โรคเหี่ยวเขียว
โรคเหี่ยวเขียว bactrial wilt disease
เชื้อสาเหตุ แบคทีเรีย Ralstonia solanacearum (=Pseudomonas solanacearum)
ชีววิทยาของเชื้อ พบระบาดมากในเขตร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นในดินสูง มีพืชอาศัยกว้าง เชื้อสามารถอยู่ในดินได้นาน เข้าทำลายพืชทางรากโดยเข้าตามบาดแผลหรือช่องเปิดตามธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดีและติดไปกับส่วนขยายพันธุ์
ลักษณะอาการ อาการของโรคพบกระจายหรือเป็นกลุ่มในแปลงปลูก เริ่มแรกใบยอดเหี่่ยวเฉพาะเวลาเขียวอยู่ ระบบรากถูกทำลายเป็นสีน้ำตาล และถ้าตัดลำต้นออกตามขวางแช่ในน้ำใสภายใน 5-10 นาที พบเมือกสีขาวขุ่น (bacteria ooze) ไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายปนกับน้ำออกมา เมื่อเป็นโรคมากภายในลำต้นจะกลวงเนื่องจากถูกเชื้อทำลายเนื้อเยื่อและตายในที่สุด
การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในดินและเศษซากพืช ตลอดจนวัชพืชบางชนิดที่เป็นพืชอาศัย เมื่อมีการปลูกพริกเชื้อสาเหตุที่อยู่ในดินสามารถเข้าทำลายทางราก โดยเข้าตามบาดแผลที่เกิดจากการเพาะปลูก จากแมลงหรือไส้เดือนฝอยเปิดแผลและช่องเปิดตามธรรมชาติ
การป้องกันกำจัด
1. ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้มาก่อนหรือใช้พันธุ์ต้านทานโรคเหี่ยวเขียว
2. ฆ่าเชื้อสาเหตุในดินปลูกโดยการอบดินฆ่าเชื้อด้วยยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัม และปูนขาว อัตรา 800 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยอบทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ก่อนปลูกพืช
3. เครื่องมือเครื่องใช้ควรจุ่มแอลกอฮอล์ 70% หรือคลอร็อกซ์ 10% ทุกครั้งที่ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย
4. หมั่นตรวจและสังเกตแปลงปลูกเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดออกนำไปเผาทำลายขุดดินบริเวณรอบต้นนำไปฝังทำลาย โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออกเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
5. ทำลายเชื้ออาศัยอื่นๆ หรือวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นพืชที่อาศัยข้ามฤดู
6. ปรับระบบการใช้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดความรุนแรงของโรค
7. ในพื้นที่เกิดโรคระบาดควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง สลับกันเป็นเวลามากกว่า 1 ปี
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com