หนอนเจาะยอดกะหล่ำ
หนอนเจาะยอดกะหล่ำ (cabbage webworm)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hellula undalis (Fabricius)
วงศ์ Pyralidae
อันดับ Lepidoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
หนอนเจาะยอดกะหล่ำพบระบาดทำความเสียกับผักตระกูลกะหล่ำโดยเฉพาะกับกะหล่ำปลี โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินในส่วนยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดขาด ไม่เข้าปลีหรือกัดกินเข้าไปในส่วนของก้าน และลำต้นเป้นทาง ตัวหนอนมักสร้างใยคลุม และมีขุยมูลที่ถ่ายออกมาบริเวณที่เจาะทำให้กะหล่ำปลีแตกแขนง โดยทั่วไปมักพบการระบาดตลอดทั้งปี แต่พบระบาดมากในฤดูแล้ง
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เล็กๆ สีขาวนวลตามยอด หรือยอดตา ไข่จะวางเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ และตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ได้ 14-225 ฟอง ระยะไข่ 3-5 วัน ไข่จะเป็นสีชมพูและฟักออกเป็นตัวหนอน เมื่อโตขึ้นเจาะเข้าไปกัดกินภายในส่วนยอด โดยสร้างใยปกคลุม ระยะหนอนมรการเจริญเติบโต 5 ระยะ ใช้เวลา 15-23 วัน หนอนระยะสุดท้ายมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 1.2 ซม. ลำตัวมีแถบสีน้ำตาลแดงพาดยาว และจะเข้าดักแด้ซึ่งมีใยหุ้มตามเศษพืชผิวดินหรือใต้ ดักแด้มีขนาด 0.6-0.8 ซม. ระยะดักแด้ 7-11 วัน ก็จะฟักเป็นตัวเต็มวัย เป็นผี้เสื้อกลางคืนขนาดเล็ก กางปีกกว้าง 1.7-1.9 ซม. ปีกคู่หน้ามีแถบสีน้ำตาลปนเทาพาดตามขวางโค้งไปมา ตัวเต็มวัยมีอายุเฉลี่ย
6-10 วัน วงจรชีวิตหนอนเจาะยอดกะหล่ำ เฉลี่ย 30-42 วัน หรือ 8-12 ชั่วอายุขัยต่อปี
พืชอาหาร
พืชผักตระกูลกะหล่ำ เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหัว เป็นต้น
ศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทำลายหนอนเจาะยอดกะหล่ำ เช่น แตนเบียนหนอน Apanteles sp.
การป้องกันกำจัด
- การใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถพรวนดินตากแดด หรือเก็บซากพืชที่ผิวดินทำลาย เพื่อฆ่าดักแด้ หนอนเจาะยอดกะหล่ำ
- การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง
- การใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น โพรฟีโนฟอส (ซูเปอร์ครอน 500 อีซี 50 % อีซี) หรือ โพรไทโอฟอส (โตกุไธออน 50 % อีซี) หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ 2.5 อีซี 2.5% อีซี ) อัตรา 40,40 และ 40 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ โดยพ่นเมื่อพบไข่หรือหนอนระยะแรกเริ่มเข้าทำลายทุก 4-7 วัน และพ่นติดต่อกัน 2-3 ครั้ง
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช