banner ad

หนอนกระทู้ผัก

| September 17, 2014

หนอนกระทู้ผัก ( common cutworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Spodoptera litura (Fabricius)

วงศ์ Noctuidae

อันดับ Lepidoptera

 

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนกระทู้ผักเป็นแมลงที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่พบเข้าทำลายพืชผักตระกูลกะหล่ำ โดยหนอนระยะแรกเข้าทำลายเป็นกลุ่มในระยะต่อมาจะทำลายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบ ก้าน หรือเข้าทำลายในหัวกะหล่ำ ทำความเสียหายและยากแก่การป้องกันกำจัด ซึ่งการเข้าทำลายมักเกิดเป็ดหย่อม ๆ ตามจุดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ และมักแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มใหญ่จำนวนนับร้อยฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน หรือสีฟางข้าวใต้ใบพืช ระยะไข่ 3-4 วัน ก็ฟักเป็นตัวหนอน ระยะแรกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะกินผิวใบจนบางใส เมื่อลอกคราบได้ 2 ครั้ง จะสังเกตแถบสีดำที่ปล้องอกที่ 3 ได้ชัดเจน ลำตัวจะเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเกิดลายเส้น หรือจุดสีดำ และผิวลำตัวมีขีดดำพาดตามยาว หนอนจะเริ่มแยกย้ายทำลายพืชกัดกินใบ ยอดอ่อน หรือเข้ากัดกินซอกกลีบใบในหัวกะหล่ำที่ยังเข้าไม่แน่นทำให้เสียหาย ระยะหนอนมีการเจริญเติบโต 5 ระยะ ใช้เวลา 10-15 วัน หนอนระยะสุดท้ายเคลื่อนไหวช้ามีขนาด 1.5 ซม. ระยะดักแด้ 7-10 วัน ก็ฟักเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นผี้เสื้อกลางคืนขนาดกลางสีน้ำตาล กางปีกกว้าง 3-3.5 ซม. ปีกคู่หน้ามีเส้นสีเหลืองพาดหลายเส้น ตัวเต็มวัยมีอายุเฉลี่ย 5-10 วัน วงจรชีวิตหนอนกระทู้ผักเฉลี่ย 25-35 วัน หรือ 122-14 ชั่วอายุขัยต่อปี

พืชอาหาร

ผักตระกูลกะหล่ำทุกชนิด เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี
ผักกาดหัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำลายพืชผักชนิดอื่นๆ ไม้ผล พืชไร่ และไม้ดอก ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยวเขียว พริก องุ่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง กุหลาบ ดาวเรือง และกล้วยไม้ เป็นต้น

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทำลายหนอนกระทู้ผัก ได้แก่ แมลงเบียน เช่น แตนเบียนหนอน Microplitis manila Ashmead แมลงวัน Peribaea orbata (Wiedemann) แมลงห้ำ เช่น มวนพิฆาต Eocanthecona furcellata (Woff ) เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

  1. การใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถพรวนดินและการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อฆ่าดักแด้ และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์ของหนอนกระทู้ผัก
  2. การใช้วิธีกล โดยการเก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลายจะช่วยลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
  3. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ผักได้ดี
  4. การใช้สารจุลินทรีย์ฆ่าแมลง (microbial insecticides ) ได้แก่ การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัสทูริงเยนซิส) และการใช้เชื้อไวรัส (นิวเคลียร์โพลีฮีโครชิสไวรัส) หนอนกระทู้ผัก
  5. การใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คลอร์ฟินาเพอร์ (แรมเพจ 10 %SC) อัตรา 30-40 มล./น้ำ 20ลิตร อินด๊อกซาคาร์บ (แอมเมท 15 % SC) อัตรา 15-30 มล./น้ำ 20ลิตร

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news