แมลงวันผลไม้
แมลงวันผลไม้ (solanum fruitfly)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bactrocera latifrons (Hendel)
วงศ์ Tephritidae
อันดับ Diptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
แมลงวันผลไม้เป็นศัตรูพืชสำคัญของพืชผักหลายชนิดโดยเฉพาะในพริก ซึ่งเป็นพืชผักที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมไปใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทำรายได้ดี อีกทั้งเป็นพืชที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่เนื่องจากการปลูกผักในประเทศไทยนั้น มีปัญหาจากการทำลายของแมลงวันผลไม้ ชนิดที่สำคัญคือ Bactrocera latifrona (Hendel) ทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องป้องกันกำจัด ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้โดยใช้สารฆ่าแมลงอย่างต่อเนื่องจนเก็บเกี่ยว ยังก่อให้เกิดปัญหาของสารพิษตกค้างในผลผลิตและสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านกักกันพืชและใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ เช่น การส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ตัวเต็มวัยเพศเมียมีอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ที่แหลมและแข็งแรง แทงผิวของเนื้อเยื่อพืช เพื่อวางไข่ที่มีลักษณะรูปร่างยาวรี สีขาวขุ่น ผิวเป็นมันสะท้อนแสง เมื่อใกล้ฟักสีของขจะเข้มขึ้น ระยะไข่ 2-3 วัน ก็จะเข้าฟักเป็นตัวหนอนมีลักษณะหังแหลมท้ายป้าน มีสีขาว หรือสีใกล้เคียงกับสีของพืชอาหาร ตัวหนอนเคลื่อนที่โดยการยืดหดลำตัวซึ่งเป็นปล้องๆ ส่วนหัวมีปากเป็นตะขอแข็งสีดำหนึ่งคู่ เรียกว่า ?mouth hook? ซึ่งเป็นอวัยวะที่หนอนใช้ชอนไชกินเนื้อเยื่อภานในผลพริก ทำให้ผลพริกเน่าและร่วง นอกจากนี้ตัวหนอนยังมีความสามารถพิเศษในการงอตัวและดีดตัวไปได้ไกล ( หนอนวัย 3) ซึ่งช่วยให้หนอนหาที่เหมาะสมเพื่อเข้าดักแด้ในดิน ดักแด้มีรูปร่างกลมรีคล้ายถังเบียร์ไม่เคลื่อนไหว ระยะแรกจะมีสีขาว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีปีกบางใสสะท้อนแสง และมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอก จึงเรียกว่า ? แมลงวันทอง?
พืชอาหาร
ทำลายพืชในวงศ์ Solanaceae พวกพริก มะเขือ ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะเขือยาว มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เป็นต้น
ศัตรูธรรมชาติ
พบแมลงศัตรูธรรมชาติ 2 ชนิด คือ แตนเบียนไข่ (egg-pupal parasitoid ) Fopius arisanus (Sonan) และแตนเบียนหนอน (larval-pupal parasitoid) Diachasmimorpha longicaudata (Ashmead)
การป้องกันกำจัด
1.วิธีเขตกรรม เช่น ทำความสะอาดแปลงปลูก โดยการเก็บผลพริกที่ร่วงหล่น เผาทำลายเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันผลไม้ หรือทำลายพืชอาศัยที่อยู่รอบๆแปลงปลูกพริก
2. การใช้น้ำมันปิโตรเลียม ได้แก่ ดีซี ตรอน พลัส 83.9 % อีซี หรือ เอสเค 99 83.9% อีซี หรือซันสเปรย์ อัลตร้า ฟรายด์ 83.9% อัตรา 60 มล./น้ำ 20 ลิตร
3. การใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ มาลาไธออน (มาลาเฟส 57% อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช