โรครากปม
โรครากปม root gall disease
เชื้อสาเหตุ ไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita และ M. javanica
ชีววิทยาของเชื้อ ตัวอ่อนระยะที่ 2 ของไส้เดือนฝอยที่แพร่กระจายอยู่ในดิตปลูกพืช เจาะไชเข้าสู่รากพริกบริเวณปลายราก เคลื่อนที่ต่อไปยังท่อน้ำท่ออาหารของพืชและหยุดนิ่ง จากนั้นเริ่มดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช และมีการเจริญเติบโตด้วยวิธีลอกคราบและพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยมีทั้งเพศผู็และเพศเมีย เพศเมียสามารถสร้างไข่ที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม ประกอบด้วยไข่จำนวน 400-500 ฟอง ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนเข้าทำลายรากพืชต่อเนื่อง รวมวงจรชีวิตจากตัวอ่อนระยะที่ 2 ถึงตัวอ่อนระยะที่ 2 อีกรุ่นใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์เท่านั้น
ลักษณะอาการ เมื่อถอนต้นพริกจะพบรากเป็นปุ่มปม สาเหตุจากไส้เดือนฝอยดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชบริเวณท่อน้ำ-ท่ออาหาร มีผลทำให้เซลของพืชบริเวณที่ถูกทำลายแบ่งตัวผิดปกติ เกิดเป็นเซลขนาดใหญ่ ไปปิดกั้นทางเดินน้ำและแร่ธาตุอาหารจากรากไปเลี้ยงลำต้นส่วนเหนือดิน ทำให้พริกแสดงอาการเหี่ยวเฉา ต้นแคระแกร็น และทรุดโทรมหรือแห้งตายในที่สุด
การแพร่ระบาด ไส้เดือนฝอยสามารถแพร่ระบาดได้ดีในเนื้อดินชนิดร่วนปนทราย ไปกับระบบการให้น้ำ หรือไหลไปกับน้ำฝน รวมทั้งติดไปกับดินเพาะกล้าพริกและติดไปกับเครื่องมือเกษตรต่างๆ เช่น ล้อรถไถดินที่ติดไปกับรองเท้าของเกษตรกร และเครื่องมือเกษตรอื่นๆ
การป้องกันกำจัด
1. ควรปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารของไส้เดือนฝอยหมุนเวียนสลับกับพริก 1-2 ฤดูปลูก เพื่อลดประชากรของเชื้อในดินและตัดวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอย พืชที่สามารถนำมาปลูกสลับ ได้แก่ ปอเทือง ถั่วลิสง และดาวเรือง
2. ใช้กล้าพริกสะอาดปราศจากปุ่มปมที่ระบบราก
3. เมื่อพบระบบรากของต้นพริกในแปลงปลูกมีปุ่มปม ให้ถอนและเผาทิ้งนอกแปลงปลูก
4. ควรระมัดระวังการแพร่ระบาดจากแปลงหนึ่งสู่แปลงอื่นๆ โดยไส้เดือนฝอยสามารถติดไปกับดินหรือไหลไปกับระบบการให้น้ำหรือไปกับน้ำฝนได้
5. ใช้สารฟลูเอนซัลโฟน 48 %EC อัตรา 0.64 ลิตรผสมน้ำ 100 ลิตรต่อไร่ หรือสารฟลูโอไพแรม 40%SC อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมน้ำ 80 ลิตรต่อไร่ในแตงกวา พ่นลงดินแล้วไถกลบ ก่อนปลูกพืช หรือราดสารฟลูโอไพแรม 40%SC ในมะเขือเทศก่อนปลูก 10 มิลลิลิตรต่น้ำ 20 ลิตร ราดอัตรา 100 มิลลิลิตรต่อหลุม
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com