ด้วงเต่าแตงแดง
ด้วงเต่าแตงแดง (red cucurbit leaf beetle)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aulacophora indica (Gmelin)
วงศ์ Chrysomelidae
อันดับ Coleoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ด้วงเต่าแตงแดงจะพบเป็นปัญหาอยู่เสมอกับแตงที่เริ่มงอกยังมีใบน้อย การทำลายยอดแตงโดยแทะกัดกินใบ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ชะงักการทอดยอดได้ ด้วงเต่าแตงแดงพบระบาดในสวนแตงที่มีวัชพืชขึ้นหนาแน่น ทั้งนี้เพราะตัวอ่อนอาศัยกัดกินรากพืช งมักเป็นปัญาในแหล่งปลูกแตงใหม่บริเวณรอบ ๆ ที่ไม่มีการไถพรวนและปราบวัชพืชเพียงพอพลระบาดแทบทุกฤดู โดยเฉพาะในช่วงที่แตงเริ่มแตกใบจริง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักพบเสมอๆ
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ด้วงเต่าแตงแดงเป็นแมลงปีกแข็งขนาดลำตัวยาว 0.8 ซม. ปีกคู่แรกแข็งเป็นมันสีแดงแสดลำตัวค่อนข้างยาว เคลื่อนไหวช้า จะพบเสมอเวลากลางวันแดดจ้า ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดิน ลักษณะตัวหนอนสีขาว อาศัยกัดรากพืชในบริเวณที่เป็นอาหาร อาจเป็นอันตรายต่อรากแตงในระยะต้นอ่อนด้วย ตัวเต็มวัยสามารถมีอายุได้ถึง 100 วัน หรือมากกว่า เพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ในดินใกล้โคนต้นแตง อายุฟักไข่ 8-15 วัน หนอนที่ออกจากไข่ใหม่ๆจะมีสีเหลืองซีด และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเมื่อโตเต็มที่ ตัวอ่อนกัดกินรากพืช การเจริญเติบโตมี 4 ระยะ อายุตัวอ่อน 18-35 วัน เมื่อโตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดินโดยสร้างเกราะป้องกันอายุดักแด้แตกต่างกันไประหว่าง 4- 14 วัน
พืชอาหาร
พืชตระกูลแตงทุกชนิด เช่น แตงกวา กระดอม บวบ ฟัก
การป้องกันกำจัด
1. วิธีกล ถ้าทำได้โดยการจับทำลายด้วยมือจะช่วยได้มาก โดยหมั่นดูสวนแตงในเวลาเช้าแดดยังไม่จัด ขณะเดียวกันภายหลังเก็บเกี่ยวผลเสร็จแล้วไม่ควรปล่อยต้นแตงทิ้งไว้ ควรถอนทำลาย มิฉะนั้นจะกลายเป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงต่อไป
2. การใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด (คลนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10% เอสแอล) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล (เซฟวิน 85% ดับบิลวพี ) อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร
By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช