เพลี้ยไฟหอม
เพลี้ยไฟหอม (onion thrips )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thrips tabaci Lindeman
วงศ์ Thripidae
อันดับ Thysanoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เพลี้ยไหอมทำลายหน่อไม้ฝรั่ง และก่อให้เกิดปัญหาในด้านการส่งออกในปี 2530 ซึ่งมีผลทำให้ประเทศญี่ปุ่นไม่ยอมรับซื้อหน่อไม้ฝรั่งที่ส่งออกจากประเทศไทย เกษตรกรผู้ปลูกประสบความเสียหายอย่างมาก เพลี้ยไฟหอมชนิดนี้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่ง โดยการใช้ปากที่มีลักษณะเป็นแท่ง (stylet) เขี่ยเนื้อเยื่อพืชให้ช้ำแล้วดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชที่ปลายหน่อ กาบใบและใบ ในระยะแรกของการเข้าทำลาย ถ้าไม่สังเกตุให้ดีจะไม่พบร่องรอย หรืออาการที่ถูกทำลาย แต่จะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อพืชถูกทำลายรุนแรงแล้ว หน่อไม้ฝรั่งจึงมีลักษณะแคระแกรน ปลายหน่อเหลืองซีด กาบใบที่หุ้มบริเวณลำต้นมีสีน้ำตาล และแสดงอาการเหี่ยว ซึ่งหน่อม้ฝรั่งที่มีลักษณะดังกล่าวจะขายไม่ได้ราคา และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ปัจจัยที่สำคัญต่อการระบาดของเพลี้ยไฟหอม ได้แก่ ฝน และอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งจะลดการเคลื่อนย้ายและการระบาดของเพลี้ยไฟหอมลงได้มาก พบระบาดในช่วงฟโร้อนหรืออากาศแห้งแล้ง ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของทุกแหล่งที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เพลี้ยไฟหอมวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ในเนื้อเยื่อพืชประมาณ 28-55 ฟอง ไข่มีสีขาวใส ระยะไข่ ประมาณ 4.8-8.5 วัน การเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟหอมในระยะตัวอ่อนพบมี 3 ระยะ คือ ระยะแรกมีสีเหลืองใส หลังเข้าสู่ตัวอ่อนระยะที่สาม ซึ่งเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน ในระยะนี้จะปรากฏตุ่มปีก
บริเวญอกปล้องที่สองและสามเห็นชัดเจน เคลื่อนไหวช้าลง แต่ยังคงทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ระยะตัวอ่อนประมาณ 6.8-8.5 วัน ดักแด้มีสีเหลือง ในระยะนี้หนวดวกชี้ไปทางด้านหลัง ตุ่มปีกทั้งสองข้างเจริญมากขึ้น จะขยายออกมาและโค้งไปตามลำตัวเกือบมิดส่วนท้อง และมีขนเส้นเล็ก ๆ สีน้ำตาลเห็นชัดเจน เพลี้ยไฟหอมระยะนี้ไม่เคลื่อนไหว ไม่กินอาหารและเข้าดักแด้ในดิน ดักแด้มีอายุประมาณ 2.4-4 วัน ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัว 1-1.1 มม. มีสีเหลืองอ่อน ซึ่งเกิดจากจุดสีน้ำตาลที่กระจายตามแผ่นแข็งบริเวณ หัว อก และท้อง บางครั้งพบว่าจุสีน้ำตาลเหล่านี้รวมตัวกันมีลักษณะเป็นแถบสีน้ำตาลเข้ม เพลี้ยไฟหอมในระยะนี้เคลื่อนไหวรวดเร็วและว่องไว ตัวเต็มวัยอายุระหว่าง 18-20 วัน รวมวงจรชีวิต 14-19 วัน
พืชอาหาร
เพลี้ยไฟหอม เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืชหลายชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง หอม กระเทียม ฝ้าย ทานตะวัน น้ำเต้า บวบ ปอ มะเขือ ถั่ว ยาสูบและมะเขือเทศ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1.วิธีกล โดยการติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดัก/ไร่ พบว่า มีประสิทธิภาพในการดักจับเพลี้ยไฟหอมชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถลดการระบาดลงได้
2.ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10 % SL) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 40 และ20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช