banner ad

หนอนใยผัก

| February 18, 2022

หนอนใยผัก (Diamondback moth:DBM)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Plutella xylostella L.

วงศ์ Plutellidae

อันดับ Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนใยผักเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ฯลฯ ยกเว้นผักกาดหอม พบการระบาดตามแหล่งปลูกผักทั่วไปทุกภาค ปัจจุบันหนอนใยผักได้มีการพัฒนาสร้างความต้านทานอย่างรวดเร็วและหลายชนิด จึงต้องใช้วิธีป้องกันกำจัดหลายๆ วิธีผสมผสานกันจึงสามารถลดการระบาดของหนอนชนิดนี้ลงได้ ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่ในวัยแรกจะเข้ากัดกินภายในใบและเมื่อเข้าสู่ระยะวัย 2 จะออกมากัดกินภายนอกทำให้ใบเป็นรูพรุน หากพบการระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย มีวงจรชีวิตสั้น

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กเมื่อกางปีกวัดได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มีสีเทา ส่วนหลังมีแถบสีเหลืองส้ม หนวดเป็นแบบเส้นด้าย ตัวเต็มวัยมีความสามารถวางไข่ได้สูงและหลายครั้ง พบวางไข่ได้ประมาณ 47-407 ฟอง จึงทำให้หนอนใยผักมีอัตราการเพิ่มประชากรได้รวดเร็ว พบตัวเต็มวัยบินมากให้เวลา 18.00-21.00 น. ไข่มีลักษณะค่อนข้างแบนและยาวรี มีสีเหลืองอ่อนเป็นมัน เมื่อใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก เมื่อถูกรบกวนจะทิ้งตัวลงตามใย ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่ขนาด 1 เซนติเมตร มี 4 วัย เข้าดักแด้ตามใบพืชโดยมีใยปกคลุม ดักแด้ในระยะแรกๆ มีสีเขียวและเมื่อใกล้ออกเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาล ดักแด้มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร การเจริญเติบโตของหนอนใยผักมีวงจรชีวิตประมาณ 2-3 สัปดาห์ มี 17-25 ชั่วอายุขัยต่อปี

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

ระบาดตามแหล่งปลูกผักทั่วไป หนอนใยผักมักเริ่มระบาดตั้งแต่ฤดูหนาวและจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนระบาดมากในช่วงท้ายของฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนระบาดบ้างแต่ไม่รุนแรง

ศัตรูธรรมชาติ

หนอนใยผักมีแมลงศัตรูธรรมชาติหลายชนิด ได้แก่ แตนเบียนไข่ Trichogrammatoidae bactrae Nagaraja ทำลายไข่ 45.2% นอกจากนั้นยังพบแตนเบียนหนอน Cotesia plutellae Kurdj ซึ่งทำลายในระยะตัวหนอนได้ 69.2% สำหรับแตนเบียนดักแด้ที่พบได้แก่ Thyraeela collaris (Grave) แตนเบียนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการทำลายดักแด้ได้สูงถึง 23.28%

การป้องกันกำจัด

  1. การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50%
  2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนสีขาวหรือผักกางมุ้ง สามารถป้องกันหนอนใยผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การใช้สารฆ่าแมลงหากพบหนอนใยผักระบดความพ่นด้วย สปินโนแซด (ซัคเซส 120 เอสซี) อินด๊อกซาคาร์บ (แอมเมท15 % SC) และฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5 % SC)
การทำกาวเหนียว Ento 92 สูตรกาวเหนียวที่ผลิตเองนี้สามารถทนทานและมีความเหนียวคงทนอยู่ในแปลงพืชได้นานถึง  10-15 วัน สูตรกาวเหนียวนี้ใช้อัตราส่วนประกอบ 600:390:10 ประกอบด้วย 1.น้ำมันละหุ่ง 600 ซีซี 2.ยางสนชนิดบดละเอียด 390 กรัม 3.ไขคาร์นัวบาร์ 10 กรัม ต้นทุน 120 บาทต่อลิตร

วิธีการทำกาวเหนียว
1. เตรียมอุปกรณ์สำหรับเคี่ยว (อุ่น) กาวซึ่งอาจใช้กระป๋องสังกะสี  หม้อ  กระทะหรือวัสดุ  อะไรก็ได้ที่ทนความร้อนได้ดี
2. นำมาตั้งบนเตาไฟ (เตาถ่านก็ได้ เตาแก๊สก็ดี) จากนั้นค่อยๆ เทน้ำมันละหุ่งลงไป  เคี่ยวให้ร้อน ทยอยเติมยางสนที่บดแล้ว  และไขคาร์นัวบาร์  ลงไปตามลำดับ
3.เคี่ยวทิ้งไว้นานประมาณ  45 – 60 นาที  หรือจนไฟถ่านมอดหมดแล้ว  หรือเคี่ยวให้นานมากที่สุด  เพื่อที่จะทำให้การคืนสภาพของกาวเหนียวช้าลงและเก็บกาวไว้ได้นานโดยใช้ไม้คนให้ทั่วตลอดการเคี่ยวกาว ข้อควรระมัดระวัง คือ  ถ้าเคี่ยวไฟแรงจัดจะทำให้เกิดการติดไฟได้หรือเกิดอันตราย ยกลงจากเตาทิ้งไว้ให้เย็นหรือตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืน

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news