คะน้า
คะน้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica alboglabraL.H. Bailey
ชื่อวงศ์ Cruciferae
ชื่อสามัญ Chinese kale,Borecole, Collard
ชื่ออื่นๆ-
1.พันธุ์ :พันธุ์คะน้าที่นิยมปลูกแบ่งได้เป็น 2 พันธุ์ คือ
1.1 คะน้าใบ มีลักษณะต้นอวบใหญ่ ก้านเล็ก ใบกลมหนา กรอบ ทนทานต่อดินฟ้าอากาศได้ดี มีขายตามร้านขายเมล็ดพันธุ์
1.2 คะน้ายอดหรือคะน้าก้าน ลักษณะต้นอวบใหญ่ มีดอกสีขาว ใบแหลม ก้านใหญ่ มีรสอร่อย มีความต้านทานโรค มีขายตามร้านขายเมล็ดพันธุ์
2. การเตรียมดินการปลูกหรือหว่านคะน้าเพื่อเป็นการค้า ควรไถดินตาก 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ หรือปูนขาวด้วยเพื่อปรับปรุงดิน แล้วพรวนดินยกร่อง ด้วยรถแทรคเตอร์
3. วิธีการปลูก แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที ใช้วัสดุผสมระหว่างดิน : แกลบดิบ ปุ๋ยคอก อัตรา 2:1:1 ในถาดหลุมเกษตรกรที่ปลูกเป็นการค้า จะนิยมหว่านเมล็ดคะน้า หรือถ้าทำเป็นจำนวนไร่มากๆ จะใช้เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ สะดวกและรวดเร็ว และสม่ำเสมอ แล้วคลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม จนอายุประมาณ 20-25 วัน ก็ถอนแยก 2 ครั้ง ถ้าขึ้นถี่เกินไป ควรถอนแยกห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือมีใบจริงประมาณ 2 คู่
4. การให้น้ำควรให้น้ำคะน้าระยะแรกก่อนงอก เช้า-เย็น เมื่องอกแล้วพิจารณารดน้ำทุกวัน หรือหากมีความชื้นมากก็ควรรดวันเว้นวัน และควรให้น้ำสม่ำเสมอ ระยะฟื้นก่อนตัดประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อให้ได้น้ำหนัก
(ค่าการระเหยเฉลี่ย 4.9 มิลลิเมตร ค่า ET/E0 (KP) 0.59 น้ำใช้ของพืชต่อวัน 2.9 มม. น้ำที่ใช้ตลอดอายุพืช 159 มม. และใช้น้ำ 254 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ที่ความลึก 1.5 มม.)
5. การใส่ปุ๋ยพื้นที่ที่ปลูกคะน้า หากเป้นพื้นที่ใหม่ ไม่ควรใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 เพราะหากคะน้างามมากจะให้เกิดโรคง่าย ควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 โดยหว่านอัตรา 25-30 กก./ไร่ และหลังอายุประมาณ 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25-30 กก./ไร่
6. การเก็บเกี่ยวเกษตรกรที่ปลูกเป็นการค้า จะนิยมเก็บเกี่ยวเมื่อายุ 50-55 วัน โดยตัดให้ชิดโคน หักใบแก่ทิ้ง บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู ถุงละ 5 ก.ก หรือใส่เข่ง เพื่อสะดวกในการขนส่ง พ่อค้าจะมารับซื้อถึงสวน หรือเป็นการเหมาเป็นไร่ ตามราคาท้องตลาด
7. โรคและแมลงที่สำคัญ
-โรคราน้ำค้าง Peronospore parasitica เป็นจุดสีขาวอมเทาและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบริเวณด้านหน้าใบ และมีเส้นใยสีเทาปกคลุมด้าน หลังใบ เมื่อมีการระบาดรุนแรง เนื้อใบจะกลาย เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล และแห้งตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
ก.ป้องกันเชื้อรานำโรค โดยการแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสนาน 20-30 นาที
ข.ไม่ปลูกซ้ำที่เดิมที่เคยมีการระบาดของโรค
ค.ปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควรอย่าให้แน่นเกินไป
ง.หลังการเก็บเกี่ยว ควรทำลายเศษซากพืชและวัชพืชบริเวณแปลงให้หมด
จ.เมื่อพบอาการบนใบ ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมตาแลกซิล (metalaxyl) ผสมกับแมนโคเซบ (mancozeb) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน หลังพบการระบาด หรือพ่น cynoxanill 30%+Famoxadone 22.5% WG อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 3 ครั้งทุก 7 วัน
- หนอนใยผัก หนอนเจาะยอด หนอนกระทู้ผัก ควรใช้สารเคมี อะเชทตามิพริด โปรฟิโนฟอส แลมต้าไซฮาโลทริน บาซิลลัส ทูริงเวนซิส อะมาเม็คติน หรือสปิโนแสค ตามการระบาดของแมลงศัตรู
- ด้วงหมัดผัก พ่น profenofos อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่น dinotefuran+etofenprox อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
8. อายุการเก็บเกี่ยว 45 วัน
การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์คะน้าใช้เวลาในการผลิตที่ยาวนานตั้งแต่การเพาะกล้าจนย้ายปลูกดูแล บำรุงรักษาใช้เวลาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ 6-7 เดือน เมื่อเมล็ดพันธุ์ผักคะน้าแก่พร้อมกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำการตัดฟักของคะน้า นำมาตากแดดไว้ประมาณ 3 วัน
การกะเทาะผักคะน้า หลังจากตากแดด 3 วัน เมล็ดพันธุ์จะแห้ง ก็จะมากะเทาะเปลือกออกโดยวางฝักไว้บนผ้าใบแล้วใช้ไม้เคาะฝักของคะน้า เมล็ดพันธุ์ผักคะน้าก็จะแตกออกมาได้อย่างง่ายดาย รวบรวมเอาไว้
การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์คะน้า โดยใช้เครื่องทำความสะอาดของเมล็ดเพื่อแยกเอาเปลือกและสิ่งเจือปน ออกให้หมด
การเก็บรักษา หลังจากเข้าเครื่องทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาตากแดด เพื่อลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์อีก 3 แดด หรือ 3 วัน หลังจากตากแดด จนแห้งแล้วนำมาบรรจุในกระสอบปุ๋ยโดยก่อนที่จะใส่ในกระสอบปุ๋ย เราใส่เมล็ดพันธุ์คะน้าในถุงพลาสติกก่อน แล้วจึงนำไปใส่ในกระสอบปุ๋ย นำเข้าไปเก็บไว้ในห้องเย็น สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีห้องเย็นก็ให้เก็บไว้ที่ร่มที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ก็จะเก็บไว้ได้นานและนำไปปลูกในฤดูกาลต่อไป
ต้นทุนคะน้า
รายการ | 2555 | 2556 | 2557 | 2558 |
1. ต้นทุนผันแปร | 12,623.90 | 12,739.31 | 12,675.95 | 12,401.30 |
2. ต้นทุนคงที่ | 1,028.71 | 1,028.95 | 1,031.98 | 1,032.01 |
3. ต้นทุนรวมต่อไร่ | 13,652.61 | 13,768.26 | 13,707.93 | 13,433.31 |
4. ต้นทุนรวมต่อกิโลกรัม | 4.61 | 4.96 | 5.26 | 5.20 |
เทคนิคการใส่ปุ๋ยในคะน้า
ปริมาณที่มีอยู่ในดิน | อัตราปุ๋ยที่ใส่ | วิธีการใส่ปุ๋ย |
1)อินทรีย์วัตถุ (OM,%) | ปลูกโดยใช้เมล็ดหว่านครั้งแรก ใส่ปุ๋ย N ครึ่งหนึ่งของอัตรา แนะนำร่วมกับปุ๋ย P และ K หลังจากแตกใบจริงแล้ว 3-4 ใบ ครั้งที่สอง ใส่ปุ๋ย N ที่เหลือหลังจากใส่ครั้งแรก ประมาณ 15 วัน | |
น้อยกว่า 1.5 | ปุ๋ย N 20 กก./ไร่ | |
1.5-2.5 | ปุ๋ย N 15 กก./ไร่ | |
มากกว่า 2.5 | ปุ๋ย N 10 กก./ไร่ | |
2)ฟอสฟอรัส (P, มก./กก.) | ||
น้อยกว่า 10 | ปุ๋ย P2O5 10 กก./ไร่ | |
10-20 | ปุ๋ย P2O5 5 กก./ไร่ | |
มากกว่า 20 | ปุ๋ย P2O5 5 กก./ไร่ | |
3)โพแทสเซียม (K, มก./กก.) | ||
น้อยกว่า 60 | ปุ๋ย K2O 15 กก./ไร่ | |
60-100 | ปุ๋ย K2O 10 กก./ไร่ | |
มากกว่า 100 | ปุ๋ย K2O 5 กก./ไร่ |
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: พืชผัก, พืชผัก ก-ณ