banner ad

ว่านหางจระเข้

| November 22, 2012 | 0 Comments

ว่านหางจระเข้

(Aloe, Star Cactus) Aloe barbadensis Mill, Aloe vera Linn.

มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในประเทศไทยปลูกมากที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสั้น ใบงอกใกล้พื้นดินเรียงสลับซ้อนกันอยู่ ใบหนา อวบน้ำ ริมใบหยักและมีหนาม ผิวใบสีเขียวและมีรอยกระสีขาว ภายในมีวุ้นใสๆและวุ้นมียางสีเหลือง ดอกออกจากกลางลำต้น เป็นช่อสีม่วงแดงออกเหลืองเล็กน้อย ก้านดอกยาวมาก พันธุ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมีกาบใบใหญ่ ส่วนพันธุ์พื้นบ้านที่พบทั่วไปใบมีขนาดเล็ก ว่านหางจระเข้ที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิด Aloe vera Linn. Var. Chinensis ( Haw) Breg.

การปลูก

ปลูกได้ทุกฤดู ชอบดินปนทรายหรือดินร่วน ทนดินเค็ม เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะทำให้รากเน่า ต้องการแสงแดดรำไรถึงปานกลาง ถ้าแดดจัดใบจะเป็นสีน้ำตาล ปลายใบแห้งงอ ควรปลูกแซมระหว่างแถวต้นไม้เพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง ระยะปลูก .40×1 เมตร พื้นที่1 ไร่จะใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 3,000 ต้น

การให้น้ำ ระยะแรกควรรดน้ำทุกวัน ให้ดินชุ่มอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำขัง เมื่อต้นตั้งตัวแล้วให้น้ำน้อยลง ควรให้น้ำแบบฝอยกระจาย สม่ำเสมอและพอเพียง

การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง อัตรา 1-1.5 ตัน/ไร่/ปี ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 30-5-5 แบ่งใส่ 2 เดือน/ครั้ง อัตรา 60 กิโลกรัม/ไร่/ปี

การกำจัดวัชพืช โดยการตัดและดายหญ้า ไม่ควรใช้สารเคมี เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้ และควรแยกหน่อเล็กๆออกไปบ้าง เพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่

การเก็บเกี่ยว ถ้าปลูกด้วยหน่อเล็กๆที่แตกออกจากต้นแม่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8- 12 เดือน หากปลูกด้วยส่วนยอดของต้นแม่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 5-6 เดือน เก็บโดยใช้มีดเล็กๆกรีดที่โคนขอบใบด้านล่างด้านใดด้านหนึ่งแล้วจับขอบใบที่กรีดนั้นดึงลงด้านล่างระวังอย่าให้ใบช้ำ นำกาบใบมาตั้งทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้ยางไหลออกจนหมด จากนั้นจึงนำมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้งก่อนบรรจุถุง การเก็บผลผลิตส่งโรงงานอุตสาหกรรม ให้เก็บเกี่ยวใบที่มีน้ำหนัก 0.4 กิโลกรัมขึ้นไป เก็บเกี่ยวต้นละ 2 ใบ/เดือน

การขยายพันธุ์ แบบไม่ใช้เพศ ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูก เป็นต้นเล็กๆที่แตกออกมาจากต้นแม่ หรือตัดส่วนยอดของต้นแม่ที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว

การใช้ประโยชน์

ราก : ใช้ขับปัสสาวะ แก้พยาธิในท้อง

เหง้า : แก้หืด

ใบ : รักษาแผล ดูดพิษอักเสบต่างๆ

วุ้นจากใบ : แก้ปวดศีรษะ แก้หนองใน รักษาแผลไฟไหม้ แผลสด

น้ำเมือกจากใบ : ทำเป็นยาดำ ใช้เป็นยาระบาย ปัจจุบันใช้น้ำเมือกจากใบ ทาเพื่อป้องกันผิวหนังเกรียมจากแสง x-rays และกัมมันตภาพรังสีได้

นอกจากนี้ยังทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น น้ำบรรจุขวด แชมพู ครีมนวดผม เจล สบู่

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ย-ฮ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news