banner ad

บวบเหลี่ยม

| October 14, 2014

บวบเหลี่ยม

ชื่อวิทย์ Luffa acutangula(Linn.) Roxb.

ชื่อวงศ์ Cucurbitaceae

ชื่อสามัญ Angled Loofah

ชื่ออื่นๆ -

1.พันธุ์พันธุ์บวบเหลี่ยมที่นิยมปลูกทั่วไปนอกจากพันธุ์พื้นเมืองแล้วยังมีพันธุ์ของบริษัทเจียไต๋ ตราศรแดง (เฮอร์คิวลิส) ลักษณะผลยาวใหญ่ น้ำหนักดี ประมาณ 3 ผลต่อกิโลกรัม

2. การเตรียมดินบวบเป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง การไถดินตากไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยดอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าลงไปในดิน ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวด้วยแล้วย่อยดินให้ละเอียดพร้อมปลูก

3.วิธีการปลูกจะปลูกแบบบกยกเป็นร่องสวน หรือร่องผักก็ได้ โดยขุดหลุมด้วยจอบลึกประมาณ 10 ซม. ระยะปลูก กว้าง x ยาว ประมาณ 1 x1.5 เมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด กลบด้วยดินมากๆ รดน้ำให้ชุ่ม (เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกควรคลุกด้วยสารเคมีป้องกันมด และแมลงในดินเข้าทำลาย) คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้วก็ได้ จนอายุ 10-15 วัน หรือมีใบจริง 2-4 ใบ

3.1 การทำค้าง เมื่อบวบเหลี่ยม อายุประมาณ 15-20 วัน จะเริ่มทอดยอดหรือเลี้อยควรทำค้าง หรือร้านให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไป หากให้เลื้อยไปกับพื้นดินจะทำให้รูปร่างบวบงอโค้งไม่ได้ราคา การทำค้างสามารถทำได้หลายแบบ คือ

3.1.1 ปักค้างตรงยาวประมาณ 2-2.5 เมตร แต่ละหลุมแล้วเอนปลายเข้าหากันมัดไว้ด้วยกันแล้วใช้ไม้ค้างพาดกลางประมาณ 2-3 ช่วง ทุกๆ ระยะ 40-50 เซนติเมตร

3.1.2 ปักค้างตรงยาวประมาณ 2-2.5 เมตร ทุกหลุม แล้วขึงเชือกฟางอย่างเหนียวที่กลางและปลายค้างทุกค้างตลอดแถว

3.1.3 ทำเหมือน 3.1.1 แล้วใช้ตาข่ายที่มีขายตามท้องตลาดเข้าประกอบอีกครั้ง

3.1.4 ทำเป็นร้านโดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5-2 เมตร หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการทำงาน

4.การดูแลรักษา

4.1 ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำในระยะออกดอก และติดผล เพราะจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล ระบบการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องจะให้ผลดี

4.2 การใส่ปุ๋ย นอกจากปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักแล้ว ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตราประมาณ 10 กรัมต่อหลุม เมื่ออายุประมาณ 30 วัน และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เมื่ออายุประมาณ 40-45 วัน อัตราประมาณ 10 กรัมต่อหลุม

5.การเก็บเกี่ยวเมื่อบวบเหลี่ยมอายุ ประมาณ 45-60 วัน หลังหยอดเมล็ด ควรเลือกผลบวบเหลี่ยมระยะส่งตลาดขนาดไม่อ่อนมาก ไม่แก่มาก โดยใช้มีดตัดที่ขั้วโดยให้มีขั้วติดมาด้วย

6.โรคศัตรูพืช

6.1 โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis) ด้านบนของใบปรากฏแผลเหลี่ยมเล็กๆ สีเหลือง แตงกวาบางสายพันธุ์แผลมีสีขาวหรือเทา ต่อมา แผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ ในตอนเช้าถ้าสภาพอากาศมีความชื้นสูง ตรงแผลบริเวณใต้ใบจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีเทาดำ แตงที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก และความหวานลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม โรคจะระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น

การป้องกันกำจัด
1. ควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา ๗ กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง
5. กำจัดด้วงเต่าแตง ซึ่งอาจเป็นตัวแพร่เชื้อราสาเหตุโรค โดยการจับทำลาย หรือ ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
6. เมื่อเริ่มพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + ฟามอกซาโดน 30% + 22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน
7. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

6.2 โรคใบไหม้ โรคใบกรอบ ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโดเซป เมทาแลคซิล

7. แมลงพบเพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย หนอนกระทู้ผัก แมลงวันทอง

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: พืชผัก, พืชผัก บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news