หนอนคืบละหุ่ง
หนอนคืบละหุ่ง
ชื่อสามัญ:Castor semi-looper
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Achaea janata Linnaeus
ชื่อวงศ์ : Noctuidae
ชื่ออันดับ : Lepidoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
หนอนคืบละหุ่งจัดเป็นศัตรูที่มีความสำคัญมาก สามารถกัดกินใบละหุ่งได้มากถึง 100% และเป็นพื้นที่กว้างขวาง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว และออกไข่ได้จำนวนมาก ตัวหนอนจะเจริญเติบโตเร็ว หนอนวัยแรกๆ จะกัดกินใบละหุ่งน้อย หนอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหนอนจะกัดกินใบละหุ่งทั้งวันทั้งคืนและกินจุมากกัดกินใบเหลือใว้แต่ก้านใบ การระบาดมากในระยะออกช่อและติดผลอ่อน เป็นระยะวิกฤติเพราะจะทำให้ดอกร่วง ผลลีบ ร่วงหล่นหรือเหี่ยวแห้งไป ในสภาพที่ฝนทิ้งช่วงพืชไม่สามารถแตกใบทดแทนมีผลทำให้ต้นโทรมและแคระแกรน
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน (moth) ออกหากินผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลากลางคืน ตัวเต็มวัยหลังออกจากดักแด้แล้ว 2-7 วัน จะเริ่มผสมพันธ์ ตัวเต็มวัยมีปีกคู่หน้าสีเทาเกือบดำ หรือสีน้ำตาลอ่อนปนเทา มีลวดลายเป็นเส้นและแถบสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลอ่อนที่มีโคนปีกและสีน้ำตาลเข้มที่ปลายปีกตรงกลางปีกมีแถบสีขาวขวางอยู่และที่ขอบปีกมีวงสีขาวอยู่ 3 วง ขนาดของผีเสื้อเมื่อกางปีกออกมีขนาดกว้าง 45-55 มิลลิเมตรหัวละลำตัวมีสีน้ำตาลมีหนวดเป็นเส้นยาวคล้ายเส้นด้าย (filiform) ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะมีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ ตัวเต็มวัยเพศผู้มี flenulum ยื่นออกมา 1 อัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมี 2 อัน flenulum นี้มีไว้สำหรับยึดปีกคู่หน้าและคู่หลังให้ติดกันเวลาจะบิน ส่วนปลายท้อง (abdomen) ในตัวเต็มวัยเพศผู้จะมีขนปกคลุมอยู่ที่ส่วนท้องเป็นกระจุก และมีลักษณะโค้งมน แต่เพศเมียไม่มีขนและปลายส่วนท้องจะแหลมตัวเต็มวัยเพศเมียส่วนทิองบริเวณปล้องที่ 8 จะมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมและมีรูสีน้ำตาลมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับตัวเต็มวัยเพศผู้ไม่มีลักษณะดังกล่าวตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้ต่างๆ เป็นอาหาร และจะมีอายได้ยาวนาน เพศผู้มีอายุ 8-17 วัน เพศเมียมีอายุ 13-22 วัน อัตราส่วนเพศผู้และเพศเมียเท่ากับ 3:7 ฉะนั้นหนอนคืบละหุ่งจึงเกิดระบาดได้รวดเร็ว
ระยะไข่ หลังจากตัวเต็มวัยเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้ว 2-4 วัน จึงจะเริ่มวางไข่ โดยใช้อวัยวะวางไข่ (Ovipositor) ที่อยู่ปลายส่วนท้อง (abdomen) แทงลงไปในเส้นใบ (vein) โดยทั่วไปมักจะวางใต้ใบและตามใบอ่อน การวางไข่จะวางเป็นฟองเดี่ยวๆ ตัวเต็มวัยเพศเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ก็จะวางไข่เช่นเดียวกัน แต่ไข่จะไม่ฟักเป็นตัว ไข่จะมีลักษณะยาวรี ด้านบนนูนด้านล่างเว้า มีร่องเล็กๆ จากด้านบนลงมาด้านล่างรอบๆ ไข่ตัวเต็มวัยเพศเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 263-613 ฟอง ระยะไข่จะกินเวลาประมาณ 3 วันไข่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวเข้มและน้ำตาลอ่อนเมื่ใกล้จะฟัก ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะกัดกินเปลือกไข่จนหมดแล้วจึงเคลื่อนตัวไปที่อื่น
ระยะหนอน
ระยะที่ 1 (first instar) หนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีลำตัวเล็กยาววัดได้ประมาณ 4มิลลิเมตร ส่วนหัวสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวสีเขียวเหลืองและไส เมื่อหนอนเริ่มกินอาหารลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม หนอนกินอาหารได้ 2-4 วัน จึงจะลอกคราบ
ระยะที่ 2 (second instar) เมื่อหนอนลอกคราบครั้งที่ 1 แล้วจะมีความยาวประมาณ 9-11 มิลลิเมตร ส่วนหัวจะมีสีดำมีจุดขาวอยู่ข้างส่วนหัวมองเห็นชัดเจน ตัวของหนอนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมแดงและมีผงสีขาวเคลือบลำตัวอยู่ ในระยะนี้หนอนจะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วโดยใช้ขาที่อยู่ส่วนท้ายลำตัวยึดชิดกับส่วนหัวแล้วจึงยกส่วนหัวออกไปเป็นลักษณะของการคืบคลาน ระยะที่ 2 จะใช้เวลา 2-4 วันจึงจะลอกคราบ
ระยะที่ 3 (third instar) หนอนจะมีความยาวประมาณ 28 มิลลิเมตร ส่วนหัวและลำตัวของหนอนเป็นสีดำและมีผงสีขาวเทาปกคลุมตลอดทั้งตัว ระยะหนอนจะกินอาหารมากและใช้เวลา 2-4 วันเช่นกัน
ระยะที่ 4 (fourth instar) เมื่อลอกคราบครั้งที่ 3 หนอนจะมีขนาด 55-58 มิลลิเมตร ในระยะนี้จะพบว่าหนอนมีสีต่างๆกัน บางตัวสีดำ บางตัวสีน้ำตาลปนเหลืองแต่มีหัวสีดำ ระยะนี้หนอนจะกินอาหารจุมาก และกินทั้งวันทั้งคืน ใช้เวลาประมาณ 2-4 วัน จะหยุดกินอาหารและลอกคราบครั้งสุดท้ายและเข้าดักแด้ รวมระยะเวลาตั้งแต่ฟักจากไข่เป็นหนอนระยะต่างๆ จนเข้าดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 8-16 วัน
ระยะดักแด้ เมื่อหนอนโตเต็มที่แล้วหนอนจะหยุดกินอาหารและอยู่นิ่งๆ เพื่อเข้าดักแด้ ในขั้นแรกหนอนจะชักใยติดกับใบพืชเพื่อยึดตัวเองและตัวหนอนจะหดสั้น สีลำตัวจะซีด นับแต่หนอนเริ่มชักใยหุ้มตัวเองจนกระทั่งเข้าดักแด้จะกินเวลา 2 วัน ระยะแรกดักแด้จะมีสีน้ำตาลอ่อน และผนังดักแด้อ่อนนุ่ม แต่หลังจากนั้นจะแข็งตัว แลมีสีน้ำตาลเข้มเคลือบด้วยผงนวล สีขาว ลักษณะดักแด้ด้านหัวมนส่วนด้านท้ายเรียวแหลม ขนาดของดักแด้ยาวประมาณ 23-26 มิลลิเมตร ดักแด้ของเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย อายุดักแด้ประมาณ 8-13 วัน
สรุปวงจรชีวิต
ระยะไข่ 3 วัน
ระยะหนอน 8-16 วัน
ระยะดักแด้ 8-13 วัน
ระยะตัวเต็มวัย 8-22 วัน
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
หนอนคืบละหุ่งพบการระบาดในประเทศต่างๆ แถบประเทศเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ อินเดีย พม่า มาเลเซีย ศรีลังกา นิวกินี หมู่เกาะฮาวาย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะฟิจิ เป็นต้น ในประเทศไทยพบได้ทั่วไป และมักพบระบาดมากในช่วงฟดูฝนประมาณเดือน มิถุนายน-พฤศจิกายน ความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญของการระบาด จึงมักพบว่าปีใดที่มีฝนตกชุกสม่ำเสมอหนอนคืบจะระบาดมาก ส่วนปีใดที่ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงยาวนานจะพบการระบาดของหนอนชนิดนี้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยสมดุลธรรมชาติที่อาจคุมระดับประชากรของหนอนคืบละหุ่งที่สำคัญได้แก่ แตนเบียน Microplitis maculipennis Szepligeti ซึ่งมีบทบาทสูงมากในระยะเวลาเดียวกับการระบาดของหนอนคืบละหุ่ง แต่พบมากที่สุดประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี
พืชอาหาร
มีรายงานว่านอกจากละหุ่งแล้วหนอนคืบชนิดนียังกินใบพืชชนิดต่างๆ ได้อีกเช่น โกสน โป๊ยเซียน กุหลาบ ทับทิม น้ำนมราชสีห์ พุทรา ก้างปลาเค้า กระดังงาดง โคกกระสุน มะขาม เป็นต้น
ศัตรูธรรมชาติ
หนอนคืบละหุ่งมีศัตรูธรรมชาติหลายชนิดทั้งระยะไข่จนถึงระยะดักแด้ แมลงเบียน (parasite) ที่สำคัญได้แก่
แตนเบียนไข่ Trichogramma achaea nagaraja & Nagarkatti ( Hymenopter : Trichogrammatidae)
แตนเบียนไข่ Trichogramma chilonis Ishii ( Hymenopter : Trichogrammatidae)
แตนเบียนหนอน Microplitis maculipennis Szepligeti ( Hymenopter : Braconidae)
แตนเบียนหนอนและดักแด้ Brachymeria euplocae West ( Hymenopter : Braconidae)
แตนเบียนหนอนและดักแด้ Apanteles sp.( Hymenopter : Braconidae)
แตนเบียนดักแด้ Xanthopimpla stemmator (Thunberg) ( Hymenopter : Ichneumonidae)
แตนเบียนหนอน Elasmus flabellatus ( Hymenopter : Eulophidae)
แมลงวันก้นขน Tachina sp. (Diptera : Tachinidae)
แมลงห้ำ (predater) ระยะหนอนหลายชนิดเช่น
มวนพิฆาต Eocanthecona furcellata (Wolff) (Hemiptera : Pentatomidae)
มวนเพชฌฆาต Sycanus sp. (Hemiptera :Reduviidae)
ต่อตัวห้ำ (Predaceous Wasps) หลายชนิดเช่น Ropalidia sp. (Hemiptera :Vespidae)
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช