บัวบก
บัวบก
ชื่ออื่นๆ : จำปาเครือ กะบังนอก มัณฑูละบรรณี เตียกำเช่า ฮมคัก ปะหนะ ผักแว่น ผักหนอก เอบาเด๊าะ
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE
ชื่อสามัญ : Asiatic Pennywort
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asatica (L.) Urb.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถาเล็กๆ ทอดไปตามพื้นดิน ใบเดี่ยวทรงกลม ขอบจักเล็ดน้อย ดอกช่อคล้ายร่ม สีม่วงแดง เกิดตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ในป่าดงดิบทั่วไป และปลูกเป็นอาหาร
การนำไปใช้ประโยชน์ : ทางอาหาร ทั้งต้นกินเป็นผักสด หรือลวกกินกับอาหารหลายอย่าง เช่น ป่น แจ่ว ลาบ ส้มตำ นำไปประกอบอาหารได้ เช่น แกงหวาย แกงเลา ยำกับปลาแห้ง ใส่กับมะพร้าวขูดคั่วน้ำตาล ทางยา ทั้งต้นนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ฟกช้ำได้ ลดอาการอักเสบได้ดี ทำครีมทาผิวหนัง แก้อักเสบเป็นเครื่องดื่มแก้ร้อนใน
การขยายพันธุ์ : ปักชำไหล เมล็ด
การปลูกและการดูแล : บัวบกปลูกลี้ยงง่ายชอบดินชุ่มชื้นไม่แฉะ อินทรีย์วัตถุสูง และมีแสงรำไร นำส่วนข้อต้นที่กำลังแตกรากมาปักชำ หรือนำเมล็ดมาเพาะ การดูแล ระวังอย่าให้น้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้
การปลูกบัวบกในระบบ plant factory เพาะเมล็ดบัวบกลงในวัสดุเพาะฟองน้ำ พบว่าเปอร์เซ็นความงอกของเมล็ดบัวบกอยู่ที่ 75 – 80 % และเริ่มมีใบพร้อมย้ายกล้าประมาณ 20 วัน นำต้นกล้าบัวบกขึ้นชั้นปลูกในตู้คอนเทรนเนอร์ระบบ Plant factory ทำการให้แสงหลอดไฟ LED ที่ 14 ชั่วโมงต่อวัน ค่าแสง 150-200 µmol m-2 s-1 ให้ปุ๋ยสารละลาย AB ค่า EC เท่ากับ 0.7 -0.8 mS/cm และทำการเพิ่มค่า EC 1.2 mS/cm หลังจากปลูกไปแล้ว 20 วัน ค่า pH เท่ากับ 5.5-6.5 รักษาระดับค่า EC และ ค่า pH ทุกวัน เพื่อให้อยู่ในระดับที่คงที่ อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 เมื่อบัวบกอายุ 40 – 45 วัน สามารถแยกไหลย้ายลงถ้วยปลูกเพิ่มจำนวนต้นบัวบกได้ ความยาวก้าน 8-10 เซนติเมตร ความกว้างใบ 4-5 เซนติเมตร ความยาวใบ 4-6 เซนติเมตร จำนวนใบ 20-32 ใบต่อกอ น้ำหนัก 40-60 กรัมต่อกอ
สรรพคุณ : ใบและเถา รับประทานเป็นผลสด น้ำคั้นจากใบบัวบกสด ทำเป็นเครื่องดื่ม ช่วยแก้ ร้อนชื้น บวม พิษไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย บิด ดีซ่าน ตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ตาแดง แผลบวมอักเสบมีหนอขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน แก้ตับอักเสบ
เมล็ด แก้บิด แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ
ทั้งต้น บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน ขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แก้ร้อนใน
งานวิจัยบัวบก
โครงการวิจัยและพัฒนาบัวบกเพื่อการผลิตเครื่องสำอาง ปี 2554-58
1 วิจัยและพัฒนาพันธุ์
1.การคัดเลือกพันธุ์บัวบกที่ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูงในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคภาคใต้
- รวบรวมพันธุ์บัวบก ศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา วิเคราะห์สารสำคัญ คัดเลือกพันธุ์ วิเคราะห์สารสำคัญพันธุ์ที่นำไปทดสอบ สรุปและรายงานผล
2 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบัวบก
2.1 ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้และโคนเน่าบัวบกรวมทั้งโรคที่สำคัญอื่น ๆ
- สำรวจ จำแนก และพิสูจน์โรคของบัวบกที่ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจสูง ในแต่ละสภาวะแวดล้อม แหล่งผลิตต่างๆ และทดสอบหาวิธีป้องกันกำจัดโรคสำคัญแบบผสมผสาน โดยใช้ สารสกัดจากพืช สารเคมี และสารอื่นๆ ตามความจำเป็นและหรือการปลูกพืชหมุนเวียน บันทึกผลผลิต สารสำคัญ สารตกค้าง และจุลินทรีย์ปนเปื้อน ตลอดจนบันทึกช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมที่มีการระบาดของโรคน้อยที่สุด
2.2 ศึกษาการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญบัวบก
- ศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญของบัวบก ใช้วิธีการแบบผสมผสานโดยเปรียบเทียบวิธีการในการป้องกันกำจัดด้วยสารสกัดจากพืช สารเคมี และสารอื่น ๆ หรือการปลูกพืชหมุนเวียน บันทึกผลผลิต สารสำคัญ สารตกค้าง และจุลินทรีย์ปนเปื้อน ตลอดจนบันทึกช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมที่มีการระบาดของแมลงน้อยที่สุด
2.3 ผลของปลูกพืชตระกูลถั่วสลับและการพรางแสงที่มีผลต่อการควบคุมวัชพืชในแปลงปลูกบัวบก
- ปลูกพืชตระกูลถั่วได้แก่ ปอเทือง ถั่วเขียว และถั่วซีรูเรียม ไถกลบแล้วปลูกบัวบก และศึกษาการพลางแสงโดยใช้ตาข่ายไนล่อนวางแผนการทดลองแบบ Split Plot Design โดยใช้การพรางแสงและไม่พรางแสงเป็นMain Plot และ ใช้พืชตระกูลถั่วและไม่ปลูกพืชตระกูลถั่วเป็น Sub Plot เก็บข้อมูลชนิดและปริมาณของวัชพืชที่เจริญเติบโตในแปลง ข้อมูลผลผลิตและสารสำคัญ
2.4 อิทธิพลของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต่อการเจริญเติบโตผลผลิตและสารสำคัญบัวบก
-วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี 3 ซ้ำแต่ละซ้ำมี 20 ต้น มีกรรมวิธีดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ไม่ใส่ปุ๋ย กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยมูลไก่ กรรมวิธีที่ 3 ใส่ปุ๋ยมูลวัว กรรมวิธีที่ 4 ใส่ปุ๋ยมูลไก่ ผสมแกลบ กรรมวิธีที่ 5 ใส่ปุ๋ยมูลสุกร กรรมวิธีที่ 6 ปุ๋ยหมักกากทะลายปาล์มน้ำมัน ปลูกบัวบก และทดลองตามกรรมวิธีที่กำหนด วิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในใบและต้น สรุปและรายงานผล
2.5 ผลของระยะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการเจริญเติบโตผลผลิตและสารสำคัญบัวบก
- วางแผนการทดลองแบบ Split Plot Design โดยใช้ระยะปลูกเป็น Main Plot มี 5 กรรมวิธี ดังนี้1. ระยะปลูก 5×5 เซนติเมตร 2. ระยะปลูก 10×10 เซนติเมตร 3. ระยะปลูก 15×15 เซนติเมตร 4. ระยะปลูก 20×20 เซนติเมตร และอายุการเก็บเกี่ยวเป็น Sub Plot มี 4 กรรมวิธี ดังนี้ 1. เก็บเกี่ยวอายุ 30 วัน หลังปลูก 2. เก็บเกี่ยวหลังจากแตกไหลรุ่นที่ 1 3. เก็บเกี่ยวหลังจากแตกไหลรุ่นที่ 2 4. เก็บเกี่ยวหลังจากแตกไหลรุ่นที่ 3
2.6 ผลของการให้น้ำที่มีต่อการผลิตบัวบก
- วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยกำหนดการให้น้ำบัวบกทุกครั้งเมื่อวัดค่าการระเหยน้ำสะสมครบ 80มิลลิเมตร ดังนี้ 1. ให้น้ำ 5 ลิตร/พท.ปลูก 1 ตร.ม 2. ให้น้ำ 10 ลิตร/พท.ปลูก 1 ตร.ม 3. ให้น้ำ 20 ลิตร/พท.ปลูก 1 ตร.ม 4. ให้น้ำ 30 ลิตร/พท.ปลูก 1 ตร.ม เตรียมแปลงทดลองขนาด 1×2 เมตร ปลูกบัวบก ให้น้ำตามกรรมวิธีที่กำหนด บันทึกการเจริญเติบโต ลักษณะและขนาดใบ สีของใบ การแตกราก จำนวนไหลและวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญในใบและก้านแห้ง สรุปและรายงานผล
2.7 ผลการควบคุมการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวที่มีต่อปริมาณสารสำคัญในบัวบก
วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 กรรมวิธี 4 ซ้ำ มีกรรมวิธีดังนี้ 1. ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เช้า และเย็นทุกวัน 2. ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เช้า และเย็นวันเว้นวัน 3. ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เช้า และเย็น 2 วัน เว้น 1 วัน 4. ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เช้า และเย็น 3 วัน เว้น 1 วัน ปลูกบัวบกในแปลงทดลอง ให้น้ำระบบสปริงเกอร์ จากนั้นในช่วงเดือนที่สามจะเริ่มงดน้ำตามกรรมวิธีกำหนดจนกระทั่งเก็บเกี่ยว บันทึกการเจริญเติบโต ลักษณะและขนาดใบ สีของใบ การแตกราก จำนวนไหล วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญในบัวบก สรุปและรายงานผล
3 วิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป
3.1 ศึกษาการแปรรูปและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวใบบัวบก
- วางแผนการทดลองแบบ 4×3 Factorial in RCBD ประกอบด้วย 12 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของบัวบกเป็นกรรมวิธี ดังนี้ ปัจจัยที่ 1 ประกอบด้วย 4 ระดับ จากส่วนต่าง ๆ ของใบบัวบก คือ 1)ใบอ่อนและยอดอ่อน 2)ใบแก่ 3)ใบทั้งหมดและกิ่งก้านทั้งหมด 4) กิ่งก้านที่เหลือจากการเอาใบออกแล้ว ปัจจัยที่ 2 กรรมวิธีการทำแห้ง ประกอบด้วย 3 ระดับ คือ 1) การผึ่งแดดโดยตรง 2) การผึ่งแดดโดยคลุมด้วยผ้าขาวบาง 3) การอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 36 ชั่วโมง การผลิตใบบัวบกผงบรรจุแคปซูลและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์
-การผลิตใบบัวบกผงบรรจุแคปซูลและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ทำการทดลองโดยวางแผนการทดลองแบบ RCBD ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยใช้ส่วนของใบบัวบกที่มีสารสำคัญสูงสุด บรรจุในแคปซูลขนาดเบอร์ 0 และใช้ภาชนะบรรจุเป็นกรรมวิธี ดังนี้ 1) ขวดพลาสติกสีขาวทรงกระบอกฝาเกลียว ขนาดบรรจุ 50 แคปซูล 2)ขวดพลาสติกสีขาวทรงสี่เหลี่ยม ขนาดบรรจุ 80 แคปซูล 3 ถุงซิป ขนาด 4 x 6 นิ้ว บรรจุ 100 แคปซูล 4) ถุงอลูมิเนียมฟอล์ย ขนาด 4 x 6 นิ้ว บรรจุ 100 แคปซูล 5) ถุงลามีเนต (สุญญากาศ) ขนาด 4 x 6 นิ้ว บรรจุ 100 แคปซูล การแยกใบออกจากกิ่งก้านและคำนวณเปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ใช้ได้ (% recovery) เมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ผงจากใบบัวบกวิเคราะห์สารสำคัญในส่วนต่าง ๆ ของใบบัวบก วิเคราะห์ตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) เช่น เชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ โลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารตะกั่ว และอื่นๆ
4 การพัฒนาชุดเทคโนโลยีการผลิตบัวบกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและจุลินทรีย์ปนเปื้อน
4.1 การทดสอบพัฒนาชุดเทคโนโลยีการผลิตบัวบกที่ถูกต้องเหมาะสมปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและจุลินทรีย์ปนเปื้อน
- นำกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ดีที่สุด จากการวิจัยและพัฒนาข้างต้น มาออกแบบเป็นชุดเทคโนโลยีเดียวกัน ทดสอบในพื้นที่เกษตรกร โดยเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ใช้แผนการทดลองแบบ TVE (Technology Verification Experiment) เก็บข้อมูลทางเกษตรศาสตร์ ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต
Category: พืชผักพื้นบ้าน, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม