banner ad

เพลี้ยไฟพริก

| September 17, 2014

เพลี้ยไฟพริก (chili thrips)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirtothrips dorsalis Hood

วงศ์ Thripidae

อันดับ Thysanoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เข้าทำลายโดยใช้ปากเป็นแท่ง ( stylet ) ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนของพืช ชอบทำลายยอด ใบอ่อน ตาดอกอ่อน เมื่อพืชถูกทำลายโดยเฉพาะบริเวณก้านใบหรือเนื้อใบด้านล่างจะเป็นรอยด้านสีน้ำตาล ถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด ถ้าเกิดกับใบอ่อน หรือยอดอ่อน ก็จะทำให้ใบ หรือยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกและม้วนงอขึ้นด้านบนทั้งสองข้าง ใบที่ถูกทำลายมากจะเห็นเป็นรอยด้านสีน้ำตาล ถ้าเกิดในระยะพริกกำลังออกดอกก็จะทำให้ดอกพริกร่วง ถ้าระบาดในช่วงพริกติดผลแล้วจะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ หากเป็นช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งอาจทำความเสียหายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดินฟ้าอากศมีส่วนช่วยและเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายอย่างเด่นชัด สภาพอุณหภูมิสูงความชื้นต่ำและแสงแดดจัด ตลอดจนกระแสลมเป็นปัจจัยที่เพลี้ยไฟสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นในฤดูแล้งมีอากาศแห้งและร้อนติดต่อกันนาน ๆ แต่หากมีฝนตกมาก ๆ ก็กำจัดหรือควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟพริกได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จะพบว่าในฤดูฝนมักจะไม่ค่อยมีแมลงศัตรูชนิดนี้ระบาดเหมือนในฤดูแล้ง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยไฟพริกเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ลำตัวยาวเพียง 1 มม. สีน้ำตาลอ่อนทำลายพืชเมื่ออยู่ในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย มีปีก 2 คู่ ประกอบด้วยขนเส้นเล็ก ตัวอ่อนแตกต่างจากตัวเต็มวัยที่ไม่มีปีกและขนาดเล็กกว่า และตัวเต็มวัยยังเคลื่อนไหวได้เร็วกว่า เพลี้ยไฟพริกเจริญเติบโตจากไข่ที่ตัวแม่วางไว้ตามเส้นใบ ตัวอ่อนเมื่อออกจากไข่จะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงเช่นเดียวกับตัวต็มวัย มักจะพบอยู่บนต้นพืช โดยเฉพาะที่ใบ ดอก ผล หรือส่วนที่อ่อน ๆ ของต้นพริก เมื่อโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้ตามพื้นดินบริเวณโคนต้นและออกเป็นตัวเต็มวัย

พืชอาหาร

พบทำลายพืชที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ พริก ถั่วลิสง เงาะ ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะขาม มังคุด ทุเรียน มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

 

  1. สำรวจเพลี้ยไฟพริกบริเวณใต้ใบหรือส่วนอ่อนๆ ของพืช เช่น ตาดอก ดอก และใบอ่อน เมื่อเริ่มพบเพลี้ยไฟ 5 ตัวขึ้นไปต่อส่วนของพืชนั้น ๆ ควรหาทางกำจัดเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นดดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพาระจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกก็อาจจะราดอย่างรวดเร็ว
  2. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10 % SL) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) หรือ อิมาเม็กตินเบนโซเอต (โปรเคลม 1.92% อีซี) อัตรา 40 ,40 และ20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news