวอ่อนระยะที่ 2 ใช้เวลาในการเจริญเติบโต 1.85 วันตัวอ่อนระยะที่ 3 ใช้เวลาในการเจริญเติบโต 2.46 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียอยู่ได้นาน 24.59 วัน และสามารถวางไข่ได้ตลอดชั่วอายุรวมทั้งสิ้น 126.82 ฟอง โดยจะวางไข่ได้เฉลี่ยวันละ 6.90 ฟอง ไรเพศผู้สามารถเจริญเติบโตนับจากไข่ถึงตัวเต็มวัยไดภายในเวลา 7.63 วัน ตัวเต็มวัยเพศผู้มีอายุได้นาน 22.8 วัน อัตราส่วนระหว่างเพศผู้และเพศเมียเท่ากับ 1:3 ระยะตัวอ่อนของไรแดงจะมีขาเพียง 3 คู่ เมื่อลอกคราบจนเป็นตัวเต้วัยแล้วจะมีขา 4 คู่

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

โดยปกติไรแดงชอบรวมกลุ่มกันอยู่ใต้ใบพืช แต่ถ้าประชาการหนาแน่นมากขึ้น ไรอาจเคลื่อนย้ายไปทำลายอยู่บริเวณหน้าใบและต่อไปยังลำต้นและใบที่อยู่ติดกัน การกระจายตัวนอกจากการเคลื่อนย้ายโดยตัวเองแล้วยังอาจไปได้โดยลมหรือกิ่งหรือใบที่สัมผัสกันหรือติดไปกับขาแมลงหรือนกเป็นต้น

ฤดูการระบาดนั้น พบว่าไรแดงชอบอากาศแห้งโดยเฉพาะในฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม หรือในฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน

พืชอาหาร

ไรแดงชนิดนี้มีพืชอาหารหลายชนิดทั้งพืชไร่ พืชสวน ไม้ดอก ไม้ประดับ หรือพืชที่ปลูกในโรงเพาะชำ พืชต่างๆ เหล่านี้ได้แก่ หม่อน มันสำปะหลัง ละหุ่ง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่งฝักยาว ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ฝ้าย แตงไทย ถั่วพู ดาวเรือง กล้วยไม้ บานชื่น ทานตะวัน ท้อ เสาวรส กระเจี๊ยบ ฝักแค บวบเหลี่ยม มะรุม มันเทศ โสน มะเขือเทศ กุหลาบ และปอ เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้ง
2. หมั่นตรวจแปลงในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบระบาดของไรแดง ให้เก็บใบมาทำลาย
3. ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง ให้พ่นสารป้องกันกำจัดไร โดยเลือกใช้สารป้องกันกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฟนบูทาทินออกไซด์ 55% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เตตระไดฟอน 7.25% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ fenpyroximate 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ศัตรูธรรมชาติ

ไรแดง Tetranychus truncatus พบมีศัตรูธรรมชาติได้แก่ ด้วงเต่า Stethorus punctillum Weise ซึ่งเป็นตัวห้ำได้ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เป็นด้วงขนาดเล็ก ตัวสีดำขนาด 0.9×1.6 มิลลิเมตร ทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต้มวัยของไรแดง นอกจากนั้นยังพบไรตัวห้ำในวงศ์ Phytoseiidae หลายชนิดที่สำคัญได้แก่ Amblyseius longispinosus (Evans) เป็นต้น

การทดสอบประสิทธิภาพสารไรในทุเรียน กรรมวิธีค่า Df ไม่น้อยกว่า 12 เลือกทุเรียนอายุ 3-4 ปี พ่น 1 ครั้งเมื่อพบไรแดงแอฟริกันระบาด อัตราใช้น้ำ 5 ลิตรต่อต้น หรือ 100 ลิตรต่อไร่ ตรวจนับไรจากใบทุเรียนอายุปานกลางจำนวน 20 ใบต่อต้น เฉพาะตัวที่เคลื่อนที่ ด้วยแว่นขยาย 10 เท่า ก่อนพ่นสาร และหลังพ่นสารฯ 1, 3, 5, 7 และ 14 วัน นำมาวิเคราะห์สถิติ DMRT

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Tags: ,

Category: ศัตรูพืช, ไรศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news