banner ad

มันฝรั่ง

| October 13, 2014

มันฝรั่ง

สถานการณ์มันฝรั่ง

ปี 2566 คาดว่าจะมีเนื้อที่ปลูก 41,133 ไร่ ผลผลิต 123,397 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีพื้นที่40,365 ไร่ ผลผลิต 110,860 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.09 และ 11.31 ตามลำดับ

ราคามันฝรั่งโรงงานที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 กิโลกรัมละ11.88 บาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ขายได้กิโลกรัมละ 11.00 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.00 ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประกันขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่กิโลกรัมละ 10.80 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค. – มิ.ย.) และกิโลกรัมละ 14 บาทในช่วงฤดูฝน (ก.ค. – ธ.ค.) สำหรับมันฝรั่งพันุ์บริโภคสดเกรด A ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเดือนมกราคม -มีนาคม 2565 กิโลกรัมละ 20.00 บาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 5.88

ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้ามันฝรั่งสด ปริมาณ 35,272 ตัน มูลค่า 700.36ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12,394 ตัน มูลค่า 136.93 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 184.6 และ 411.5 ตามลำดับ สำหรับการส่งออก ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีการส่งออกมันฝรั่งสด ปริมาณ 847 ตัน มูลค่า 17.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 320 ตัน มูลค่า 6.58 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 164.7 และ 161.2 ตามลำดับ การนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง ช่วงเมษายน – กรกฎาคม (ปีถัดไป) ช่วงสิงหาคม – ตุลาคม ช่วงพฤศจิกายน – มกราคม (ปีถัดไป) ผู้นำเข้าจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งโรงงานให้แก่เกษตรกรในราคาไม่เกิน กิโลกรัมละ 35.00 บาท และรับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท ในช่วงฤดูฝน (ก.ค.-ธ.ค.) และสำหรับในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.) ในปีเพาะปลูก2564/65 และ 2565/66 ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.80 บาท และในปีเพาะปลูก 2566/67 ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท

มีเนื้อที่เพาะปลูกมันฝรั่งปี 2563 มีเนื้อที่ปลูก 47,297 ไร่ ผลผลิต 138,782 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,943 กิโลกรัมต่อไร่  ปี 2560 ผลผลิต 122,300 ตัน ปี 2559 มีเนื้อที่ปลูก 39,887 ไร่ ผลผลิต 119,778 ตัน  พื้นที่ปลูกภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร เลย นครพนม การตลาดมันฝรั่งทอดกรอบประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันฝรั่งทอดอันดับหนึ่งในเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทแปรรูปมันฝรั่งได้แก่ บ.เป๊ปซี่โคล่า(ไทย)เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอรฟู้ด จำกัด, และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด การนำเข้าหัวพันธุ์จากต่างประเทศได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สก๊อตแลนด์ แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ราคาที่เกษตรกรขายได้ 11.31 บาทต่อกิโลกรัม (ราคามันฝรั่งโรงงาน) ปี 2563 รอบการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมษายน-กรกฎาคม ครั้งที่ 2 สิงหาคม-ตุลาคม ครั้งที่ 3 พฤศจิกายน-มกราคม การกำหนดภาษีในโควต้าร้อยละ 27 อัตราภาษีนอกโควต้าร้อยละ 125

หัวพันธุ์มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน

มันฝรั่งเพื่อการบริโภค เป็นมันฝรั่งที่ปลูกเพื่อนำหัวมันฝรั่งไปปรุงอาหารเพื่อการบริโภค ได้แก่

1. พันธุ์สปุนต้า เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่และยาว ตาที่หัวตื้น เนื้อในสีเหลืองอ่อน ใบมากพอสมควร ต้านทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้านทานโรคใบไหม้ดีพอสมควร เป็นโรคใบม้วนได้ง่าย แต่ต้านทานต่อเชื้อไวรัสและโรควอร์ทได้ดี เนื้อในเมื่อต้มแล้วแน่น และนอกจากนั้นยังมีสีเนื้อในสม่ำเสมอด้วย พันธุ์นี้นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์

2. พันธุ์บินท์เจา (Bintje) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคสดและสามารถแปรรูปได้ด้วย นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2494 เป็นพันธุ์เบาปานกลาง เจริญเติบโตเร็ว

2. พันธุ์เคนนีเบค (Kennebec) เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันนำไปขยายและผลิตหัวพันธุ์ในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ และออสเตรเลีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 ใบใหญ่ พุ่มหนา หัวกลมรี ทรงรูปไข่ ตาตื้น ผิวสีเหลืองอ่อนเรียบ เนื้อสีขาว ทนแล้งได้ดีเป็นพันธุ์สำหรับแปรรูปเป็นมันทอดแผ่นบาง (potato chips) ปัจจุบันโรงงานแปรรูปนำเข้าพันธุ์เคนนีเบคและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูปอายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน

3. พันธุ์แอตแลนติก (Atlantic) มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา มีอายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน มีทรงพุ่มหนาใบสีเขียวเข้ม ค่อนข้างใหญ่ ลักษณะหัวกลมขนาดปานกลาง ผิวสีเหลือง เนื้อสีขาวครีม เป็นพันธุ์มันฝรั่งแปรรูปดี ที่เริ่มทดลองส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกใน พ.ศ. 2534-2535 โดยบริษัทสยามสแน็ก จำกัด ปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทย

พันธุ์มันฝรั่งปลูกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์เคนนีเบค (Kenebec) พันธุ์โดนาตา  มันฝรั่ง พันธุ์มันนก พันธุ์เมอร์คา พันธุ์สปุนต้า (Spunta)  พันธุ์เอฟเอล 1867 (FL 1867)  พันธุ์เอฟเอล 1867 (FL 1867)  พันธุ์เอฟเอล 2027 (FL 2027) พันธุ์เอฟเอล 2215 (FL 2215) พันธุ์แอตแลนติก (Atlantic)

การทำลายพักตัวของเมล็ดมันฝรั่งให้แช่สาร GA 1,500 -3,000 ppm.

การผลิตมันฝรั่งด้วยระบบแอร์โรโพนิกส์

1.ระยะการสร้างราก

1-7 วัน ใช้น้ำเปล่าพ่นน้ำ 120 วินาที หยุด 3 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 0.2

8-15 วัน พ่นน้ำ 120 วินาที หยุด 4 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 0.88

16-19 วัน พ่นน้ำ 120 วินาที หยุด 8 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 1.22

2.ระยะการสร้างไหล

20-24 วัน พ่นน้ำ 120 วินาที หยุด 10 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 1.72

25-35 วัน พ่นน้ำ 120 วินาที หยุด 15 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 1.5

3.ระยะสร้างหัว 36-45 วัน พ่นน้ำ 90 วินาที หยุด 40 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 0.86

4.ระยะเร่งหัว 43-90 วัน พ่นน้ำ 90 วินาที หยุด 90 นาที ค่า pH 5.5-6.5 ค่า EC 0.63

1.  การผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรค
ดำเนินการในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เริ่มต้นจากต้นปลอดโรคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ได้รับ
-  นำต้นพันธุ์มันฝรั่งปลอดโรคออกจากในหลอดหรือขวดแก้ว ทำภายในตู้ปลอดเชื้อ
-  ตัดต้นพันธุ์ด้วยกรรไกรเป็นท่อนๆ ละ 1-2 ข้อ
-  ใช้ปากคีบจับท่อนพันธุ์มาปักชำลงในอาหารเพาะเลี้ยงสูตร MS ขวดใหม่ ชำขวดละ 5 ท่อน
-  ทุกขั้นตอนปฏิบัติโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ
          -  นำขวดเพาะเลี้ยงไปไว้ในห้องเพาะเลี้ยงที่ใช้แสง 16 ชม./วัน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
-  เมื่อต้นพันธุ์เจริญเติบโต มีข้อ 4-5 ข้อ ทำการตัดขยายเพาะเลี้ยงในอาหารขวดใหม่
2.  การผลิตต้นแม่พันธุ์
เตรียมวัสดุเพาะชำโดยใช้ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบและทราย อัตราส่วน 1:2:2 นึ่งอบวัสดุเพาะชำที่อุณหภูมิ
85-90 องศา นาน 30 นาที
-  นำดินผสมที่นึ่งฆ่าเชื้อโรคแล้ว มาใส่ในกระบะภายในโรงเรือนกันแมลง
-  นำขวดเพาะเลี้ยงต้นพันธุ์ปลอดโรคออกจากห้องเพาะเลี้ยง มาไว้ภายนอกที่อุณหภูมิปกติ นาน 1-2 วัน เพื่อให้ต้นพันธุ์สามารถปรับตัวได้ในสภาพอุณหภูมิข้างนอก
-  นำต้นพันธุ์ปลอดโรคออกจากขวด ล้างอาหารวุ้นที่ติดรากออก แล้วนำไปปลูกชำเป็นต้นแม่พันธุ์ในกระบะภายในโรงเรือนกันแมลงที่เตรียมไว้ ระยะห่างระหว่างต้น 2-5 ซม.
-  หลังจากปลูกชำต้นแม่พันธุ์ได้ 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถตัดยอดขยายพันธุ์ได้
-  ตัดยอดต้นแม่พันธุ์ให้มีใบติดอยู่ 3-4 ใบและเหลือส่วนโคนของต้นแม่พันธุ์ไว้ 2 ใบ หรือ 2 ข้อ
-  นำยอดที่ตัดไปปักชำต่อในกระบะเพื่อขยายปริมาณต้นแม่พันธุ์
-  ต้นแม่พันธุ์เดิมที่ถูกตัดยอดไปแล้วจะแตกยอดใหม่ สามารถตัดยอดขยายพันธุ์ได้อีกทุก 10-14 วัน
-  ดำเนินการตัดยอดแม่พันธุ์นำไปปักชำขยายต่อไปเรื่อยๆ จนได้ต้นแม่พันธุ์ปริมาณมากเพียงพอกับความต้องการ
3.  การผลิตหัวพันธุ์หลัก (pre-basic seed หรือ Go)
-  เตรียมกระบะในโรงเรือนกันแมลง ใส่ดินผสมที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วให้หนาประมาณ 10 ซม.
-  ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัม/ตารางเมตร ก่อนปลูก
-  ตัดยอดต้นแม่พันธุ์ นำมาปลูกโดยตรงในกระบะใช้ระยะปลูก 5×20 ซม. รดน้ำแล้วคลุมพลาสติกใส เพื่อรักษาความชื้นในกระบะ ต้นมันฝรั่งจะออกรากใน 14 วัน
-  หลังจากปลูกได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10 กรัม/ตารางเมตร และเติมดินผสมให้หนาขึ้นอีก 5 ซม.
-  ตรวจสอบการเกิดโรคไวรัสและโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย โดยวิธี Elisa หลังจากปลูกได้ 15 วันและ 60 วัน
-  พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ทุก 7 วัน
-  เก็บเกี่ยวหัวพันธุ์มันฝรั่งเมื่ออายุได้ 90-100 วัน หลังจากปลูก
-  เก็บรักษาหัวพันธุ์ Go ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-6 เดือน เพื่อปลูกขยายพันธุ์ในฤดูต่อไป
4.  การผลิตหัวพันธุ์ขยาย
(basic seed หรือ G1)
-  เตรียมหัวพันธุ์ โดยนำหัวพันธุ์ Go ในห้องเย็นออกมาผึ่งเป็นชั้นๆ ในโรงเก็บแบบพรางแสง เพื่อให้หน่องอกและแข็งแรง พร้อมที่จะปลูก
-  เตรียมแปลงปลูก โดยไถตากดินให้แห้ง 2 ครั้ง ก่อนปลูกอย่างน้อย 1 เดือน แล้วไถพรวนอีกครั้ง ย่อยดินให้ละเอียด
-  เตรียมหลุมปลูก โดยขุดเป็นร่องยาวตามขนาดของแปลง ระยะระหว่างร่อง 80-90 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 3 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กก./ไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก คลุกดินกลบปุ๋ยไม่ให้หัวพันธุ์สัมผัสกับปุ๋ยโดยตรง
-  นำหัวพันธุ์ Go ที่มีหน่องอกยาว 1-2 ซม. มาปลูกระยะระหว่างหลุม 15-20 ซม. กลบดินให้หนา 5-10 ซม. แล้วพ่นสารกำจัดวัชพืช ควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช
-  ให้น้ำระบบสปริงเกอร์หรือให้น้ำตามร่อง
-  หลังจากงอกอายุ 15-20 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 25 กก./ไร่ ใส่โรยเป็นแถว เมื่ออายุได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 25 กก./ไร่ พร้อมกับพูนดินกลบโคนต้น
-  พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงทุก 7 วัน
-  ตรวจสอบการเกิดโรคในแปลงทุกสัปดาห์ ถ้าพบต้นใดแสดงอาการเป็นโรคไวรัสหรือโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรียให้ถอนทำลายทิ้ง
-  สุ่มเก็บตัวอย่างในแปลงเพื่อตรวจสอบโรคไวรัสและโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรียโดยวิธี Elisa เมื่อต้นมันฝรั่งมีอายุได้ 15 วัน และ 60 วัน
-  เก็บเกี่ยวเมื่อต้นมันฝรั่งมีอายุได้ 90-100 วัน
-  นำหัวมันฝรั่งที่ขุดเก็บเกี่ยวได้ มาผึ่งในร่มเพื่อคัดขนาด และคัดแยกหัวที่เน่าเสียและหัวเป็นแผลออก ก่อนนำเข้าเก็บรักษาในห้องเย็น
-  เก็บรักษาหัวพันธุ์ G1 ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส
5.  การผลิตหัวพันธ์รับรองคุณภาพ (Certified seed หรือ G2)
          นำหัวพันธุ์ G1 มาปลูกขยายต่อในแปลงดำเนินการเช่นเดียวกับการผลิตหัวพันธุ์หลัก (G1)

สภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกมันฝรั่ง มันฝรั่งเป็นพืชชอบอากาศหนาว และค่อนข้างแห้ง โดยมีอุณหภูมิอยู่ระหว่างกลางวันไม่เกิน 24-26C และกลางคืน 14-18C ซึ่งเป็นอุณหภูมิเหมาะที่สุดที่ลำต้นใต้ดินจะสามารถพัฒนามาเป็นหัวมันฝรั่ง ความชื้นสัมพัทธ์อากาศประมาณ 65-70%

ศัตรูพืชมันฝรั่ง

ชนิดของแมลงศัตรูที่พบระบาดในมันฝรั่ง ได้แก่ หนอนผีเสื้อเจาะหัวมันฝรั่ง (Potato tuber moth) Phthorimaea operculella Zeller, เพลี้ยไฟฝ้าย, เพลี้ยไฟพริก (Cotton thrips, Chili thrips); Thrips palmi Karny, Scirtothrips dorsalis Hood, หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm); Spodoptera exigua (Hubner). หนอนกระทู้ผัก (Comm cutworm); Spodoptera litura (Fabricius), หนอนกระทู้กัดต้น (Black cutworm); Agrotis ipsilon (Hufnagel), เพลี้ยอ่อน (Aphid); Myzus persicae Sulzer, Aphis gossypii Glover, หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cut bollworm); Helicoverpa armigera (Hubner) และด้วงเจาะหัวมันฝรั่ง ซึ่งในปัจจุบันพบระบาดทำลาย โดยกัดกินต้น และหัวมันฝรั่ง

———————————————-

หนอนแมลงวันชอนใบ (Leaf miner) ; Liriomyza brassicaeRiley

ลักษณะอาการ แมลงวันหนอนชอนใบ วางไข่ ในเนื้อเยื่อของใบเมื่อฟักตัวเป็นหนอนจะชอนไชกัดกินใต้ผิวใบ ทำให้ใบแห้ง

การป้องกันกำจัด

1. วิธีกล การเผาทำลายเศษใบพืชที่ถูกทำลายเนื่องจากหนอนชอนใบตามพื้นดิน จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากดักแด้ที่อยู่ตามเศษใบพืชจะถูกทำลายไปด้วย

2. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ เบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟพริก พ่นสารฟิโปรนิล 5%SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะบาเม็กติน 1.8% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

———————————————-

โรคใบจุด (โรคใบแห้ง)

อาการเริ่มแรกพบจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาล แล้วค่อยๆลุกลามเป็นแผลขนาดใหญ่ลักษณะเป็นวงซ้อนกัน เมื่อโรครุนแรงแผลจะชนกันเกิดลักษณะใบไหม้แบบแห้งกรอบ * โรคนี้มักระบาดในสภาพอากาศมีความชื้นสูงและไม่เย็นนัก

การป้องกันกำจัด

1. ลดการให้น้ำแปลงปลูก ไม่ให้แปลงชุ่มน้ำมากเกินไป

2. เมื่อเริ่มพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น

3. หลังเก็บเกี่ยวทุกครั้ง พยายามเก็บต้นนำไปเผาทำลายให้มากที่สุด

4. ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรปลูกมันฝรั่งใกล้กับแปลงปลูกพืชที่เป็นโรคนี้ได้ เช่น มะเขือเทศ พริก มะเขือยาว เป็นต้น

——————————————–

โรคใบไหม้

โรคมักเกิดที่บริเวณใบล่างของต้น ใบเป็นจุดช้ำคล้ายถูกน้ำร้อนลวกสีเขียวหม่นขอบแผลฉ่ำน้ำสีดำ ถ้าอากาศเย็นและความชื้นสูงมาก แผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว บริเวณแผลด้านใต้ใบจะมองเห็นเส้นใยสีขาวและกลุ่มสปอร์สีขาวใสของเชื้อราสาเหตุโรคคล้ายละอองน้ำเล็กๆ ติดอยู่ ต่อมาใบจะบิดเบี้ยวและกลายเป็นแผลไหม้แห้งสีน้ำตาล โรคเกิดกระจายเป็นหย่อมๆ ในแปลงปลูก อาการโรคอาจเกิดที่กิ่ง ลำต้น และที่หัวมันฝรั่ง ทำให้หัวมันฝรั่งมีขนาดเล็กลงหรือเกิดอาการเน่า

การป้องกันกำจัด

1. ลดความชื้นในแปลงปลูก โดยไม่ควรปลูกมันฝรั่งชิดกันเกินไป และหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น

2. ถอนต้นที่เป็นโรคและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

3. เมื่อเริ่มพบการระบาด พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลคซิล+แมนโคเซบ 4+64% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมทมอร์ฟ+แมนโคเซบ 9% + 60% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดเมทมอร์ฟ+ไพราโคลสโตรบิน 12% + 6.7% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน

4. ไม่ควรปลูกมันฝรั่งซ้ำในบริเวณที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ และหลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในบริเวณที่เคยปลูกมะเขือเทศมาก่อน

โรครากปมในมันฝรั่ง ให้ใช้สารฟลูเอนซัลโฟน fluensulfone 48% W/V EC  อัตรา 0.64 ลิตรผสมน้ำ 100 ลิตรต่อไร่พ่นลงดินป้องกันไส้เดือนฝอย meloidogyne incognita แล้วพรวนดิน หลังจากนั้น 7 วัน เริ่มปลูกมันฝรั่งได้

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์มันฝรั่ง พันธุ์เบาปานกลางจะมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90-110 วันหลังปลูก ขุดเก็บเกี่ยวเมื่อต้นมันฝรั่งแก่เต็มที่แล้ว ลำต้นและใบเริ่มแห้งตาย ไม่ขุดหัวมันฝรั่งที่อายุยังอ่อน และต้นมันฝรั่งยังเขียว ผิวเปลือกบาง ทำให้ถลอกง่ายเวลาขุด และเก็บรักษาได้ไม่นาน

ข้อควรระวังการบริโภคมันฝรั่ง

มันฝรั่งที่มีต้นอ่อนงอกออกมา หรือมีสีเขียวบนเปลือกมันฝรั่งและเนื้อในบางส่วน ซึ่งสารสีเขียวเกิดจากมันฝรั่งถูกแสงและสร้างสารคลอโรฟิลล์สีเขียวและสารพิษที่เรียกว่า โซลานีน (solanine) เป็นสารพิษประเภทไกลโคอัลคอยด์ (glycoalkoids) ที่อยู่ในบริเวณสีเขียวของหัวมันฝรั่งและเป็นสารที่มีพิษต่อระบบประสาท (neurotoxins) และไม่สามารถทำลายด้วยความร้อน สารพิษโซลานีนจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ถ้าบริโภคในจำนวนมากพออาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียนวิงเวียนและปวดศีรษะ หรือ เป็นอัมพาตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก

———————————————

การใช้ SWOT วิเคราะห์

ความได้เปรียบ

1. เกษตรกรภาคเหนือมีความชำนาญในการเพาะปลูกมันฝรั่งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

2. มีการทำ contact farming โรงงานแปรรูปมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อเป็นตลาดรองรับขยายการผลิต ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งในการดำเนินการธุรกิจด้านตลาดที่ดี

3. กรมวิชาการเกษตรสามารถผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งแอตแลนติก G1 สามารถทดแทนการนำเข้าได้บางส่วน และมีการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ที่มีคุณภาพก่อนที่จะนำไปให้เกษตรเพาะปลูก

ข้อเสียเปรียบ

1. ผลผลิตต่อไร่ละคุณภาพต่ำ มีเปอร์เซนต์แป้งต่ำ

2. การปลูกมันฝรั่งในฤดูฝน มีความเสี่่ยงสูงต่อผลผลิตเสียหายด้านโรค เช่น late blight, nematode

3. ผลตอบแทนสู้กับพืชแข่งขันในพื้นที่ไม่ได้

มาตรฐาน

1. มาตรฐานนี้ครอบคลุมมันฝรั่งพันธุ์ที่ผลิตเพื่อการค้าที่มาจาก Solanum tuberosum. เป็นมันฝรั่งที่บริโภคสด ไม่รวมมันฝรั่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม

2. ข้อกำหนดขั้นต่ำของมันฝรั่ง เช่นเป็นมันฝรั่งทั้งผลสด เนื้อแน่น ไม่เสื่อมเสีย เหมาะสมสำหรับการบริโภค สะอาด ปราศจาก โคลน ปลอดจากแมลงที่ทำลายผลซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการเสื่อมเสีย ไม่มีความผิดปรกติที่เกิดจากความชื้น โดยไม่รวมหยดน้ำที่ออกจากห้องเย็น ไม่มีกลิ่นและรสที่ผดปกติ ไม่มีรอยดำคล้ำ ไม่ช้ำหรือแตก ไม่มีความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำและหรืออุณหภูมิสูง ไม่มีรูเจาะของแมลงที่เข้าไปถึงเนื้อ ไม่มีรากไม่มีสะเก็ดแผล รากฝอย และแผลช้ำที่เกิดจากความเสื่อมเสีย

3. การแบ่งชั้นคุณภาพมี 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชั้นพิเศษ (Extra Class) ชั้นหนึ่ง (Class I) และชั้นสอง (Class II)

โดยพิจารณาจากตำหนิด้านรูปทรง สี และตำหนิอื่น ๆ ดังนี้

- ชั้นพิเศษ (Extra Class) มันฝรั่งในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดีที่สุด ตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ มีความสม่ำเสมอในเรื่องของสีและขนาด

- ชั้นหนึ่ง (Class I) มันฝรั่งในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดี มีตำหนิได้เล็กน้อย โดยตำหนิแยกได้เป็นตำหนิที่เกิดจากรอยขีดข่วย แผลเป็น ยอมห้มีได้ไม่เกิน 5 % ดินและสิ่งอื่นที่ติดมา ไม่เกิน 0.25 % เปลือกเขียว ไม่เกิน 1 % โดยจำนวนหรือไม่มากกว่า 10 % ของพื้นที่ผิว โดยตำหนิต้องไม่มีผลกระทบกับเนื้อมันฝรั่ง

- ชั้นสอง มันฝรั่งในชั้นนี้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพขั้นต่ำ มีตำหนิได้เล็กน้อย โดยแยกตำหนิเป็นดังนี้ ตำหนิที่เกิดจากรอยขีดข่วย แผลเป็น ยอมให้มีได้ไม่เกิน 10 % ดินและสิ่งอ่นที่ติดมา ไม่เกิน 5 % เปลือกเขียวไม่เกิน 1 % โดยจำนวน หรือมากกว่า 12.5 % ของพื้นที่ผิว โดยตำหนิต้องไม่มีผลกระทบกับเนื้อมันฝรั่ง

4. การแบ่งชั้นด้านขนาด กำหนดโดยใช้เส้นผ่าศูนย์กลางเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น 5 รหัสขนาด คือ A,B,C,D, และ E มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ 18.1-28.0 มิลลิเมตร (mm.), 28.1 -45.0 mm., 45.1 65.0 mm., 65.1 80.0 mm., และมากกว่า 80 mm. ตามลำดับ

5. เกณฑ์ความคลาดเคลื่อน

- ความสม่ำเสมอ มันฝรั่งที่บรรจุในแต่ละภาชนะบรรจุต้องมีความสม่ำเสมอเรื่องพันธุ์ คุณภาพและขนาด และส่วนที่แสดงเป็นตัวแทนของผลผลิตทั้งหมด

- ภาชนะบรรจุ ให้เป็นไปตาม Code of Practice for Packaging and Transport of Fresh Fruits and Vegetabies (CAC/RCP 44-1995)

- รายละเอียดภาชนะบรรจุ ภาชนะบรรจุต้องมีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ มีความเหมาะเสมอการใช้งาน

มันฝรั่งสำหรับแปรรูปในโรงงาน มันฝรั่งที่ใช้สำหรับแปรรูปในโรงงาน โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ จะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดคือ รูปร่างค่อนข้างกลม มีผิวเปลือกหนา มีแป้งสูง และค่าน้ำตาลน้อย ผิวเปลือกมันฝรั่งไม่มีสีเขียวเนื่องจากถูกแสงแดดระหว่างการเติบโตของหัว ไม่มีรอยช้ำ เน่า และร่องรอยการเข้าทำลายของโรค หรือแมลง เนื้อด้านในไม่กลวง แผ่นมันฝรั่งหลังทอดมีสีขาว

การผลิตและการตลาดโลก

การผลิต ผลผลิตมันฝรั่งโลกในปี 2557 มีผลผลิต 385.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งมีปริมาณผลผลิต 333.62 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71 โดยประเทศจีนผลิตได้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ อินเดีย รัสเซีย และยูเครน ตามลำดับ

การส่งออก ในปี 2557 มีการส่งออกมันฝรั่ง 12.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งมีการส่งออก 11.65 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 ประเทศส่งออกมากได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

การนำเข้า ในปี 2557 มีการนำเข้ามันฝรั่ง 12.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งมีการนำเข้า 11.11 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.09 โดยมีประเทศนำเข้าได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสเปน

การตลาดประเทศไทย

การนำเข้ามันฝรั่งและผลิตภัณฑ์มันฝรั่ง ในปี 2558 มีการนำเข้า 117,079 ตัน มูลค่า 3,661.92ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีการนำเข้า 100,329 ตัน มูลค่า 2,940.89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.97 และ 5.61 ตามลำดับ

ปี 2558 ราคามันฝรั่งพันธุ์โรงงานที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 12.39 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 10.40 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4.31 มันฝรั่งพันธุ์บริโภค
ปี 2558 มีราคากิโลกรัมละ 15.45 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 11.67 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 9.02

ต้นทุนการผลิตมันฝรั่ง ปี 2558 พันธุ์บริโภคมีต้นทุนไร่ละ 21,888.24 บาท หรือกิโลกรัมละ8.25 บาท พันธุ์โรงงานต้นทุนไร่ละ 19,580.96 บาท หรือกิโลกรัมละ 8.75 บาท

 

 

 

 

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: พืชผัก, พืชผัก บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news