เปล้าน้อย
เปล้าน้อย
ชื่ออื่นๆ : เปล้าท่าโพ เปล้าตัวผู้
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่อสามัญ : Plao Noi
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton joufra Roxb.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงประมาณ 1-4 เมตร ใบเดี่ยวรูปหอกเรียว โคนใบ สองแคบมน ปลายแหลม ขอบจักเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ดอกช่อคล้ายดอกมะม่วงสีขาว ผลรูปไข่ปลายแหลมผิวเรียบ เปล้าน้อยมี 2 ชนิด ชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าเชิงเขาทางภาคเหนือมีประปรายในป่าดงดิบและทุกภาค
การนำไปใช้ประโยชน์ : ราก แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนัง แก้คุดทะราด
ใบบำรุงธาตุ แก่น แก้โลหิตให้ตก ขับเลือดหนองให้ตก กระจายลม
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด
การปลูกและการดูแล : เตรียมดินเริ่มจากการขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม. (ขึ้นอยู่กับขนาดต้นกล้าที่นำมาปลูก) ดินที่ขุดขึ้นมาใส่ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำต้นกล้าลงปลูก ระยะปลูก หากเป็นต้นกล้าเล็กจากการเพาะเมล็ดใช้ระยะปลูก 4×4 เมตร หากเป็นกล้าไม้ใหญ่ที่ล้อมไว้ใช้ระยะปลูก 5×5 เมตร กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม ปักไม้ค้ำยันทั้งสี่ทิศ กันลมโยกล้ม
สรรพคุณ : ราก แก้โรคผิวหนังน้ำเหลืองเสีย ขับผายลม รักษาโรคในลำคอ บำรุงกำลัง แก้เสมหะ
เปลือกต้น ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะ แก้เลือดร้อน บำรุงโลหิตประจำเดือน แก้ท้องเสีย บำรุงธาตุ
กระพี้ คุมกำเนิด แก้เลือดร้อน ทำให้เลือดเย็น ช่วยย่อยอาหารแก้ร้อนใน
แก่น แก้โลหิตและขับเลือดหนองให้ตก แก้อาเจียน แก้ช้ำใน
ใบ บำรุงธาตุ แก้คันตามตัว แก้ลมจุกเสียด บำรุงกำลัง แก้กระหายขับเสมหะ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน
ดอก ขับพยาธิในท้อง ฆ่าแม่พยาธิ
ผล ขับระดู ขับน้ำคาวปลา และแก้ไข้สตรีในเรือนไฟ ขับหนองให้กระจาย แก้น้ำเหลืองเสียทำให้เลือดเดินสะดวก
ไม่ระบุ กระจายลมทั้งปวง แก้ลมจุกเสียด เจริญไฟธาตุ แก้เสมหะ แก้กระหาย
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม