งาขี้ม้อน
งาม้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Perilla frutescens ( Linn.) Britt
วงศ์ : LAMICEAE
ชื่อสามัญ : ไทย-งาขี้ม้อน , งาหอม , งามน (เหนือ) , งาเจียง (กาญจนบุรี) , นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)อังกฤษ Perilla ,Beaf Steak plant , อินเดีย-Bhanjira , จีน- Chi ssu , ญี่ปุ่น- Shiso ,
เกาหลี- Khaennip namul
ประวัติความป็นมา : งาม้อนเป็นพืชสมุนไพรที่มีประวัติการใช้เป็นทั้งอาหารและยาในประเทศทางแถบเอเซียมานานแล้ว สำหรับประเทศไทยงาม้อนเป็นพืชที่ปลูกมาอย่างยาวนานในพื้นที่ภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกกระจายในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เป็นต้น พื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 3,400 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 80 กก./ไร่ การปลูกงาม้อนส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ดอน อาศัยน้ำฝน เกษตรกรที่ปลูกเป็นเกษตรกรรายย่อย งาม้อนเป็นงาพื้นเมืองมีกลิ่นเฉพาะตัว ให้ผลผลิตในช่วงต้นฤดูหนาว
ลักษณะทั่วไป : ลำต้นเป็นไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นสันสี่เหลี่ยม มีร่องตามยาว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 3-10 ซม. ยาว 6-10 ซม. แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกฝอยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยปเป็นสองปากไม่แตก เมล็ดอวบ กลมๆ เล็กๆ สีน้ำตาลจนถึงดำ (บางพันธุ์มีสีขาว)
การเพาะปลูก
เพาะกล้า ใน กระบะเพาะ จนมี ใบจริง 2-3 ใบ ประมาณ 30 วัน ย้ายลงถุงขนาด 3 x 5 นิ้ว หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนย้ายลงแปลงปลูกโดยเตรียมหลุม ห่างกัน 1.5 เมตร ระยะระหว่างต้น 1.0 เมตร โดยใส่ปุ๋ยคอก และ ปุ๋ย 15-15-15 (20 กรัม) รองก้นหลุม หลังย้ายปลูก 2-3 สัปดาห์ รด ด้วย ปุ๋ย ยูเรีย ผสมน้ำ 20 กรัม/น้ำ 20ลิตร 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-4 สัปดาห์ อายุ 3 เดือน ใกล้ ออกดอก ใส่ ปุ๋ย 15-15-15 ประมาณ 20 กรัม ต่อต้น ห่างไปอีก ประมาณ 1 เดือน ออกดอก เริ่มดอกบาน ใส่ ปุ๋ย 15-15-15 ประมาณ 20 กรัม ต่อต้น อีกครั้งหนึ่ง(ระวังต้นล้ม โดย การ ใช้ ไม้ หลัก ไผ่รวก ผูก ลำต้นไว้ด้วย) ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อช่อดอกแห้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของช่อดอกทุกช่อ โดยการโน้มต้นลงบน ผ้าพลาสติกขนาดใหญ่ เนื่องจากเมล็ดร่วงหล่นง่ายมาก และ เมล็ดมีขนาดเล็กมาก
คุณค่าทางอาหารและคุณสมบัติอื่นๆ :
1.มีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง
2.มีฟอสฟอรัส และแคลเซียมมากกว่าพืชผักทั่วไป 40 และ 20 เท่า
3.มีวิตามินและวิตามินอื่นๆ
4.มีสารเซซามอล ซึ่งนักวิทยาศาตร์หลายคนกล่าวว่าช่วยป้องกันมะเร็งและช่วยให้ร่างกายแกร่งอีกด้วย
5.น้ำมันหอมระเหยจากใบ (Volatile oil) เป็นสารประเภท aldehyde เรียกว่า perilla aldehyde ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหารและสรรพคุณแก้เคล็ดขัดยอก ลดริ้วรอยบนใบหน้า บำรุงผิวหน้า
6. กรดไขมันจำเป็นคือ โอเมก้า-3 พืชชนิดเดียวที่มีโอเมก้า-3และโอเมก้า-6 ซึ่งมีมากว่าน้ำมันปลา 2 เท่า
7.สารสกัดสำคัญในกลุ่ม polyphenol คือ rosmarinic acid มีฤทธิ์ต้านทานการแพ้และต้านการอักเสบได้ดีและสาร luteolin ซึ่งสกัดจากใบงาม้อนแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบและยับยั้งเซลล์มะเร็ง
การใช้ประโยชน์
1.เมล็ดนำมารับประทานเป็นธัญพืชหรือคลุกกับข้าวที่ชาวบ้านเรียกว่า ข้าวหนุกงา บางท้องถิ่นเรียกว่า ข้าวเหนียวงา
2. เมล็ดแปรรูปเป็นขนม งาม้อนอัดน้ำตาล งาคั่ว ขนมเทียนหรือใส่ในข้าวหลาม ฯลฯ
3.อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง บำรุงผิว สำหรับลดริ้วรอย มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบงาม้อน
4.น้ำมันสกัดจากใบใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย ในญี่ปุ่น ใช้เป็นสารแต่งรสชาติ
5. น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดใช้ทำอาหารและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
งานวิจัย
1. ศึกษาผลของสภาพการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์งาม้อนจากเมล็ดพันธุ์ 4 แหล่ง คือ จ.น่าน จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยาที่มีผลต่อคุณภาพ พบว่า เมล็ดพันธุ์จากจังหวัดน่านมีคุณภาพสูง มีความชื้นต่ำ 7.13% ความบริสุทธิ์สูง 99.63% ขณะที่เมล็ดจากแม่ฮ่องสอนมีปริมาณน้ำมันสูงกว่า 44.91%
การค้า
1.น้ำมันงาม้อนหรือ perilla oil จึงเป็นที่ต้องการและมีราคาสูง เช่น ในประเทศจีน สารสกัดจากใบจำหน่ายราคา 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กก. สารสกัดจากเมล็ดจำหน่ายราคา 42 ดอลลาร์สหรัฐฯ / กก. สารสกัดจากลำต้นจำหน่ายราคา 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กก.
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ