โรคแอนแทรคโนส
โรคแอนแทรคโนส antracnose disease
เชื้อสาเหตุ รา Collectrichum gloeosporioides และ C. capsici (Syd.) E.J. Butler มีเซลเดียว เกิดบน conidiosphore ใน fruiting body เรียกว่า acervulus สำหรับรา C. capsici สปอร์มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ไม่มีสี มีเซลเดียว เกิดบน conidiophore ใน fruiting body เรียกว่า acervulus พบราชนิดนี้สร้าง setae จำนวนมาก
1. พริก ลักษณะอาการ อาการของโรคมักพบบนผลพริกที่เริ่มสุด หรือระยะก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี อาการเริ่มแรกจะปรากฏเป็นวงกลมช้ำสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบุ๋มลึกลงไปจากระดับเดิมเล็กน้อย และจะค่อยๆ ขยายกว้างออกไปเป็นวงกลมหรือวงรีรูปไข่ ซึ่งมองเห็นลักษณะของราที่เจริญภายใต้เนื้อเยื่อของพืชขยายออกไปในลักษณะที่เป็นวงกลมสีดำซ้อนกันเป็นชั้น เมื่อมีความชื้นจะเห็นเป็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนๆ บริเวณแผลบนผลพริก ทำให้แผลขยายตัวและผลพริกจะเน่าและร่วงก่อนเก็บเกี่ยว ผลพริกที่เป็นโรคนี้เมื่อนำไปตากแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด
การแพร่ระบาด พบระบาดมากในสภาพที่มีความชื้นสูงหรือมีฝนตก โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังให้ผลผลิต และโรคจะระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกที่ขาดความเอาใจใส่และดูแล ความเสียหายในแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อสาเหตุ และราสามารถติดไปกับเมล็ดพริกได้
การป้องกันกำจัด
1. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์จากผลพริกที่ไม่เป็นโรคมาปลูก
2. การปลูกไม่ควรปลูกระยะชิดมากเกินไปจะทำให้ต้นแน่น การถ่ายเทอากาศไม่สะดวก และมีความชื้นสะสมในแปลงปลูก โรคจะระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว
3. กำจัดและเก็บผลพริกที่เป็นโรคแอนแทรคโนสจากแปลงทิ้งให้หมด สามารถลดปริมาณของเชื้อสาเหตุ ซึ่งจะทำให้เป็นต้นกำเนิดของการเกิดโรคในฤดูปลูกต่อๆ ไป
4. ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราพ่นทุกๆ 7- 10 วันต่อครั้ง เช่น โพรคอลราท ออกซีสโตรบิน และคลอโรไทโรนิล ในช่วงฤดูปลูกที่เริ่มมีฝนตกหรือความชื้นในอากาศสูง
5. ใช้ยาคลุกเมล็ดพันธุ์ เช่น แมนโคเซบ ไดเทน เอ็ม 45 ชนิดสีแดง เพื่อทำลายเชื้อที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์
3. กาแฟอะราบิก้า
อาการที่ใบ: พบได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เมื่ออาการรุนแรงแผลจะขยายขนาดเป็นแผลใหญ่ ทำให้ใบแห้งไหม้ทั้งใบ
อาการที่กิ่ง: เกิดอาการไหม้บนกิ่งเขียว ทำให้ใบเหลืองและร่วง กิ่งเหี่ยวและแห้งทั้งกิ่ง
อาการที่ผล: พบได้ทั้งผลอ่อน และผลแก่ เริ่มแรกผลเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจุดจะขยายรวมกันเป็นแผลรูปร่างไม่แน่นอน และเนื้อเยื่อของแผลยุบตัว ผลที่เป็นโรคจะหยุดการเจริญ เปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ผลยังคงติดอยู่บนกิ่งกาแฟ
การป้องกันกำจัด
3.1. รักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับความชื้น เป็นการป้องกันการเกิดโรค
3.2. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เก็บผล ตัดแต่งกิ่ง ใบ และดอก ที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก
3.3. เมื่อพบโรคเริ่มระบาดที่ใบ กิ่ง ดอก หรือผลอ่อน พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรหยุดพ่นสารเมื่อผลเริ่มแก่ จนกระทั่งเก็บเกี่ยว
3.4. ในระยะติดผลหมั่นสำรวจ และป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมอดเจาะผลจะทำให้ผลเกิดบาดแผล เป็นช่องทางให้เชื้อราเข้าทำลายผลได้มากขึ้น
3.5. หลังเก็บเกี่ยวผลกาแฟควรตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นกาแฟมีความแข็งแรง
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com