เพลี้ยจักจั่นฝ้าย
เพลี้ยจักจั่นฝ้าย (leafhopper)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amrasca biguttula biguttula (lshida)
วงศ์ Cicadellidae
อันดับ Homoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เพลี้ยจักจั่นฝ้ายระบาดตามแหล่งปลูกทั่วไปในประเทศ เข้าทำลายในช่วงต้นพืชยังเล็ก ทำให้ต้นไม่เจริญเติบโตหรือตายได่ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบมีผลทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และงอลง ใบเหี่ยวแห้ง และแห้งกรอบในที่สุด ดังนั้นในช่วงที่พืชเล็กควรหมั่นตรวจนับแมลงหากพบเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ยสูงกว่า 1 ตัวต่อใบควรทำการป้องกันกำจัด
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามบริเวณเส้นใบ หรือก้านใบพืช ไข่มีรูปร่างลักษณะโค้งงอ สีเขียว ระยะไข่เฉลี่ยประมาณ 6.3 วัน ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีสีเขียวอมเหลืองจาง ตัวอ่อนโตเต็มที่มีขนาด 2 มม. เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีการเจริญเติบโต 5 ระยะ ระยะที่ 1 อายุ 1.5 วัน ระยะที่ 2 อายุ 1.1 วัน ระยะที่ 3 อายุ 1.2 วัน ระยะที่ 4 อายุ 1.5 วัน และระยะที่ 5 อายุ 2 วัน รวมระยะตัวอ่อนเฉลี่ย 7.3 วัน ตัวเต็มวัยรูปร่างยาวรี ขนาดเล็กประมาณ 2.5 มม. มีสีเขียวจาง ปีกโปร่งใสมีจุดสีดำอยู่กลางปีกข้างละจุด เคลื่อนไหวและบินได้รวดเร็วมากเมื่อถูกรบกวน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2-30 วัน รวมวงจรชีวิตเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ย 13.6 วัน
พืชอาหาร
พบทำลายพืชผักหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่ มะเขือเปราะ มะเขือยาว และกระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบทำลายฝ้าย และปอแก้ว
การป้องกันกำจัด
- คลุกเมล็ดก่อนเพาะกล้าด้วยสารคาร์โบซัลแฟน ( พอสซ์ 25 %เอสที) อัตรา 40 กรัม/เมล็ด 1 กก.
- ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10 % SL) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 20 และ20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช