เพลี้ยไฟฝ้าย
เพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thrips palmi Karny
วงศ์ Thripidae
อันดับ Thysanoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายส่วนต่างๆ ของพืช โดยใช้ปากที่เป็นแท่ง (stylet) เขี่ยเนื้อเยื่อพืชให้ช้ำแล้วจึงดูดน้ำเลี้ยงจากเซล,พืช ทำให้บริเวณที่ถูกดูดมีลักษณะอาการแตกต่างกัน เช่น อาการที่มักเกิดกับพืชแตงโม หากเกิดในระยะแตงโมทอดยอดจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตลักษณะอาการที่เกิดจากเพลี้ยไฟนี้เรียกว่า ยอดตั้ง ในพืชมะเขือเปราะผลจากการทำลายทำให้เกิดรอยด้านที่ผล เมื่อโตขึ้นทำให้คุณภาพผผลผลิตต่ำ ส่วนในพืชผักชนิดอื่น เช่น กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาว มะระ และแตงกวา ทำให้บริเวณใบที่ถูกทำลายมีรอยแผลสีน้ำตาล ใบแห้ง ในการทำลายของเพลี้ยไฟต่อส่วนเจริญของพืช ทำให้ยอด ดอก ตาอ่อน ไม่เจริญเติบโต หากเป็นระยะพืชขาดน้ำแล้วไม่ทำการแก้ไขป้องกันกำจัด จะทำให้พืชตายได้ ความเสียหายที่เกิดจากเพลี้ยไฟแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของพืชแตงโมหากเพลี้ยไฟระบาดในช่วงอายุระยะ 1 เดือน หลังปลูกจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าพ้นช่วงนั้นแล้วแตงโมจะทอดยอดก็จะทนการทายได้ดีกว่า ในกรณีของพืชผักที่มีการส่งออกถึงจะมีความเสียหายไม่ชัดเจน แต่การติดไปของเพลี้ยไฟชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นระยะไข่ ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัยก็ตาม จะมีผลกระทบต่อการส่งออกทันที พบทำลายพืชได้เกือบตลอดปี การระบาดมักพบเสมอในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เพลี้ยไฟวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ในเนื้อเยื่อพืช ไข่มีสีขาวใส รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว มีขนาดเล็กประมาณ
0.1 -0.2 มม. จากการศึกษาในอุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส อายุไข่ ประมาณ 4-8 วัน ฟักเป็นตัวอ่อน การเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟฝ้ายในระยะตัวอ่อนพบมี 3 ระยะ คือ ระยะแรก มีลักษณะสีขาวใส ผอมเรียวเล็ก ขนาดลำตัวยาว 0.2-0.3 มม. ปลายท้องค่อนข้างแหลม ตารวมขาวใส หนวดมี 7 ปล้อง เคลื่อนไหวตลอดเวลา และเริ่มทำลายพืชทันทีโดยดูดกินน้ำเลื้ยงเมื่อเข้าสู่ตัวอ่อน ระยะที่สอง มีขนาดลำตัวยาว 0.3 -0.4 มม. ลำตัวมีสีเหลืองเข้มขึ้น บริเวณปลายส่วนท้องไม่แหลมเหมือนระยะต้น ในระยะนี้เคลื่อนไหวรวดเร็วและว่องไวมาก ส่วนตัวอ่อนระยะที่สาม เป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ มีสีเหลืองเข้ม ลำตัวมีขนาด 0.5-0.7 มม. ตารวมสีเทาปนดำ ตาเดี่ยวสีแดง ตุ่มปีกบริเวณอกปล้องที่สอง และสาม เริ่มเจริญเติบโต ระยะนี้เคลื่อนไหวช้าลงแต่ยังคงทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ระยะตัวอ่อนประมาณ 6-10 วัน ดักแด้มีสีเหลืองเข้มขนาดลำตัว 0.7-0.8 มม. ในระยะนี้หนวดกลับไปทางด้านหลัง แผ่นปีกทั้งสองเจริญมากขึ้น และมีขนาดเกือบถึงปลายส่วนท้อง เพลี้ไฟระยะนี้ไม่เคลื่อนไหวไม่กินอาหาร และเข้าดักแด้ในดิน ดักแด้มีอายุ 3-4 วัน ตัวเต็มวัยมสีเหลืองเข้ม ขนาดลำตัว 0.8-1.0 มม. หนวดสีเหลืองมีจำนวน 7 ปล้อง ตารวมสีเทาดำ ตาเดี่ยว 3 ตาสีแดง ปีกยาวคลุมมิดส่วนท้องมีสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน ขนสีเทายาวรอบปีก ปล้องท้องมีจำนวน 10 ปล้อง เพลี้ยไฟระยะนี้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและว่องไว อายุตัวเต็มวัย พบระหว่าง 16-24 วัน จากการศึกษาที่อุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส วงจรชีวิตของเพลี้ยไฟจากไข่ถึงตัวเต็มวัยอายุระหว่าง 14-23 วัน
พืชอาหาร
เพลี้ยไฟฝ้ายเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง สามารถทำลายพืชได้หลายชนิด เช่น แตงโม มะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา มะระ ฟักเขียว ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มโอ องุ่น พืชไร่ เช่น ฝ้าย ยาสูบ งา ทานตะวัน ข้าวโพด ทำลายไม้ดอก เช่น กล้วยไม้ กุหลาบ เบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
- ขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟฝ้ายก็อาจจะระบาดอย่างรวดเร็ว
- ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10 % SL) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) หรือ อิมาเม็กตินเบนโซเอต (โปรเคลม 1.92% อีซี) อัตรา 40 ,40 และ20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช