banner ad

กระเจี๊ยบแดง

| November 22, 2012 | 0 Comments

กระเจี๊ยบแดง

ชื่ออื่นๆ : กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มพอเหมาะ ส้มเก็งเค็ง ส้มพอดี ผักเก็งเค็ง

ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ชื่อสามัญ : Roselle of Rama, Jamaican Sorrel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa Linn.

กระเจี๊ยบแดงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศซูดาน ทวีปแอฟริกา ในตลาดโลกกระเจี๊ยบแดงที่มีคุณภาพดี มาจากประเทศซูดานและประเทศไทย แต่กระเจี๊ยบแดงทั้ง 2 ประเทศมีความแตกต่างกันมาก สำหรับประเทศไทยแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ล้มลุก สูง 1-2 เมตรลำต้นและกิ่งก้านมีสีแดงอมม่วง ใบ มีหลายลักษณะ มักแยกเป็นแฉก เว้าลึก 3 แฉกหรือเรียบ ปลายใบแหลม มีขน หูใบรูปยาวแคบ มีก้านใบยาว ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพูอ่อน โคนกลีบแดง มี 8-12 กลีบ ผล เป็นรูปรีปลายแหลม มีจงอยสั้นๆ มีขนหยาบสีเหลืองคลุม หุ้มไว้ด้วยกลีบเลี้ยงและริ้วประดับ ซึ่งมีลักษณะอวบน้ำสีแดงเป็นส่วนที่นำมารับประทาน เมล็ด สีดำรูปไต

การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การปลูก

กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไวแสง สามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบอากาศร้อนหรือค่อนข้างร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง พันธุ์ที่ใช้ คือพันธุ์ซูดานหรือพันธุ์เกษตร มีกลีบเลี้ยงหนา สีแดงเข้มจนถึงม่วง ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพเสริม หลังการทำนาหรือปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นอาชีพหลัก การปลูกทำได้ 2 อย่าง คือ ปลูกเป็นพืชเดี่ยว หรือปลูกแซมในแปลงปลูกข้าวโพด ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสะดวกในการจัดการ

การปลูกเป็นพืชเดี่ยว เตรียมดินทำเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป ปลูกโดยใช้วิธีหยอดตามแถวที่ไถไว้ หยอดหลุมละประมาณ 4-5 เมล็ด แล้วกลบดินเล็กน้อย เมื่อเป็นต้นอ่อนถอนให้เหลือหลุมละ2-3 ต้น เพื่อไม่ให้แน่นมาก หรือใช้วิธีหว่าน เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว แต่การเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นระเบียบ ยากต่อการดูแลจัดการ ส่วนการปลูกในพื้นที่แปลงข้าวโพด ไม่ต้องเตรียมดิน สามารถปลูกหลังจากปลูกข้าวโพดประมาณ 1 เดือน เกษตรกรจะนำเมล็ดกระเจี๊ยบแดงผสมลงไปกับปุ๋ยที่จะให้ข้าวโพด หยอดตามช่องว่างระหว่างแถวข้าวโพด ต้นกระเจี๊ยบแดงจะเจริญเติบโตอยู่ระหว่างแถวข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดแล้ว กระเจี๊ยบจะอยู่ในช่วงออกดอกพอดี

ฤดูปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน กระเจี๊ยบเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก การเก็บเกี่ยว ในกรณีที่ปลูกเป็นพืชเดี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนการปลูกแซมในแปลงข้าวโพด เก็บเกี่ยวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วประมาณ 1 เดือน

การเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทำได้ 2 วิธี 1.เก็บเกี่ยวเฉพาะดอกกระเจี๊ยบแดง โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดเฉพาะดอกที่แก่ แล้วใส่ในภาชนะที่มีวัสดุรอง เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกช้ำ แล้วจึงขนย้ายออกจากแปลง 2.เก็บเกี่ยวทั้งต้น โดยใช้เคียวเกี่ยวกิ่งที่มีดอกบริเวณโคนกิ่ง วิธีนี้จะเก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว แต่ดอกอาจหลุดร่วงระหว่างขนย้าย นำดอกกระเจี๊ยบแดงที่ได้ไปแทงเมล็ด โดยใช้แท่งโลหะกลวงปลายหยัก แทงบริเวณขั้วดอกให้ฝักหุ้มเมล็ดหลุดจากกลีบเลี้ยง ควรทำให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว แล้วนำไปตากแดด 4-7 วัน จนแห้งสนิท จากนั้นจึงบรรจุในกระสอบป่าน ประมาณ 18-20 กก./กระสอบ จึงนำไปจำหน่าย ไม่ควรเก็บไว้นานกว่า 2 เดือน เนื่องจากน้ำหนักอาจลดลง หรือเกิดเชื้อราได้

การใช้ประโยชน์

ดอกของกระเจี๊ยบแดงเป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์มากที่สุด มีสารพวกแอนโธไซยานิน รสเปรี้ยว ส่วนที่ใบและยอดอ่อนมีวิตามินเอ แคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณสูง

ดอกกระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่แนะนำให้ใช้ในสาธารณสุขมูลฐานเพื่อบรรเทาอาการขัดเบา โดยใช้ดอกกระเจี๊ยบแดงที่ตากแห้งและบดเป็นผง ครั้งละ 1 ช้อนชา (3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มล.) ทิ้งไว้ 5-10 นาที รินเฉพาะน้ำสีม่วงแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าจะหาย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายอย่าง เช่น ชาชง เครื่องดื่ม เยลลี่ แยม ไอศกรีม ซอส ไวน์ ของหวานต่างๆ

นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น เมล็ดเมื่อนำมาใช้ร่วมกับสารส้ม จะช่วยตกตะกอนในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ดอกนำมาทำสีผสมอาหาร หรือสำหรับย้อมกระดาษสา

Q&A

กระเจี๊ยบแดงเป็พืชวันสั้น จะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนกันยายน และทยอยออกดอกตามข้อไปเรื่อยจนสุดที่ปลายยอด ปกติจะเริ่มปลูกในกลางฤดูฝน/ประมาณเดือน กรกฎาคม ซึ่งจะทำให้ต้นมีขนาดใหญ่และออกดอกติดฝักได้จำนวนมาก ดังนั้นการปลูกก่อนเวลาดังกล่าวต้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จัดการยาก หรือ ถ้าปลูกล่าช้าไปมาก ต้นจะมีขนาดเล็กและให้ผลผลิตต่ำ เพราะออกดอกติดผลตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็ก ทำให้มีการเจริญเติบโตทางต้นน้อย ทั่วไปการปลูกจึงปลูกเพียวฤดูเดียว/ปี การปรับปรุงพันธุ์จึงทำได้ปีละครั้งเช่นกัน

การจัดการปลูกให้สามารถปลูกได้หลายครั้งต่อปี เพื่อย่นระยะเวลาในปรัปปรุงพันธุ์ ทำได้่ดังนี้

ในฤดูปลูกปกติ : เน้นปลูกตามระยะปลูกมาตรฐาน เพื่อให้สายพันธุ์จะแสดงศักยภาพได้เต็มที่ และคัดเลือกลักษณะตามที่ต้องการ จากนั้นผสมตัวเองแล้วเก็บเมล็ดแยกต้นไปปลูกในชั่วต่อไป ซึ่งอาจคัดเลือกไว้ 5-10% ของประชากรที่ปลูก

นอกฤดู : เนื่องจากเป็นพืชวันสั้น ดังนั้นต้นออกดอกเมื่ออยู่ในสภาพวันสั้นเท่านั้น การปลูกนอกฤดูจึงต้องมีการจัดการให้ได้รับแสงน้อยกว่าปกติของช่วงวันยาว โดยการคลุมต้นด้วยวัสดุทึบป้องกันแสง ในช่วงเวลาเย็นแล้วค่อยเปิดออกในช่วงเวลาเช้า ให้มีจำนวนชั่วโมงที่ได้รับแสงประมาณ 10-11 ชม. การคลุมป้องกันแสงควรเริ่มประมาณ 18.00 น. (สภาพอากาศไม่ร้อนจนเกินไป) แล้วเปิดในเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ในการปลูกในช่วงนอกฤดู จะเป็นการปลูกเพื่อทำให้พันธุกรรมมีความสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นด้วยการผสมตัวเองโดยไม่ต้องคัดเลือก เนื่องจากสายพันธุ์จะไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้ จึงเน้นปลูกจำนวนมาก เพื่อรักษาฐานพันธุกรรมและทำให้มีความสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงควรปลูกระยะชิด โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ระยะ 10 x 10 ซม. ขนาดแปลง 2 x 1 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ 200 ต้น/คู่ สำหรับการจัดการปลูกอาจแบ่งได้ 2 กรณี

สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม กรงครอบ ทำด้วยท่อ PVC มุ้งตาข่ายสำหรับป้องกันแมลงไปผสมเกสร และผ้าคลุม สำหรับบังคับให้ต้นออกดอก ซึ่งทั้งส่วนนี้จะครอบลงไปที่กรงในระยะต่างๆตามวัตถุประสงค์
1. การปลูกในช่วงวันสั้น เช่น ปลูกมกราคม หลังปลูกต้นจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก และออกดอก ให้ผสมตัวเองต้นละ 1-2 ดอก เพิ่อจะเก็บเมล็ดจากทุกต้น 5-10 เมล็ดต่อต้น แล้วนำเมล็ดทั้งหมดมาคลุกรวมกัน สำหรับปลูกใหม่
2. การปลูกในช่วงวันยาว จำเป็นต้องมีการพรางแสง เพื่อกระตุ้นให้ออกดอก เมื่อต้นเจริญเติบโตไประยะหนึ่ง จะพรางแสงเพื่อบังคับให้ออกดอก ผสมตัวเอง 1-2 ดอกเก็บเมล็ด 5-10 เมล็ด/ต้น หรือมากกว่า ถ้าเก็บเกี่ยวใกล้ฤดูปลูกใหม่ ให้แยกเก็บเมล็ดเป็นต้นๆ แล้วปลูกแต่ละต้นเป็นแถว 5 ต้น/สายพันธุ์ เบื้องต้นดูความสม่ำเสมอ ถ้าไม่สม่ำเสมอตัดทิ้ง ถ้าสม่ำเสมอให้ประเมินลักษณะอื่นต่อไป

ถ้าไม่ใกล้ฤดูปลูกใหม่ ให้เก็บเมล็ดแล้วนำมาคลุกรวมกัน เพื่อใช้ปลูกคัดเลือกใหม่ แล้วทำซ้ำๆอีกตามขั้นตอนจนได้สายพันธุ์ที่สม่ำเสมอ แต่การปลูกในระยะชิดมาก ต้นอาจเกิดการผสมข้ามเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นพืชผสมตัวเอง ดังนั้นจึงควรทำฉากกั้น ก่อนที่จะครอบด้วยมุ้ง โดยฉากกันอาจทำด้วยฟิวเจอร์บอร์ด ลักษณะคล้ายที่กั้นขวดกระทบกันในลังเบียร์ ซึ่งการกันฉากและครอบมุ้งจะทำในช่วงเวลาหนึ่ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังติดผลตามที่ต้องการแล้วจึงค่อยนำออกและดูแลต้นตามปกติ

 

Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news